กระเทียม เครื่องเทศรสเผ็ดร้อน มีกลิ่นฉุน แต่บำรุงร่างกายได้เยี่ยม!
กระเทียม เครื่องเทศที่เป็นส่วนประกอบและเป็นเครื่องปรุงในอาหารไทย มีรสชาติเผ็ดร้อนและกลิ่นฉุน มีลักษณะเป็นกลีบจะมีเปลือกขาว

กระเทียม

กระเทียม (Garlic) เป็น เครื่องเทศที่สำคัญอย่างมากต่อคนไทยเพราะเป็นส่วนประกอบและเป็นเครื่องปรุงในอาหารไทยหลากหลายเมนู มีรสชาติเผ็ดร้อนและกลิ่นฉุน แต่มีกลิ่นหอมเมื่อนำไปปรุงกับส่วนประกอบอื่น ๆ ช่วยทำให้อาหารมีรสกลมกล่อมและยังมีสรรพคุณที่ยอดเยี่ยมต่อร่างกาย เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่าการรับประทานกระเทียมนั้นยอดเยี่ยมและช่วยแก้ไข้หวัดได้ แต่กระเทียมยังมีสรรพคุณต้านโรคต่าง ๆ ได้ด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระเทียม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium sativum L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Garlic” และ “Common Garlic”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กระเทียม กระเทียมจีน” ภาคเหนือเรียกว่า “หอมเทียม” ภาคใต้เรียกว่า “เทียม หัวเทียม” ชาวกะเหรี่ยงและจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ปะเซ้วา” จังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “กระเทียมขาว หอมขาว”
ชื่อวงศ์ : วงศ์พลับพลึง (AMARYLLIDACEAE)

ลักษณะของกระเทียม

กระเทียม เป็นไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง ในประเทศไทยนั้นจังหวัดศรีสะเกษถือเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องกระเทียมมีคุณภาพดีและกลิ่นแรง พันธุ์ของกระเทียมที่แต่ละหัวมีเพียงกลีบเดียวเรียกว่า “กระเทียมโทน”
หัว : หัวอยู่ใต้ดินเป็นลักษณะกลมแป้น แต่ละหัวประกอบด้วยกลีบหลายกลีบเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ แต่ละกลีบจะมีเปลือกหรือกาบสีขาวหรือม่วงอมชมพูหุ้มอยู่
ใบ : เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบเป็นรูปขอบขนาน แบนและแคบยาว ปลายใบแหลม โคนของใบแผ่เป็นแผ่นและเชื่อมติดกัน ขอบใบเรียบ ท้องใบมีรอยพับเป็นสันตลอดความยาว ใบมีสีเขียวแก่
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ มีลักษณะกลม ประกอบไปด้วยดอกหลายดอก มีกาบหุ้มเป็นจะงอยยาว รูปร่างยาวแหลม มีสีขาวแต้มสีม่วงหรือขาวอมชมพู
ผล : ขนาดเล็กเป็นกระเปาะสั้น ๆ รูปไข่และค่อนข้างกลม
เมล็ด : เมล็ดเล็กสีดำ

สรรพคุณของกระเทียม

  • สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย ปรับสมดุลในร่างกาย เพิ่มพละกำลังให้ร่างกาย ขับพิษ ฆ่าเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ กำจัดพิษจากสารตะกั่ว ช่วยสร้าง DNA และ RNA ของเซลล์ในร่างกาย
  • สรรพคุณด้านความงาม บำรุงผิวหนังให้มีสุขภาพดีและแข็งแรง ลดความอ้วน ฆ่าเชื้อราตามหนังศีรษะและบริเวณเล็บ
  • สรรพคุณด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ เสริมสร้างการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกาย เพิ่มความแข็งแรงของเนื้อเยื่อ บำรุงข้อต่อและกระดูก ต้านอาการไขข้ออักเสบ ต้านโรคข้อรูมาติสซั่ม
  • สรรพคุณด้านป้องกันโรค ป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและลดความเสี่ยงของหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ต้านเนื้องอก รักษาโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ รักษาโรคหลอดลม รักษาโรคตับอ่อนอักเสบชนิดรุนแรง ป้องกันโรคไต
  • สรรพคุณด้านไขมัน ลดระดับคอเลสเตอรอล
  • สรรพคุณด้านเลือด ลดน้ำตาลในเลือด รักษาความดันโลหิต ป้องกันและรักษาโรคโลหิตจาง ขับพิษอันตรายที่ปนเปื้อนในเม็ดเลือด ป้องกันผนังหลอดเลือดหนาและแข็งตัว สารสกัดน้ำมันกระเทียมช่วยในการละลายลิ่มเลือด ป้องกันเส้นเลือดอุดตัน ป้องกันเม็ดเลือดแดงแตก
  • สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ แก้อาการวิงเวียนศีรษะ แก้อาการมึนงง แก้ปวดศีรษะ แก้อาการหูอื้อ แก้ปัญหาผมบางและยาวช้า บรรเทาอาการไอและน้ำมูกไหล ช่วยขับเหงื่อ ขับเสมหะ ป้องกันหวัด รักษาอาการไอกรน แก้อาการหอบหืด ยับยั้งเชื้อที่ก่อให้เกิดฝีหนอง ยับยั้งเชื้อปอดบวมและวัณโรค รักษากลากเกลื้อน บรรเทาอาการปวดข้อและปวดเมื่อย แก้อาการเคล็ดขัดยอกและเท้าแพลง
  • สรรพคุณด้านระบบสืบพันธุ์ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบสืบพันธุ์เพราะมีสารที่ช่วยควบคุมฮอร์โมนทั้งหญิงและชาย ทำให้มดลูกบีบตัว
  • สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย เพิ่มประสิทธิภาพของระบบทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับปัสสาวะ รักษาโรคกระเพาะและยับยั้งไม่ให้น้ำย่อยอาหารมาย่อยแผลในกระเพาะ ช่วยขับลม รักษาอาการจุกเสียดแน่นท้อง รักษาท้องอืดหรือท้องเฟ้อ ป้องกันโรคท้องผูก รักษาอาการบิด ช่วยขับพยาธิอย่างพยาธิแส้ม้า พยาธิเส้นด้าย พยาธิเข็มหมุดและพยาธิไส้เดือน กระตุ้นน้ำย่อยและเพิ่มความอยากอาหาร
  • สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 รักษาอาการเยื่อบุจมูกอักเสบและไซนัส ระงับกลิ่นปาก ยับยั้งเชื้อที่ก่อให้เกิดคออักเสบ

ประโยชน์ของกระเทียม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ช่วยปรุงรสชาติของอาหารหลากหลายเมนู
2. แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร กระเทียมเสริมอาหาร กระเทียมสกัดผง สารสกัดน้ำมันกระเทียม กระเทียมดอง
3. ช่วยไล่ยุงและแมลง

คุณค่าทางโภชนาการของกระเทียมดิบ

คุณค่าทางโภชนาการของกระเทียมดิบ ต่อ 100 กรัม โดยคิดเป็น % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ ให้พลังงาน 149 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหาร
คาร์โบไฮเดรต 33.06 กรัม
น้ำตาล 1 กรัม 
เส้นใยอาหาร 2.1 กรัม
ไขมัน 0.5 กรัม
โปรตีน 6.36 กรัม
วิตามินบี1 0.2 มิลลิกรัม (17%)
วิตามินบี2 0.11 มิลลิกรัม (9%)
วิตามินบี3 0.7 มิลลิกรัม (5%)
วิตามินบี5 0.596 มิลลิกรัม (12%)
วิตามินบี6 1.235 มิลลิกรัม (95%)
วิตามินบี9 3 ไมโครกรัม (1%)
วิตามินซี 31.2 มิลลิกรัม (38%) 
แคลเซียม 181 มิลลิกรัม (18%)
เหล็ก 1.7 มิลลิกรัม (13%)
แมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม (7%)
แมงกานีส 1.672 มิลลิกรัม (80%)
ฟอสฟอรัส 153 มิลลิกรัม (22%) 
โพแทสเซียม 401 มิลลิกรัม (9%)
สังกะสี 1.16 มิลลิกรัม (12%)
ซีลีเนียม 14.2 ไมโครกรัม

คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้กระเทียม

คำแนะนำในการใช้กระเทียม

1. เมื่อกระเทียมโดนความร้อนหรือหมักดอง ทำให้วิตามินและสารอัลลิซินที่มีอยู่ในกระเทียมนั้นสลายตัวไป
2. ควรปลูกกระเทียมในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพราะส่งผลต่อปริมาณของวิตามินและแร่ธาตุในกระเทียม
3. กระเทียมยังไม่มีการรับรองว่ารักษาโรคได้จริง เป็นเพียงยาสมุนไพรเสริมเท่านั้น ไม่ควรที่จะเลือกใช้กระเทียมเพื่อหวังผลในการรักษาอาการหรือโรคต่าง ๆ

ข้อควรระวังในการใช้กระเทียม

1. ไม่ควรสัมผัสกระเทียมเป็นประจำและเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบและมีตุ่มน้ำได้
2. หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ มีระดับความดันโลหิตผิดปกติ ผู้ที่มีอาการของเลือดหยุดไหลช้า รวมไปถึงผู้ที่ใช้ยาอื่น ๆ เป็นประจำ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแอสไพริน ยาแก้อักเสบ ยาต้านไวรัส ไม่ควรรับประทานกระเทียมหรือผลิตภัณฑ์กระเทียมเสริมในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้เป็นโทษต่อร่างกายได้
3. ไม่ควรสูดดมกลิ่นของกระเทียมมากจนเกินไป อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และมีอาการหัวใจเต้นแรงผิดปกติ แต่อาการจะค่อย ๆ หายไปเองภายในเวลา 3 – 4 ชั่วโมง

กระเทียม เป็นเครื่องปรุงที่มีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นแรง แต่กระเทียมถือเป็นยาที่ช่วยแก้อาการต่าง ๆ ได้ดี แต่ความร้อนของกระเทียมอาจก่อให้เกิดปัญหาได้สำหรับบางคนที่รับประทานในปริมาณมาก ดังนั้นควรรับประทานอย่างระมัดระวัง สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ลดน้ำตาลในเลือด ละลายลิ่มเลือด ขับสารพิษ แก้ไข้และมีส่วนช่วยการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ถือเป็นเครื่องปรุงที่พบได้บ่อยมาก แทบจะทุกวันในชีวิตเลยก็ได้ การรับประทานกระเทียมถือเป็นหนึ่งสิ่งที่ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม