ลูกไหน
ผลคล้ายลูกพีชและบ๊วย ผลโตเต็มที่แล้วจะมีสีขาวนวลปกคลุม รสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว

ลูกไหน

ไหน (Plum) โดยทั่วไปแล้วเราจะเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า “พลัม” หรือ “ลูกพลัม” (ทับศัพท์) แต่สำหรับภาษาพูดจะเรียกกันว่า “ไหน” หรือ “ลูกไหน” ซึ่งเป็นชื่อไทย ส่วนลูกพลัมแห้งเราจะเรียกว่า “พรุน” หรือ “ลูกพรุน” ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ Prunus domestica L. จัดอยู่ในวงศ์ ROSACEAE ในตระกูลพรุน เช่นเดียวกับ ลูกท้อ บ๊วย เชอร์รี่ อัลมอนด์ และนางพญาเสือโคร่ง และมีถิ่นกำเนิดจากบริเวณคอเคซัสในเอเชียตะวันตก[3]

สายพันธุ์ลูกไหน

พลัมมีอยู่ด้วยกันหลากหลายสายพันธุ์ โดยมี 3 ชนิดที่สำคัญได้แก่ Prunus domestica, Prunus salicina และ Prunus americana พลัมหลาย ๆ ชนิดจะผสมตัวเองได้ไม่ดี จำเป็นต้องมีการปลูกร่วมกันหลาย ๆ สายพันธุ์เพื่อช่วยในการผสมเกสร เพราะจะทำให้เกิดการติดผลที่ดีขึ้น สำหรับสายพันธุ์ที่ปลูกได้ดีในประเทศก็มีอยู่หลายสายพันธุ์เช่นกัน โดยเฉพาะพลัมสายพันธุ์ญี่ปุ่น[1],[3] เช่น

  • พันธุ์กัลฟ์รูบี้ ผลเป็นรูปหัวใจมีขนาดใหญ่ เมื่อสุกเต็มที่จะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเกือบดำ เนื้อในผลมีสีเหลือง รสหวานฉ่ำ[1]
  • พันธุ์กัลฟ์โกล สายพันธุ์จากฟลอริดา ผลมีขนาดใหญ่เท่ากับพันธุ์กัลฟ์โกล ผลเมื่อแก่จัดจะมีสีเหลืองและค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงอมเหลืองเมื่อสุก เนื้อในผลมีสีเหลือง รสชาติดี มีกลิ่นหอม[1]
  • พันธุ์แดงบ้านหลวง หรือพันธุ์บ้านหลวงแดง สายพันธุ์จากไต้หวัน ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ที่ผลมีร่องลึกเห็นได้ชัด ผิวของผลมีสีแดง และมีจุดประอยู่บริเวณผิวผล ผลอ่อนเนื้อแข็งมีรสเปรี้ยว ส่วนผลสุกเนื้อจะนิ่มและมีรสหวาน โดยสายพันธุ์นี้จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีเนื้อสีแดงและชนิดที่มีเนื้อสีเหลือง[1]
  • พันธุ์เหลืองอินเดีย สายพันธุ์จากอินเดีย ออกดอกติดผลดก ผลแก่เป็นสีเหลือง เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เนื้อในผลมีสีเหลือง พันธุ์นี้ไม่นิยมนำมารับประทานสด แต่จะนิยมนำไปแปรรูปในลักษณะแช่อิ่มหรือดองมากกว่า[1]
  • พันธุ์แดงอินเดีย สายพันธุ์นี้นำเข้าจากอินเดียเช่นกัน ผลจะมีขนาดเล็ก มักนิยมปลูกไว้เพื่อใช้เป็นคู่ผสม[1]
  • พันธุ์จูหลี่ สายพันธุ์จากไต้หวัน ลักษณะของผลคล้ายกับสายพันธุ์แดงบ้านหลวง แต่ผลจะมีขนาดเล็กกว่า นิยมปลูกไว้เพื่อใช้เป็นคู่ผสม ใช้ผลแปรรูปเป็นพลัม และนำมาแช่อิ่มได้ดี[1]

ลักษณะของต้นพลัม

  • ต้น เป็นไม้ผลยืนต้น มีลักษณะทรงต้นค่อนข้างเล็กเช่นเดียวกับต้นพีช การปลูกในประเทศไทยต้องปลูกในที่ที่มีความหนาวเย็น และพื้นที่ที่ปลูกจะต้องมีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป แต่สำหรับบางสายพันธุ์อาจปลูกได้ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป[2]
  • ใบ เป็นรูปหอก ปลายและโคนใบแหลม แผ่นใบสีเขียว ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อยแบบถี่ๆ
  • ดอก ออกดอกจำนวนมาก ดอกมีขนาดเล็กและมีสีขาว ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ปกติแล้วจะผสมตัวเองไม่ได้ แต่จะต้องผสมข้ามพันธุ์และเฉพาะเจาะจงพันธุ์เท่านั้น และจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากได้รับความหนาวเพียงพอ[2]
  • ผล เป็นแบบผลเดีี่ยวจึงจัดเป็นพวก Stone Fruit คือมีส่วนของเนื้อที่แข็งเหมือนกับลูกพีชและบ๊วย และผลจะมีความหลากหลายในเรื่องของขนาด สีผล และเนื้อผล ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่เพาะปลูก บางพันธุ์ผลอาจมีร่องยาวด้านข้าง เมื่อผลโตเต็มที่แล้วจะมีสีขาวนวลปกคลุมอยู่ ซึ่งเราจะเรียกว่าสารเคลือบ หรือ “Wax bloom” เนื้อจะมีรสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว ภายในผลมีเมล็ดแข็งอยู่ 1 เมล็ด[2]
  • เมล็ดพลัม เมล็ดเป็นเมล็ดเดี่ยว แข็ง มีสีน้ำตาล

พลัมสามารถแบ่งตามการใช้ประโยชน์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ พลัมที่ใช้รับประทานแบบสดๆ (ลูกพรุนสด) ได้แก่พันธุ์กัลฟ์โกล พันธุ์กัลฟ์รูบี้ พันธุ์เหลืองบ้านหลวง และพันธุ์แดงบ้านหลวง และอีกชนิดคือพลัมสำหรับแปรรูป เช่น การนำมาทำเป็นแยมพลัม น้ำลูกพลัม นำมาดอง หรือนำมาแช่อิ่ม ได้แก่ พันธุ์จูหลี่[2]

ประโยชน์ของลูกไหน

1. ประโยชน์ของลูกพรุน ช่วยในการชะลอวัย ชะลอความแก่ ป้องกันโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ เพราะพรุนนั้นเป็นผลไม้ที่มีไขมันต่ำและมีสารอาหารที่สำคัญสูงอยู่หลายชนิด เช่น วิตามิน เกลือแร่ คาร์โบไฮเดรต โพแทสเซียม[3],[4] ซึ่งกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้ระบุไว้ว่าผลไม้ที่ช่วยชะลอความแก่ได้ดีที่สุดคือ “ลูกพรุนแห้ง” หรือ “ลูกพรุนอบแห้ง” โดยสูงกว่าลูกเกด ส้ม แอปเปิล ลูกแพร์ เกรปฟรุต บลูเบอร์รี ฯลฯ[4]
2. ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เนื่องจากลูกพรุนนั้นมีสารคริปโตคลอโรจีนิกในปริมาณที่มาก ซึ่งสารชนิดนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดฤทธิ์ของอนุมูลอิสระ ซึ่งงานวิจัยของ Tufts University in Boston ระบุเอาไว้ว่าให้พรุนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงเป็นอันดับ 1 โดยวัดจากค่า ORAC ของพรุน มี 5,770 หน่วยต่อกรัม และยังสูงเป็น 2 เท่าของผลไม้ที่มีค่า ORAC อันดับต้น ๆ[3]
3. ช่วยป้องกันและต่อต้านมะเร็ง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง ป้องกันดีเอ็นเอถูกทำลาย สามารถช่วยลดการอักเสบและช่วยป้องกันมะเร็ง โดยการยับยั้งการกลายพันธุ์และสารก่อมะเร็ง เพราะพรุนมีสารในการต่อต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิดในปริมาณที่มาก มีธาตุเหล็กและวิตามินเอ และปริมาณของสารโพลีฟีนอลสูงถึง 282-922 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งสารโพลีฟีนอลที่พบมากในลูกพรุนนั้นก็คือ กรดไฮดรอกซีซินนามิก ที่อยู่ในรูปของกรดนีโอคลอโรเจนิกและกรดคลอโรจีนิก นอกจากนี้แล้วยังมีโปรแอนโธไซยานิดิน และฟลาโวนอยด์พิกเมนต์ ดังนั้นการรับประทานผลิตภัณฑ์จากลูกพรุนเป็นประจำนั้นจะช่วยป้องกันมะเร็งได้เป็นอย่างดี[3]
4. ช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ช่วยรักษาระดับการเต้นของหัวใจ ช่วยป้องกันไขมันไม่ให้ถูกทำลาย เนื่องจากเซลล์เมมเบรน เซลล์สมอง และโมเลกุลของคอเลสเตอรอลนั้นล้วนมีส่วนประกอบไปด้วยไขมันเป็นส่วนใหญ่ ที่ง่ายต่อการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระของพรุนจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้[3]
5. ลูกพรุนอุดมไปด้วยธาตุเหล็กที่มีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือด ช่วยบำรุงเลือด ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง สมาธิสั้น การเรียนรู้ลดลง แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยในเรื่องของภาวะที่สตรีต้องสูญเสียเลือดไปกับประจำเดือน และยังช่วยในการดูดซึมของธาตุต่าง ๆ ในร่างกาย[3],[4]
6. ลูกพรุนมีวิตามินอีที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาของออกซิเจนที่ไม่สมบูรณ์ในร่างกาย ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต และยืดอายุของเม็ดเลือดแดงได้อีกด้วย[5]
7. มีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด (LDL) และช่วยลดระดับความดันโลหิต ให้ประโยชน์ต่อหลอดเลือดหัวใจ ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้เป็นอย่างดี[3],[5]
8. พรุนมีค่าดัชนีของน้ำตาลต่ำมาก จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้เป็นเบาหวาน และมีงานวิจัยที่ระบุว่าพรุนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[3] แม้ว่าลูกพรุนจะหวาน โดยประกอบด้วยน้ำตาลหลายชนิด เช่น ฟรุกโตส ซอร์บิทอล แต่ก็ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว[5]
9. การรับประทานลูกพรุนเป็นประจำในปริมาณมากจะช่วยลดน้ำหนักได้ เพราะลูกพรุนมีไขมันต่ำ แคลอรีน้อย และมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ[3] อีกทั้งยังมีเส้นใยอาหารเป็นจำนวนมาก ทั้งชนิดที่ละลายน้ำได้และชนิดที่ละลายน้ำไม่ได้ ซึ่งยังมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้[5]
10. ผลไม้ที่มีสีแดง-ม่วง เช่น แอปเปิล องุ่น สตรอว์เบอร์รี แครนเบอร์รี แบล็กเบอร์รี รวมไปถึงลูกพรุน จะมีส่วนช่วยบำรุงการทำงานของเซลล์สมอง[3]
11. ใช้ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ เพราะลูกพรุนมีวิตามินอีและแร่ธาตุที่ช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อยามเครียดได้[4]
12. พรุนเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม การรับประทานลูกพรุนจะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้[3]
13. ใช้ช่วยบำรุงสายตา ช่วยในการมองเห็น เนื่องจากลูกพรุนมีวิตามินที่ช่วยบำรุงตาในส่วนของจอรับภาพ แถมยังมีวิตามินบีที่ช่วยบำรุงเส้นประสาทที่เลี้ยงลูกตา[4],[5]
14. ช่วยเสริมสร้างและบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง[2],[3] ช่วยทำให้กระดูกผุช้าลง โดยพบว่าสตรีที่รับประทานลูกพรุนแห้งวันละ 1 ขีดเป็นเวลาติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน ผลพบว่ามีการสร้างมวลมากขึ้นอย่างชัดเจน[4]
15. ช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ เนื่องจากพรุนมีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารและยังมีฤทธิ์ในการระบายท้อง จึงสามารถช่วยบำบัดอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี และแถมยังช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย[3],[4]
16. ลูกพรุนอุดมไปด้วยโพแทสเซียม วิตามินอี ธาตุเหล็ก และเส้นใยอาหาร ที่ช่วยทำให้ผิวพรรณมีเลือดฝาด ผิวดูสดใส เนียนนุ่มชุ่มชื้น ไม่เหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร จึงช่วยคงความเป็นหนุ่มเป็นสาวได้ ธาตุเหล็กที่มีมากในลูกพรุนจะช่วยในเรื่องนี้ได้[3],[5]
17. ลูกพรุนมีวิตามินบี 2 ที่นอกจากจะช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงแล้ว ยังช่วยในกระบวนการสร้างและช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผิวหนัง เล็บ และผม[5]
18. สำหรับผู้ที่เป็นตะคริวบ่อยๆ นั้น ควรรับประทานอาหารหรือผลไม้ที่มีแคลเซียมสูง โดยหนึ่งในผลไม้ที่อุดมไปด้วยแคลเซียมนั้นก็คือ “ลูกพรุน”[3]
19. ช่วยลดอาการปวดประจำเดือนของสตรีได้ เพราะว่าลูกพรุนนั้นอุดมไปด้วยแมกนีเซียมที่เป็นตัวช่วยควบคุมฮอร์โมนให้เป็นปกติและช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ทั้งนี้ต้องรับประทานก่อนมีอาการปวดประจำเดือนประมาณ 1-2 วัน[4]
20. ช่วยลดอาการอักเสบและอาการเจ็บปวดต่างๆ ได้[4]

คุณค่าทางโภชนาการ

คุณค่าทางโภชนาการผลลูกไหนสดต่อ 100 กรัมพลังงาน 46 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 11.42 กรัม
น้ำตาล 9.92 กรัม
เส้นใย 1.4 กรัม
ไขมัน 0.28 กรัม
โปรตีน 0.7 กรัม
วิตามินเอ 17 ไมโครกรัม 2%
เบตาแคโรทีน 190 ไมโครกรัม 2%
ลูทีนและซีแซนทีน 73 ไมโครกรัม
วิตามินบี 1 0.028 มิลลิกรัม 2%
วิตามินบี 2 0.026 มิลลิกรัม 2%
วิตามินบี 3 0.417 มิลลิกรัม 3%
วิตามินบี 5 0.135 มิลลิกรัม 3%
วิตามินบี 6  0.029 มิลลิกรัม 2%
วิตามินบี 9 5 ไมโครกรัม 1%
วิตามินซี 9.5 มิลลิกรัม 11%
วิตามินอี 0.26 มิลลิกรัม 2%
วิตามินเค 6.4 ไมโครกรัม 6%
ธาตุแคลเซียม 6 มิลลิกรัม 1%
ธาตุเหล็ก 0.17 มิลลิกรัม 1%
ธาตุแมกนีเซียม 7 มิลลิกรัม 2%
ธาตุแมงกานีส 0.052 มิลลิกรัม 2%
ธาตุฟอสฟอรัส 16 มิลลิกรัม 2%
ธาตุโพแทสเซียม 157 มิลลิกรัม 3%
ธาตุโซเดียม 0 มิลลิกรัม 0%
ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม 1%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

คุณค่าทางโภชนาการ

คุณค่าทางโภชนาการลูกไหนอบแห้ง ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 240 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 63.88 กรัม
น้ำ 30.92 กรัม
น้ำตาล 38.13 กรัม
เส้นใย 7.1 กรัม
ไขมัน 0.38 กรัม
โปรตีน 2.18 กรัม
วิตามินเอ 39 ไมโครกรัม 5%
เบตาแคโรทีน 394 ไมโครกรัม 4%
ลูทีนและซีแซนทีน 148 ไมโครกรัม
วิตามินบี 1 0.051 มิลลิกรัม 4%
วิตามินบี 2 0.186 มิลลิกรัม 16%
วิตามินบี 3 1.882 มิลลิกรัม 13%
วิตามินบี 5 0.422 มิลลิกรัม 8%
วิตามินบี 6 0.205 มิลลิกรัม 16%
วิตามินบี 9 4 ไมโครกรัม 1%
โคลีน 10.1 มิลลิกรัม 2%
วิตามินซี 0.6 มิลลิกรัม 1%
วิตามินอี 0.43 มิลลิกรัม 3%
วิตามินเค 59.5 ไมโครกรัม 57%
ธาตุแคลเซียม 43 มิลลิกรัม 4%
ธาตุเหล็ก 0.93 มิลลิกรัม 7%
ธาตุแมกนีเซียม 41 มิลลิกรัม 12%
ธาตุแมงกานีส 0.299 มิลลิกรัม 14%
ธาตุฟอสฟอรัส 69 มิลลิกรัม 10%
ธาตุโพแทสเซียม 732 มิลลิกรัม 16%
ธาตุโซเดียม 2 มิลลิกรัม 0%
ธาตุสังกะสี 0.44 มิลลิกรัม 5%
ธาตุฟลูออไรด์ 4 ไมโครกรัม

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

ข้อควรระวังในการรับประทานลูกพลัม

1. สำหรับในคนทั่วไป ลูกพรุนหรือน้ำลูกพรุนมีฤทธิ์เป็นยาระบาย การรับประทานครั้งละมากๆ นั้นอาจทำให้ท้องเสียได้ ดังนั้นควรจะรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม คือครั้งละประมาณ 15-30 cc.[5]
2. น้ำลูกพรุนเข้มข้นนั้นจะค่อนข้างอันตรายสำหรับในเด็กและไม่แนะนำให้เด็กรับประทาน เพราะมีแร่ธาตุที่สูงจนเกินไปสำหรับเด็ก และทำให้มีการไปกระตุ้นระบบขับถ่าย เพราะในผู้ใหญ่ที่กินแล้วก็จะมีฤทธิ์คล้ายกับยาถ่าย แต่ถ้ามีลูกน้อยที่ท้องผูกจริงๆ ก็ให้ใช้ น้ำลูกพรุน 1 ส่วน ผสมกับน้ำต้มสุก 1 ส่วน และให้ลูกกินประมาณ 1 ช้อนชา (สำหรับเด็กที่มีอายุ 5 เดือนขึ้นไป) และขอย้ำไว้ว่าต้องใช้ในกรณีที่มีอาการท้องผูกจริงๆ เท่านั้น[3]
3. ผู้ป่วยที่เป็นโรคไต ผู้ที่ต้องล้างไตอยู่เป็นประจำ รวมไปถึงผู้ที่มีอาการถ่ายเหลวหรือมีอาการของลำไส้ที่ไม่ปกติ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานลูกพรุนเป็นอันขาด เพราะจะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น เพราะลูกพรุนมีโพแทสเซียมที่สูง ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกจากร่างกายได้แบบที่ควรจะเป็น นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้โพแทสเซียมคั่งในเลือด ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนล้า หัวใจเต้นอย่างผิดปกติ และอาจถึงขั้นทำให้หัวใจหยุดเต้นได้[4]
4. สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้นไม่ควรรับประทานลูกพรุนในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะเนื่องจากลูกไหนเป็นผลไม้ที่ช่วยให้ขับถ่ายง่าย อาจทำให้เกิดอาการถ่ายเยอะและส่งผลให้มดลูกบีบตัว กระตุ้นให้คลอดลูกเร็วกว่ากำหนดอีกด้วย[3]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ธนาคารพันธุกรรมพืช 50 ปี สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. อ้างอิงใน: สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร (โอฬาร ตัณฑวิรุฬห์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rdi.ku.ac.th. [6 พ.ย. 2013].
2. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). อ้างอิงใน: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [6 พ.ย. 2013].
3. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th. [6 พ.ย. 2013].
4. บทความเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียง โดยสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา. “หลากประโยชน์ของลูกพรุน”. โดยนายสุดสายชล หอมทองภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.uniserv.buu.ac.th. [6 พ.ย. 2013].
5. วิชาการดอตคอม. [ออนไลน์]. “น้ำลูกพรุนมากคุณประโยชน์”. เข้าถึงได้จาก: www.vcharkarn.com. [6 พ.ย. 2013].