ส้มเขียวหวาน
ผลที่สุกจะมีสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองแดง มีผิวเรียบเกลี้ยง เป็นมัน มีเปลือกที่อ่อน ผิวหนา ส่วนภายในมีเนื้อลักษณะฉ่ำน้ำ

ส้มเขียวหวาน

ส้มเขียวหวาน ผลไม้รสเปรี้ยวที่ได้รับความนิยมเนื่องจากมีรสหวานมากกว่าส้มชนิดอื่น ทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินซีและใยอาหาร มีวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพ Mandarin orange , Tangerine , Mandarine , Mandarin ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Citrus reticulata Blanco ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ส้มแก้วเกลี้ยง ส้มจุก ส้มแป้นกระดาน ส้มเชียงตุง ส้มขี้ม้า ส้มเหม็น มะเขียว ส้มแสงทอง ขะเขียว มะขุน มะบาง ส้มตรังกานู ส้มจีนเปลือกล่อน [1],[2]

ลักษณะ

  • ต้น กำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อม ต้นสูงได้ประมาณ 3 – 5 เมตร ที่ลำต้นจะแตกกิ่งก้านมาก และที่กิ่งอ่อนจะมีหนาม [1],[5]
  • ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่มนรี ที่ปลายใบแหลม ส่วนที่ขอบใบจะเรียบหรือมีฟันเลื่อยเล็กน้อย ใบกว้างประมาณ 2.5 – 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5.5 – 8 เซนติเมตร ที่แผ่นใบมีสีเขียวเรียบเป็นมัน ที่เนื้อใบจะแข็ง และมีต่อมน้ำมันอยู่ที่ตามแผ่นใบ [1]
  • ดอก ออกดอกเดี่ยวหรือออกดอกเป็นช่อที่บริเวณง่ามใบและที่ปลายยอดกิ่ง มีกาบใบอยู่ 5 ใบ และมี 5 กลีบ ดอกมีขนาดเล็กมีสีขาวอมเหลือง ที่ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 18 – 24 อัน มีเกสรเพศเมียประมาณ 3 – 5 อัน และมีรังไข่ 9 – 5 อัน [1]
  • ผล มีลักษณะค่อนข้างกลม เนื้อนิ่ม เส้นผ่านศูนย์กลางขนาดประมาณ 5 – 7 เซนติเมตร ที่เปลือกนอกมีสีเขียว ผลที่สุกจะมีสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองแดง มีผิวเรียบเกลี้ยง เป็นมัน มีเปลือกที่อ่อน ผิวหนา ส่วนภายในมีเนื้อลักษณะฉ่ำน้ำ จะแบ่งออกเป็นกลีบ ๆ และมีสีส้ม ที่กลีบแต่ละกลีบจะมีเมล็ดสีขาวอยู่ด้านใน เมล็ดจะมีลักษณะเป็นรูปไข่ ที่ปลายจะแหลม มีสีขาวนวล นิยมนำเปลือกสีเขียวมาตาแห้ง ใช้เป็นยา มีรสปร่าหอมร้อน [1],[2],[5]

สรรพคุณของต้นส้มเขียวหวาน

  • ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นหน้าอกได้ [1]
  • ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการของโรคไข้หวัดได้ [3]
  • สามารถใช้เมล็ดเป็นยาแก้อาการปวดเต้านม และเต้านมอักเสบ [1]
  • ช่วยแก้อาการปวดท้องได้ [1]
  • สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย [3]
  • รักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต ปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของเปลือกส้มเขียวหวานอยู่ใน เปลือกส้มถึง 8 ประการ และสมุนไพรชนิดอื่น ๆ [2]
  • สามารถใช้เปลือกผล เป็นยารักษาโรคผมร่วง [2]
  • สามารถใช้เมล็ด เป็นยาแก้ปวดกระษัยลม [1]
  • เปลือกผล ช่วยแก้อาการปวดชายโครง [1]
  • สามารถใช้เป็นยาแก้ไอ และช่วยขับเสมหะ [1]
  • เปลือกผล ช่วยเป็นยาขับลม แก้อาหารไม่ย่อย ท้องขึ้นท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่น [1],[2]
  • เปลือกผล สามารถใช้เป็นยาขับลมในตับ กล่อมตับ คลายการบีบตัวของตับ [1]
  • ผล ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารภายในร่างกายทำงานอย่างปกติ [3]
  • เปลือกผล มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น [1],[2]
  • สามารถช่วยแก้อาการปวดอัณฑะได้ [1]
  • ผล สามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการของโรคไข้หวัด [3]
  • ผล มีสรรพคุณที่สามารถช่วยลดปริมาณของคอเลสเตอรอลในเลือดได้ [3]
  • ในตำรายาไทย เปลือกส้ม 8 ประการ ประกอบไปด้วย เปลือกมะกรูด เปลือกส้มโอ เปลือกส้มเขียวหวาน เปลือกมะนาวหรือเปลือกส้มโอมือ เปลือกส้มตรังกานู เปลือกมะงั่ว เปลือกส้มจีน เปลือกส้มซ่า [2]

วิธีใช้ : ใช้เปลือกผลแห้งครั้งละ 3 – 10 กรัม มาต้มกับน้ำแล้วรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ในตำรับยา ส่วนเมล็ดใช้ครั้งละ 3 – 10 กรัม มาต้มกับน้ำแล้วรับประทาน หรือนำมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำแล้วรับประทาน [1]
ข้อควรระวัง ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ ห้ามรับประทาน [1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของส้มเขียวหวาน

  • เปลือก มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการก่อกลายพันธุ์ ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ ต้านมะเร็ง เพราะเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง และ ต้านยีสต์ ต้านเชื้อรา ต้านพยาธิ ต้านอะมีบา ต้านอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ต้านแบคทีเรีย ต้านไวรัส ต้านอาการตัวเหลือง คลายกล้ามเนื้อเรียบ รักษาโรคเกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดี ผสมในยาห้ามเลือด ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของเชื้อไวรัส ใช้ผสมในยารักษาโรคตับอักเสบ ไล่แมลง [2]
  • นำสารที่สกัดได้จากเปลือกผลมาฉีดที่หนูทดลอง พบว่าทำให้ไขมันในกระเพาะลำไส้น้อยลง [1]
  • มีวิตามินซี วิตามินบี 1 น้ำมันระเหย apigenin , anthranilic acid , creatine , citral , caryophyllene , geraniol , myrcene , d-Limonene , linalool , ocimene , limonene , hesperidin , hesperidin , nobiletin , ocimene , nerol , phellandrene , naringenin , sabinene , tangeretin , sinensetin , pinene [1],[2]
  • น้ำมันระเหยจากเปลือก มีฤทธิ์ที่ช่วยกระตุ้นลำไส้ให้มีน้ำย่อยมากขึ้น และช่วยกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวแรงขึ้น ทำให้ช่วยขับลมออกจากลำไส้ [1]
  • ถ้าใช้สารดังกล่าว มาฉีดเข้าสุนัขหรือกระต่ายทดลอง จะพบว่าความดันโลหิตของสัตว์สูงขึ้น [1]
    สารสกัดที่ได้จากเปลือกผล จะมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ที่บีบตัวได้ และมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจของกบทดลองให้เต้นเร็วขึ้น ถ้าใช้สารมากเกินไปจะทำให้การเต้นของหัวใจช้าลง [1]

ประโยชน์ของต้นส้มเขียวหวาน

  • ประโยชน์ด้านสุขภาพของการรับประทาน ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน รักษาโรคเหงือก ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ช่วยขจัดความหมองคล้ำ ชะลอการเกิดริ้วรอย มีบ้างที่นำมาใช้รักษาสิว
  • ผลรับประทานสดเป็นผลไม้ ใช้ทำน้ำส้ม ผลไม้กระป๋อง ฯลฯ และสามารถนำเปลือกผลมาทำน้ำมันสลัด สกัดเพกทิน [4]

คุณค่าทางโภชนา

คุณค่าทางโภชนาการของส้ม 100 กรัม พลังงาน 53 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 13.34 กรัม
โปรตีน  0.81 กรัม
ใยอาหาร 1.8 กรัม
น้ำตาล 10.58 กรัม
ไขมัน 0.31 กรัม
เบต้าแคโรทีน 155 ไมโครกรัม (1%)
โคลีน 10.2 มิลลิกรัม (2%)
ธาตุเหล็ก 0.15 มิลลิกรัม (1%)
สังกะสี 0.07 มิลลิกรัม (1%)
แมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม (3%)
โพแทสเซียม 166 มิลลิกรัม (4%)
โซเดียม 2 มิลลิกรัม (0%)
แคลเซียม 37 มิลลิกรัม (4%)
แมงกานีส 0.039 มิลลิกรัม (2%)
ฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม (3%)
วิตามินเอ 34 ไมโครกรัม (4%)
วิตามินบี 1  0.058 มิลลิกรัม (5%)
วิตามินบี 2 0.036 มิลลิกรัม (3%)
วิตามินบี 3 0.376 มิลลิกรัม (3%)
วิตามินบี 5 0.216 มิลลิกรัม (4%)
วิตามินบี 6 0.078 มิลลิกรัม (6%)
วิตามินบี 9 16 ไมโครกรัม (4%)
วิตามินซี 2 6.7 มิลลิกรัม (32%)
วิตามินอี 0.2 มิลลิกรัม (1%)

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ส้มเขียวหวาน”. หน้า 528.
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ส้มเขียวหวาน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [21 ต.ค. 2014].
พืชผลไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ส้มเขียวหวาน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/use/fruit.htm. [21 ต.ค. 2014].
กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ส้มเขียวหวาน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.sc.mahidol.ac.th/wiki/. [21 ต.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.tastingtable.com/816752/the-real-reason-some-oranges-are-green/
2.https://kasetgo.com/t/topic/554767