ส้มเกลี้ยง
ผลไม้เนื้อหวานฉ่ำกลิ่นหอม ผลกลมแป้น ผลอ่อนมีสีเขียวเข้ม ผลแก่มีสีเหลืองแกมเขียวถึงส้มสด รสหวานอมเปรี้ยว เปลือกในมีสีขาว ในผลมีเมล็ดเป็นรูปไข่

ส้มเกลี้ยง

ชื่อสามัญของส้มเกลี้ยง คือ Orange, Bilti, Sevile orange, Sweet orange, Surect orange, Sour orange, Bigarade [1],[2] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Citrus sinensis (L.) Osbeck อยู่ในวงศ์ส้ม [1],[2]
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ลีมาก ส้มตรา มะเกลี้ยง เซาะกา ส้มจีน หมากหวาน เซซุยเญอ ลีมามานิห์ เช้ง มะขุน ลีแย น้ำผึ้ง [1],[2],[4]

ลักษณะ

  • ต้น มีถิ่นกำเนิดบริเวณทางตอนใต้ของประเทศจีน ต่อมาได้แพร่กระจายไปประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ทวีปยุโรป หมู่เกาะอินเดียตะวันตก ในประเทศไทยเชื่อว่าเริ่มมีการปลูกช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือสมัยกรุงธนบุรี เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ 5-7 เมตร ทรงต้นมีลักษณะค่อนข้างทึบ แผ่กว้าง มีลำต้นกับกิ่งก้านที่แข็งแรง จะมีหนามที่ตามลำต้น หนามจะแข็งและใหญ่ ต้นที่เกิดจากเมล็ดจะมีหนามเยอะ มีลักษณะยาวเรียวแหลม ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด การปักชำ การตอน การติดตา การต่อกิ่ง เกษตรกรจะนิยมขยายพันธุ์โดยวิธีการตอน ติดตา ต่อกิ่ง เพราะจะให้ผลผลิตเร็วกว่าการเพาะเมล็ด เติบโตได้ดีในที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่มาก[1],[3]
  •  ใบ อ่อนมีลักษณะเป็นเหลี่ยม มีหนามแหลมที่บริเวณซอกใบ ใบประกอบจะมีใบย่อยใบเดียว ใบจะออกเรียงสลับกัน มีลักษณะเป็นรูปวงรีถึงรูปไข่ ที่ปลายใบแหลมมน บางครั้งจะเว้าตื้นนิดหน่อย ส่วนที่ขอบใบจะเป็นคลื่นถึงหยักมน ใบกว้างประมาณ 1-2 นิ้วฟุต ยาวประมาณ 2-3 นิ้วฟุต สีใบด้านหลังเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบมีสีเขียวอ่อน ก้านใบจะสั้น แผ่เป็นครีบ จะมีหูใบเล็กเรียวแทบไม่เห็น[1],[3]
  • ดอก ออกเป็นช่อกระจายที่ตามซอกใบ มีดอกย่อยดอกเดียวถึงหลายดอก 10-20 ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีขนาดปานกลาง ดอกบานมีกลิ่นหอม กลีบดอกมีสีขาว 4-5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 20-25 อัน ฤดูที่ผลิดอกอยู่ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ดอกบานช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เวลาผลิดอกถึงดอกบานประมาณ 30 วัน เวลาดอกบานถึงผลแก่ประมาณ 8 เดือน[1],[2],[3]
  • ผล เป็นรูปทรงกลมถึงกลมแป้น ผลอ่อนมีสีเขียวเข้ม ผลแก่มีสีเหลืองแกมเขียวถึงส้มสด มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 เซนติเมตร ผิวผลจะมีตุ่มน้ำมันเล็ก ๆ กระจายรอบผล เปลือกผลหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร ลักษณะจะค่อนข้างแข็ง ในผลแบ่งเป็นช่องประมาณ 12 ช่อง อัดแน่นด้วยเนื้อผล มีลักษณะเรียวและยาว สีเหลือง จะมีน้ำรสหวานอมเปรี้ยว ที่ตรงกลางจะมีแกนแข็งสีขาว เปลือกในมีสีขาว ในผลมีเมล็ดเป็นรูปไข่แกมรูปลิ่ม เมล็ดย่น มีสีขาว เมล็ดจะค่อนข้างแบน[1],[2],[3]

สรรพคุณของส้มเกลี้ยง

  • ดอกจะมีสรรพคุณที่ช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้[1],[2]
  • เปลือก อยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” เป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” กับสมุนไพรชนิดอื่น ในตำรับ มีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ช่วยบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น [4]
  • ผลจะมีสรรพคุณที่สามารถช่วยรักษาโรคเกลื้อน และแก้อาการคันได้ [1]
  • สามารถช่วยขับน้ำดี และกระตุ้นการทำงานของน้ำเหลืองได้ (น้ำมันที่ได้จากเปลือกผล)[4]
  • สามารถช่วยขับระดูของสตรี และบีบมดลูกได้ (ใบ)[1],[2]
  • สามารถช่วยการย่อยอาหารได้ (น้ำมันที่ได้จากเปลือกผล)[4]
  • ผลจะมีสรรพคุณที่สามารถช่วยกัดเสมหะได้[1],[2] ใบจะมีสรรพคุณที่เป็นยาขับเสมหะ[1],[2]
  • สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ได้ (ผล)[1]
  • ทางสุคนธบำบัด น้ำมันที่ได้จากเปลือก ใช้เพื่อผ่อนคลายความเครียด และอาการนอนไม่หลับที่เกิดจากความกังวล ช่วยกระตุ้นให้เบิกบานได้[4]
  • สามารถลดระดับไขมันในเลือดได้ (ผล)[2]
  • ผลจะมีสรรพคุณที่เป็นยาบำรุงร่างกาย จะช่วยทำให้เจริญอาหาร[1],[2]
  • เปลือกอยู่ในตำรับยา “เปลือกส้ม 8 ประการ” มี เปลือกส้มจีน เปลือกส้มเขียวหวาน เปลือกส้มซ่า เปลือกส้มโอ เปลือกส้มตรังกานู เปลือกมะกรูด เปลือกมะงั่น เปลือกมะนาวหรือเปลือกส้มโอมือ มีสรรพคุณที่สามารถแก้ลมกองละเอียด กองหยาบ แก้เสมหะโลหะ ใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้ทางลมได้[4]
  • น้ำมันที่ได้จากเปลือกผลมีการนำมาใช้รักษาผิวหนังอักเสบ ฆ่าเชื้อโรค ช่วยลดริ้วรอย คลายกล้ามเนื้อเรียบ[4]
  • ผลมีสรรพคุณที่เป็นยาฝาดสมาน จะช่วยเร่งสมานแผล[1],[2]
  • เปลือกของผลจะมีสรรพคุณที่ช่วยทำให้ประจำเดือนของสตรีมาปกติ[1],[2]
  • สามารถช่วยขับปัสสาวะได้ (ใบ)[1],[2]
  • ดอกจะมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้บิด[2]
  • ผลจะมีสรรพคุณที่ช่วยแก้อาการไอเรื้อรัง และหลอดลมอักเสบได้[1],[2]
  • ผลจะมีสรรพคุณที่ช่วยแก้รักษาโรคลักปิดลักเปิดได้[1],[2]
  • ตำรายาไทยใช้เปลือกเข้ายาแก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น[4]
  • สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพราะมีไฟเบอร์และมีสาร pectin สูง เป็นตัวช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหาร จะทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือด (ผล)[2]

ประโยชน์ของส้มเกลี้ยง

  • มีรสชาติดี มีกลิ่นหอม นิยมทานสดหรือใช้ทำน้ำส้มคั้น หรือใช้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ส้มเกลี้ยงแก้ว[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของส้มเกลี้ยง

  • ปี ค.ศ.2005 ที่ประเทศจีน ได้มีการทำการทดลองใช้สมุนไพรหลายตัวที่มีสารสกัดจากส้มเกลี้ยงผสมอยู่ โดยใส่สารแต่ละชนิด 1-5 gm. พบว่าสาร peoniflorin 15-40%, flavonoid 15-40% ในสมุนไพร มาทดลองกับหนู หลังการทดลองพบว่าระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง[1]
  • ปี ค.ศ.1994 มีการทำการทดลองพบว่าไฟเบอร์ในผลสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[2]
  • ปี ค.ศ.1924 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการทำการทดสอบผลไม้ เช่น ส้ม มะนาว องุ่น ว่ามีผลเป็น insulin-like substanees หรือไม่ หลังการทดลองพบว่า มีไฟเบอร์และ Pectin มาก ทำให้มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือด[2]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ สารสกัดที่ได้จากผลเมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดดำของหนูถีบจักรทดลอง จะพบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง คือ 71.8 กรัม/กิโลกรัม[1],[2]
  • น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากเปลือกผลที่สกัดด้วยการบีบเย็น มีน้ำมันหอมระเหยประมาณร้อยละ 0.3-0.5 การสกัดด้วยน้ำจะมีน้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.8 องค์ประกอบคือ limonene (95.37%), myrcene (2.08%), linalool (0.25%), alpha-pinene, citronellal, decanal, geraniol, octanal, neral, sabinene[4]
  • ปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศไนจีเรีย ได้ใช้ส้มเกลี้ยงมาศึกษาทดลองผลในการลดน้ำหนัก ทำการทดลองในหนูขาว (albino rat) ใช้สารสกัดจากส้มเกลี้ยงขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แบ่งหนูทดลองออกเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ตัว กลุ่ม 1 ให้อาหารที่มีไขมันสูง 7 วัน ก่อนให้อาหารที่เป็นสารสกัดจากส้มเกลี้ยง, กลุ่ม 2 ให้มะนาว (Lemon), กลุ่ม 3 ให้มะนาวฝรั่ง (Lime), กลุ่ม 4 ให้ tangerine, กลุ่ม 5 ให้องุ่น (grape) ขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 14 วัน, กลุ่ม 6 ให้สารรวมทุกชนิด, กลุ่ม 7 เป็นกลุ่ม positive control ให้อาหารไขมันสูง, กลุ่ม 8 เป็นกลุ่ม negative control ให้สารอาหารปกติธรรมดา จากการทดลองผล 7-14 วัน จะพบว่าสารสกัดทั้งหมด จะมีสาร flavonoid และ alkaloid เป็นส่วนสำคัญ องุ่นมีสาร saponin หลังการทดลองจะพบว่าหนูกลุ่ม 1-5 มีระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ลดลง[1]
  • ปี ค.ศ.2004 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีทฤษฎีว่าการมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลว จึงมีการค้นคว้าทดลองหาสารที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด มีสาร Phytosterol ที่มีผลลดระดับคอเลสเตอรอลได้ ทำการทดลองกับผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูง 72 ราย ให้ดื่มน้ำส้มเกลี้ยง 2 gm. 8 สัปดาห์ จะพบว่าหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 2 ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลง หลัง 8 สัปดาห์ ระดับคอเลสเตอรอลจะลดลง 7.2%, LDL-C ลดลง 12.4%, HDL0C เพิ่มขึ้น 7.8% พบว่าสาร Folate Vit B12 เพิ่มระดับขึ้น ขณะที่สาร homocysteine ไม่เปลี่ยน[1]
  • ปี ค.ศ.1989 ที่ประเทศญี่ปุ่น มีการทำการทดลองใช้สารสกัดจากผลกับหนูขาวทดลอง ผลการทดลองพบว่าสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[2]
  • ปี ค.ศ.2000 ที่ประเทศอังกฤษ มีการทำการศึกษาทดลองผลในการลดไขมันในเลือด พบว่ามีสาร casein ในส้ม และทำการทดลองในผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูงและมีไขมันในตับ 14 ราย พบว่ามีสาร Limonoid aglycons, glycoside และ Limonoid glucoside ในส้ม หลังการทดลองจะพบว่าผู้ป่วยจะมีระดับไขมันในเลือดลง[1]
  • การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส ลดระดับคอเลสเตอรอลและน้ำในเลือด เร่งสมานแผล เหนี่ยวนำให้หลั่งอินซูลิน ทำให้ผอมลง ต้านมะเร็ง ขับลม ระบายท้อง แก้ไอ ยับยั้งการหดของมดลูก ลดการดูดซึมในทางเดินอาหาร ปรับปรุงความทรงจำ [1],[2] เปลือกผลจะมีฤทธิ์ที่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ต้านการอักเสบ ช่วยเจริญอาหาร ขับลม บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้[4]
  • ได้พบสารสำคัญ คือ abscisic acid, acetaldehyde, acrimarin G, amyrin, aniline, apigenin, anthanilic acid, aurapten, bergamoltin, bergapten, bisabolene, braylin, cadinene, caffeic acid, camphene, campesterol, β-carotene, carvone, cirantin, citbismine, flavones, eriocitrin, glucoside, pectin, piperitone, poncirin, quercetin, linalool, nexanthin B, scoppsrone, sitosterol, stigmasterol, vicenin[1],[2]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ส้มเกลี้ยง” หน้า 174-176.
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ส้มเกลี้ยง”. หน้า 154-155.
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ส้มเกลี้ยง”. อ้างอิงใน : เปรมปรี ณ สงขลา, 2537. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org/wiki/ส้มเกลี้ยง. [20 ต.ค. 2014].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ส้มจีน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [20 ต.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://thainews.prd.go.th