ผักบุ้ง ผักยอดฮิตของคนไทย ช่วยบำรุงสายตา รักษาตาต้อ ตาฝ้าฟาง ตาแห้ง
ผักยอดฮิตชนิดหนึ่งสำหรับคนไทย มีลำต้นเลื้อยทอดไปตามน้ำหรือที่ลุ่มที่มีความชื้น มีทั้งผักบุ้งแก้ว ผักบุ้งจีน ผักบุ้งนา

ผักบุ้ง

ผักบุ้ง (Water Morning Glory) เป็น ผักยอดฮิตชนิดหนึ่งสำหรับคนไทย โดยเฉพาะเมนู “ผัดผักบุ้งไฟแดง” ซึ่งเป็นเมนูพื้นฐานของร้านอาหารทั่วไป เป็นผักที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการบำรุงสายตาเพราะมีวิตามินเอสูง สามารถนำมาปรุงได้หลากหลายและมีรสชาติอร่อย ทานง่าย จะนำมาต้มแบบร้าน MK หรือจะนำมาผัดไฟแดงก็อร่อยได้เช่นกัน แต่ผักบุ้งนั้นมีประโยชน์และสรรพคุณมากกว่าการบำรุงสายตาแบบที่คนทั่วไปรู้กัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักบุ้ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ipomoea aquatica Forssk.
ชื่อสามัญ : ผักบุ้งมีชื่อสามัญ 6 ชื่อ คือ “Swamp morning glory” “Thai water convolvulus” “Morning glory” “Water spinach” “Water morning glory” และ “Swamp cabbage”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ผักบุ้งนา” “ผักทอดยอด” มลายูเรียกว่า “โหนเดาะ กากง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)
ชื่อพ้อง : Ipomoea reptans Poir.

ลักษณะของผักบุ้ง

ผักบุ้ง เป็นไม้ล้มลุกที่มีลำต้นเลื้อยทอดไปตามน้ำหรือที่ลุ่มที่มีความชื้น ในประเทศไทยจะแบ่งออกเป็น 3 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ
ผักบุ้งไทย : เป็นผักบุ้งสายพันธุ์ธรรมชาติที่ขึ้นเองตามแม่น้ำลำคลอง นิยมใช้ทำแกงส้ม แกงเทโพ ผัดกะปิ เป็นต้น
ผักบุ้งจีน : เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศแต่สามารถเพาะปลูกในไทยได้ เป็นผักที่นิยมใช้ในเมนูสำคัญอย่างผัดผักบุ้งไฟแดง ใส่ในแจ่วฮ้อน สุกี้หรือกินกับหมูกระทะ
ผักบุ้งนา : ลำต้นมีสีแดง ยอดเรียวเล็ก รสฝาด กินกับลาบ น้ำตกและอาหารอีสานอื่น ๆ

สรรพคุณของผักบุ้ง

  • สรรพคุณด้านความงาม ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส มีน้ำมีนวล ชะลอวัย
  • สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ บำรุงธาตุ ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ขับสารพิษออกจากร่างกาย
  • สรรพคุณด้านป้องกันโรค ป้องกันโรคมะเร็ง ยอดผักบุ้งช่วยแก้โรคประสาท ป้องกันโรคเบาหวาน รากแก้โรคหืด บำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดหรือผู้ที่ได้รับสารพิษอย่างเกษตรกร
  • สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 บำรุงสายตา รักษาอาการตาต้อ ตาฝ้าฟาง ตาแดง และสายตาสั้น รักษาอาการคันตาบ่อย ๆ ต้นสดของผักบุ้งไทยช่วยบำรุงฟัน แก้อาการเหงือกบวม
    – รักษาแผลร้อนในข้างในปาก ด้วยการนำผักบุ้งสดมาผสมเกลือ แล้วอมไว้ในปากประมาณ 2 นาที วันละ 2 ครั้ง
    – รักษาฟันเป็นรูปวด ด้วยการใช้รากสด 120 กรัม ผสมกับน้ำส้มสายชู คั้นเอาน้ำมาบ้วนปาก
  • สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ ต้นสดแก้อาการร้อนใน รากแก้อาการเหงื่อออกมากและแก้อาการไอเรื้อรัง แก้อาการปวดศีรษะและอ่อนเพลีย ยอดมีส่วนช่วยแก้อาการเสื่อมสมรรถภาพ ผักบุ้งรสเย็นช่วยถอนพิษเบื่อเมา รากผักบุ้งรสจืดเฝื่อนช่วยถอนพิษสำแดง ผักบุ้งไทยต้นขาวแก้อาการฟกช้ำและถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ดอกของผักบุ้งไทยต้นขาวเป็นยาแก้กลากเกลื้อน ต้นสดของผักบุ้งไทยต้นขาวใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกและช่วยลดการอักเสบ อาการปวดบวมต่าง ๆ
    – แก้หนองใน ด้วยการใช้ลำต้นมาคั้น นำน้ำที่คั้นมาผสมกับน้ำผึ้งแล้วดื่ม
    – แก้แผลมีหนองช้ำ ด้วยการใช้ต้นสดต้มน้ำให้เดือดนาน ๆ ทิ้งไว้พออุ่นแล้วเอาน้ำล้างแผลวันละครั้ง
    – แก้พิษตะขาบกัด ด้วยการใช้ต้นสดเติมเกลือ นำมาตำแล้วพอกบริเวณที่ถูกกัด
  • สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย ต้นสดช่วยบำรุงโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต
    – แก้เลือดกำเดาไหลมากผิดปกติ ด้วยการใช้ต้นสดมาตำผสมน้ำตาลทราย นำมาชงร้อนแล้วดื่ม
  • สรรพคุณช่วยเสริมสร้างสมอง เสริมสร้างศักยภาพในด้านความจำและการเรียนรู้ให้ดีขึ้น
  • สรรพคุณด้านกระดูก ต้นสดของผักบุ้งไทยช่วยบำรุงกระดูก
  • สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ผักบุ้งขาวหรือผักบุ้งจีนช่วยให้เจริญอาหาร ป้องกันการเกิดโรคกระเพาะอาหาร ป้องกันการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารจากผลของยาแอสไพริน ป้องกันโรคท้องผูก ทำความสะอาดของเสียที่ตกค้างในลำไส้ ผักบุ้งจีนมีฤทธิ์ช่วยในการขับปัสสาวะและแก้ปัสสาวะเหลือง รากแก้อาการตกขาวมากของสตรี
    – แก้อาการปัสสาวะเป็นเลือดและถ่ายเป็นเลือด ด้วยการใช้ลำต้นมาคั้น นำน้ำที่คั้นมาผสมกับน้ำผึ้งแล้วดื่ม
    – แก้ริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้ต้นสด 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร นำมาต้มให้เละ เอากากทิ้งแล้วใส่น้ำตาลทรายขาว 120 กรัม จากนั้นเคี่ยวจนข้นหนืด นำมารับประทานครั้งละ 90 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น

ประโยชน์ของผักบุ้ง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ประกอบอาหารอย่างพวกผัดผัก แกงต่าง ๆ ของดอง และนำมาต้มพร้อมรับประทาน
2. ใช้ในการเกษตร เป็นอาหารสัตว์ของหมู เป็ด ไก่ และปลา
3. ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างผักบุ้งแคปซูล ผงผักบุ้ง เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการของผักบุ้ง

คุณค่าทางโภชนาการของผักบุ้งต่อ 100 กรัม โดยคิดเป็น % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ ให้พลังงาน 19 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหาร
คาร์โบไฮเดรต 3.14 กรัม
เส้นใย 2.1 กรัม
ไขมัน 0.2 กรัม
โปรตีน 2.6 กรัม
วิตามินเอ 315 ไมโครกรัม (39%)
วิตามินบี1 0.03 มิลลิกรัม (3%)
วิตามินบี2 0.1 มิลลิกรัม (8%)
วิตามินบี3 0.9 มิลลิกรัม (6%)
วิตามินบี5 0.141 มิลลิกรัม (3%)
วิตามินบี6 0.096 มิลลิกรัม (7%)
วิตามินบี9 57 ไมโครกรัม (14%)
วิตามินซี 55 มิลลิกรัม (66%)
แคลเซียม 77 มิลลิกรัม (8%) 
เหล็ก 1.67 มิลลิกรัม (13%)
แมกนีเซียม 71 มิลลิกรัม (20%)
แมงกานีส 0.16 มิลลิกรัม (8%)
ฟอสฟอรัส 39 มิลลิกรัม (6%) 
โพแทสเซียม 312 มิลลิกรัม (7%)
โซเดียม 113 มิลลิกรัม (8%) 
สังกะสี 0.18 มิลลิกรัม (2%)

*** สารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายจะให้ประสิทธิภาพ 100% หากรับประทานสดมากกว่านำมาปรุงร้อน

ข้อควรระวัง

ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักบุ้ง เพราะผักบุ้งมีคุณสมบัติช่วยลดความดันโลหิต จะทำให้ความดันยิ่งต่ำ อาจจะก่อให้เกิดอาการเป็นตะคริวได้ง่ายและบ่อยขึ้น อีกทั้งยังทำให้ร่างกายอ่อนแอด้วย

ผักบุ้ง ในประเทศไทยนิยมรับประทานผักบุ้งจีนมากกว่าผักบุ้งชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นผัดผักบุ้งหรือผักสดตามร้านอาหารชาบูและหมูกระทะ ล้วนเป็นผักบุ้งจีนทั้งนั้นเพราะมียางน้อยกว่าผักบุ้งไทย จึงได้รับความนิยมในการรับประทานมากกว่า สรรพคุณที่โดดเด่นของผักบุ้งคือ บำรุงสายตา บำรุงฟัน ต้านมะเร็ง ป้องกันเบาหวานและป้องกันโรคกระเพาะอาหาร เป็นผักที่มีประโยชน์มากมาย เหมาะแก่การรับประทานเป็นประจำ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม