มะเขือเปราะ รักษาเบาหวาน แก้ไข้ ต้านมะเร็ง บำรุงหัวใจ บำรุงตับ ลดความดันเลือด

0
1730
มะเขือเปราะ รักษาเบาหวาน แก้ไข้ ต้านมะเร็ง บำรุงหัวใจ บำรุงตับ ลดความดันเลือด
มะเขือเปราะ หนึ่งในมะเขือที่คนไทยนิยมรับประทาน ผลเป็นสีขาวอมเขียว รสชาติหวานปนขมอ่อน ๆ
มะเขือเปราะ รักษาเบาหวาน แก้ไข้ ต้านมะเร็ง บำรุงหัวใจ บำรุงตับ ลดความดันเลือด
มะเขือเปราะ หนึ่งในมะเขือที่คนไทยนิยมรับประทาน ผลเป็นสีขาวอมเขียว รสชาติหวานปนขมอ่อน ๆ

มะเขือเปราะ

มะเขือเปราะ (Green Brinjal) เป็น หนึ่งในมะเขือที่คนไทยนิยมรับประทานกันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเมนูที่จิ้มกินกับน้ำพริกหรือแกงเผ็ดต่าง ๆ มีรสชาติหวานปนขมอ่อน ๆ แต่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรที่ยอดเยี่ยมชนิดหนึ่ง เป็นผักที่สามารถนำทั้งต้นมาใช้เป็นยาได้และเป็นพืชผลที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินเดีย เป็นผักที่คนอินเดียนิยมและให้ความสนใจด้วยการนำมะเขือเปราะมาวิจัย มะเขือเปราะเป็นผักที่คู่ควรแก่การปลูกเพื่อรับประทานเป็นอย่างยิ่ง

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะเขือเปราะ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum virginianum L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Thai Eggplant” “Yellow berried nightshade” “Kantakari”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “มะเขือขื่น มะเขือเสวย” ภาคเหนือเรียกว่า “มะเขือขัยคำ มะเขือคางกบ มะเขือจาน มะเขือแจ้ มะเขือแจ้ดิน มะเขือดำ” ภาคอีสานเรียกว่า “มะเขือหืน” ภาคใต้เรียกว่า “เขือพา เขือหิน” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “มั่งคอเก” จีนกลางเรียกว่า “หวงกั่วเชี๋ย หวงสุ่ยเชี๋ย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)
ชื่อพ้อง : Solanum mairei H. Lév., Solanum xanthocarpum Schrad. & H. Wendl.

ลักษณะของมะเขือเปราะ

มะเขือเปราะ เป็นไม้พุ่มที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย
ใบ : ใบมีขนาดใหญ่ออกเรียงแบบสลับกัน
ดอก : ออกดอกเดี่ยว ดอกมีขนาดใหญ่เป็นสีม่วงหรือสีขาว
ผล : ลักษณะของผลมีรูปร่างกลมแบนหรือเป็นรูปไข่ ผลเป็นสีขาวอมเขียวและอาจเป็นสีขาว สีเขียว สีเหลืองหรือสีม่วง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูก ผลแก่จะมีสีเหลือง ส่วนเนื้อในผลมีสีเขียวเป็นเมือก ผลมีรสขื่น

สรรพคุณของมะเขือเปราะ

  • สรรพคุณจากมะเขือเปราะ เป็นยาแก้ไข้พิษร้อน กระทุ้งพิษไข้ ใช้เป็นยาขับน้ำชื้น แก้อาการปวดกระเพาะอาหาร แก้อาการปวดบวม แก้ปวดหลัง แก้ฟกช้ำดำเขียว ช่วยต้านมะเร็ง บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ตับแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • สรรพคุณจากผล เป็นยาลดไข้ ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยขับถ่าย เป็นยาขับพยาธิ กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ลดการอักเสบ
    – รักษาโรคเบาหวาน ประเทศอินเดียนำผลมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
    – เป็นยาแก้ไอ ด้วยการนำผลตากแห้งมาบดเป็นผงแล้วผสมกับน้ำผึ้ง
    – เป็นยาช่วยขับลมชื้น แก้อาการปวดข้อเนื่องจากลมชื้นติดเกาะ แก้ไขข้ออักเสบ แก้มือเท้าชา ด้วยการใช้ผลสดประมาณ 70 – 100 กรัม มาตุ๋นกับไตหมูแล้วรับประทาน
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้หอบหืด แก้หลอดลมอักเสบ ช่วยขับลม เป็นยาขับปัสสาวะ
    – เป็นยาแก้ไอ แพทย์อายุรเวทของอินเดียจะใช้รากในการแก้อาการ
    – แก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ราก 15 กรัม มาต้มแล้วเอาน้ำอมในปาก
    – เป็นยาแก้อัณฑะอักเสบ ด้วยการใช้ราก 15 กรัม หญ้าแซ่ม้า 15 กรัม และต้นทิ้งถ่อนมารวมกันแล้วต้มกับน้ำเพื่อดื่ม
  • สรรพคุณจากใบสด
    – แก้พิษ แก้ฝีหนอง ด้วยการนำใบสดมาตำแล้วพอก

ประโยชน์ของมะเขือเปราะ

เป็นส่วนประกอบของอาหาร นำผลมะเขือเปราะสีเขียวมารับประทานสด จิ้มกับน้ำพริกหรือนำไปใส่แกงป่า แกงเผ็ดและอื่น ๆ

คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือเปราะ

คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือเปราะ ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 39 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
โปรตีน 1.6 กรัม
ไขมัน 0.5 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 7.1 กรัม
น้ำ 90.2 กรัม
วิตามินเอ 143 RE.
วิตามินบี1 0.11 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.06 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 0.6 มิลลิกรัม
วิตามินซี 24 มิลลิกรัม
แคลเซียม 7 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 10 มิลลิกรัม

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะเขือเปราะ

งานวิจัย

  • งานวิจัยนานาชาติระหว่างปี พ.ศ. 2510 – 2538 พบว่า ผลมะเขือเปราะมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิตและต้านมะเร็ง
  • งานวิจัยในแคว้นโอริสสา ณ ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดของน้ำผลมะเขือเปราะเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดหนูเบาหวานอะล็อกซาน พบว่า สารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเทียบเท่ากับการใช้ยากลิเบนคลาไมด์ (glibenclamide) และยังมีการทดสอบเพิ่มเติมที่พบว่า สารสกัดนี้จะออกฤทธิ์คล้ายกับอินซูลิน โดยจะช่วยเสริมการใช้งานกลูโคสอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลเชิงบวกต่อการทำงานของตับอ่อน
    สารในมะเขือเปราะ พบสาร Capresterol, Diosgenin, Solanine, Solanines, Solasonine, Solacarpine พบน้ำมันเล็กน้อยและสารอัลคาลอยด์ต่าง ๆ

สารออกฤทธิ์ในมะเขือเปราะ

  • สารอัลคาลอยด์ในมะเขือเปราะ : ในประเทศอินเดียได้ทำการสกัดเอาสารอัลคาลอยด์จากมะเขือเปราะมาใช้ในการรักษาอาการไข้ตัวร้อน แก้ไอและโรคหัวใจ โดยพบว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์กระตุ้นทำให้หัวใจบีบตัวได้แรงขึ้นแต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไปจะทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง
  • สารไกลโคอัลคาลอยด์โซลามาร์จีน โซลาโซนีนและอัลคาลอยด์โซลาโซดีนที่ปราศจากโมเลกุลน้ำตาล : พบว่า
  • สารเหล่านี้ทุกตัวมีฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งตับ
  • สารโซลาโซดีน : ถูกนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สเตียรอยด์คอร์ติโซนและฮอร์โมนเพศ

มะเขือเปราะ เป็นผักยอดนิยมของคนอินเดียและมักจะพบในเมนูอาหารพวกแกงเผ็ดต่าง ๆ เป็นผักที่มีผลอุดมไปด้วยประโยชน์มากมาย เชื่อว่าคนส่วนมากมักจะเขี่ยมะเขือเปราะออกเมื่อพบเจอในแกงแต่คุณค่าทางอาหารของมะเขือเปราะนั้นไม่ควรไปจบลงที่ถังขยะ มะเขือเปราะเป็นผักที่ช่วยบำรุงอวัยวะสำคัญของร่างกายได้ดีเยี่ยม มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคเบาหวาน แก้ไข้พิษร้อน ต้านมะเร็ง บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต ทำให้ตับแข็งแรงและอื่น ๆ อีกมากมาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 351 คอลัมน์ : บทความพิเศษ. (รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ). “มะเขือเปราะลดน้ำตาลในเลือด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [02 ก.ย. 2014].
เดอะแดนดอทคอม. “มะเขือเปราะ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.the-than.com. [02 ก.ย. 2014].
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “มะเขือขื่น”. หน้า 430.
ภาพประกอบ : mygreengardens.com, kruaoun.files.wordpress.com, www.thaichillifarm.com, www.bansuanporpeang.com (by sothorn), trekkingthai.com (by แม็ค)