มะสัง
มะสัง (Wood apple) เป็นไม้ยืนต้นที่มีผลคล้ายมะนาวและยังมีรสเปรี้ยวอีกด้วย เป็นต้นที่คนไทยอาจจะเคยได้ยินหรือนิยมกันในหมู่คนปลูกต้นไม้ เนื่องจากมะสังนั้นกลายเป็นต้นยอดฮิตของคนที่ชอบปลูกไม้ประดับพวกไม้แคระหรือไม้ดัดเพราะเปลือกที่ขรุขระและรูปทรงของต้นที่สวยงาม นอกจากนั้นยังนำมาทำเป็นน้ำผลไม้และนำใบมารับประทานในรูปแบบของผักสดหรือทานร่วมกับลาบและก้อยได้เช่นกัน แถมยังนำผลมาใช้ในการเป็นเครื่องปรุงซึ่งให้รสเปรี้ยวใช้แทนมะนาวได้อีกด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะสัง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus lucida (Scheff.) Mabb.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Wood apple”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “หมากกะสัง มะสัง” ภาคใต้เรียกว่า “กะสัง” จังหวัดมุกดาหารเรียกว่า “ผักสัง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “หมากสัง กระสัง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ส้ม (RUTACEAE)
ชื่อพ้อง : Feroniella lucida (Scheff.) Swingle
ลักษณะของมะสัง
มะสัง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศไทยมักจะพบตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าโคกและทุ่งนา
ลำต้น : ลำต้นแตกกิ่งก้านขนานกับลำต้นหรือออกตั้งฉากกับลำต้น ต้นมีกิ่งก้านจำนวนมาก ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมยาวและแข็งตรง ที่กิ่งอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม
เปลือกต้น : เปลือกต้นเป็นร่องเล็ก เปลือกแตกเป็นเกล็ดรูปสี่เหลี่ยม ต้นแก่เป็นสีเทาไปจนถึงดำ
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวหรือสองชั้น ปลายใบคี่ ก้านใบเรียงตัวกันแบบสลับหรือเป็นกระจุกประมาณ 2 – 3 ก้านใน 1 ข้อ ใบย่อยจะเกิดเป็นคู่เรียงตัวกันแบบตรงข้ามจำนวน 3 – 5 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับหรือรูปวงรี ปลายใบแหลมหรือค่อนข้างมนหรือเว้าเข้าเล็กน้อย โคนใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบเป็นมัน ด้านท้องใบเห็นต่อมน้ำมันกระจายชัดเจน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามกิ่งหรือตามซอกใบคล้ายดอกกระถิน เป็นปุยมีสีขาว โคนก้านมีใบประดับ 1 ใบ ลักษณะเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่ปลายแหลม กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีขาวแยกจากกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับหรือรูปใบหอก ปลายกลีบแหลม โคนกลีบตัดตรง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ติดกันเล็กน้อยที่ฐาน ปลายกลีบแยกเป็น 5 แฉก เป็นกลีบสีเขียวแกมเหลือง ลักษณะเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่ ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 15 – 20 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว อับเรณูติดบนก้านแบบ Basifix มีสีเหลืองแกมสีน้ำตาลอ่อน เกสรเพศเมียมี 1 ก้าน มีรังไข่ superior ovary สีเขียว ลักษณะเป็นรูปโดมทรงกลม ก้านเกสรอวบ ยอดเกสรเรียวเล็กกว่าก้านเกสรเล็กน้อย รังไข่มี 5 – 6 ห้อง มีออวุลจำนวนมาก สามารถออกดอกได้ตลอดปี
ผล : ผลมีลักษณะกลมเป็นสีเขียวคล้ายผลมะนาว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เปลือกผลแข็งและหนามาก เปลือกมีกลิ่นหอม
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปยาววงรี
สรรพคุณของมะสัง
- สรรพคุณจากใบ บำรุงร่างกาย ช่วยแก้ท้องเดิน แก้ท้องอืดและท้องเฟ้อ เป็นยาสมานแผล
- สรรพคุณจากรากและผลอ่อน
– แก้ไข้ โดยตำรายาไทยนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่มหรือฝนกับน้ำกินเป็นยา - สรรพคุณจากแก่น
– ดีต่อสตรีขณะอยู่ไฟ ด้วยการนำแก่นมาผสมกับแก่นมะขามแล้วใช้ต้มกับน้ำเพื่อดื่ม
ประโยชน์ของมะสัง
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลนำมาปรุงในน้ำพริกหรือใส่ในแกงและนำมาทำน้ำผลไม้ได้ ยอดอ่อนและใบอ่อนทานเป็นผักสดหรือนำไปปิ้งไฟให้หอมทานร่วมกับลาบ ก้อยและซุปหน่อไม้ได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ นิยมทำเป็นไม้แคระประดับหรือไม้ดัดเพราะเปลือกที่ขรุขระและรูปทรงของต้นสวยงาม ง่ายต่อการดัดเพราะกิ่งก้านมีความเหนียว
มะสัง มักจะพบในรูปแบบของไม้แคระประดับหรือไม้ดัดเพราะก้านมีความเหนียว เป็นต้นที่มีใบรสจืดแต่ผลมีรสเปรี้ยวและนำมาใช้แทนมะนาวได้ มะสังมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงร่างกาย ช่วยแก้ท้องเดิน แก้ท้องอืดและท้องเฟ้อ แก้ไข้ เป็นต้นที่ดีต่อระบบย่อยอาหารและช่วยบำรุงกำลังจึงเหมาะสำหรับสตรีขณะอยู่ไฟได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “มะสัง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 158.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [18 พ.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “มะสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [18 พ.ค. 2014].
สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. “มะสัง, กระสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: science.sut.ac.th. [18 พ.ค. 2014].