ประโยชน์ต่อสุขภาพที่น่าทึ่งของสมุนไพรปรู

0
1449
ประโยชน์ต่อสุขภาพที่น่าทึ่งของสมุนไพรปรู ผลเป็นกระจุก ผลอ่อนเป็นสีเขียวผลแก่สีดำ ผลมีเมล็ดเดี่ยวและมีเนื้อเยื่อสีแดง รสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม
ปรู
ผลเป็นกระจุก ผลอ่อนเป็นสีเขียวผลแก่สีดำ ผลมีเมล็ดเดี่ยวและมีเนื้อเยื่อสีแดง รสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม

ปรู

ปรู (Ankota) เป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติซึ่งเป็นยาแผนโบราณตั้งแต่ราก เปลือก เมล็ด น้ำมัน และผลไม้ทุกส่วนของต้นใช้สำหรับรักษาโรคท้องเสีย บำรุงกำลัง แก้ริดสีดวงทวาร แก้โรคผิวหนัง ใช้เป็นยาลดไข้ แก้ปวด ลดอาการอักเสบ ขับลม และขับปัสสาวะ นอกจากนั้นผลสุกทรงกลมสีดำรสหวานอมเปรี้ยวสามารถรับประทานได้ ต้นไม้ชนิดนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Alangium salviifolium (L.f.) Wangerin ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Alangium salviifolium subsp. hexapetalum (Lam.) Wangerin โดยจัดอยู่ในวงศ์ CORNACEAE (ALANGIACEAE) นอกจากนี้ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะตาปู๋ (เชียงใหม่), มะเกลือกา (ปราจีนบุรี), ปู๋ ปรู๋ (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ผลู ปลู (ภาคกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของต้นปรู

  • ต้น เป็นไม้พุ่มขนาดกลางและเป็นทั้งไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เรือนยอดมีลักษณะโปร่ง ค่อนข้างกว้าง รูปร่างไม่แน่นอน และมีความสูงของต้นอยู่ประมาณ 8-10 เมตร ลักษณะของต้นและกิ่งก้านเกลี้ยง ไม่มีขน หรืออาจจะมีขนเล็กน้อยตามกิ่งอ่อน ลำต้นทั้งบิดและคดงอ ส่วนโคนต้นจะเป็นพูต่ำ ๆ ตรงเปลือกต้นด้านนอกเป็นสีน้ำตาลแดง แตกเป็นสะเก็ด ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีเหลืองอ่อน และแก่นกลางเป็นสีน้ำตาลเขียว มีการผลัดใบหมดก่อนที่จะผลิดอก เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ต้องการน้ำระดับปานกลางจนถึงมาก และชอบแสงแดดตลอดทั้งวัน สามารถพบได้ตามบริเวณป่าโปร่งของประเทศที่มีอากาศร้อน มีเขตการกระจายพันธุ์มาจากในอินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยสามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณทั่วไปทางภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ยกเว้นทางภาคใต้ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 200 – 500 เมตร
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปรี รูปขอบขนาน หรือเป็นรูปหอกกลับ ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลมออกมา ตรงโคนใบแคบแหลมหรือสอบเรียว ส่วนขอบใบจะเรียบไม่มีหยักหรือเป็นคลื่น ใบมีความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และความยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ใต้ท้องใบจะมีเส้นใบอยู่ประมาณ 3-6 คู่ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ส่วนเส้นใบย่อยเป็นแบบเส้นขั้นบันได เนื้อใบบางเกลี้ยง ไม่มีขน หรืออาจจะมีขนบ้างเล็กน้อย ก้านใบมีความยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ใบอ่อนจะมีขนและเป็นสีเขียวอ่อนใส ส่วนใบแก่จะเป็นสีเขียวเข้ม
  • ดอก จะออกดอกเป็นช่อรวมกันเป็นกระจุกอยู่ตามซอกใบหรือตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ มีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกมีสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อน และมีกลิ่นที่หอม มีขนขึ้นอยู่ประปราย มีกลีบดอกอยู่ประมาณ 5-7 กลีบ ตอนที่ดอกตูมขอบกลีบดอกจะประสานกันเป็นรูปทรงกระบอกยาว ส่วนกลีบรองกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานแคบ ๆ ตรงด้านนอกมีขนสีน้ำตาล และแยกแผ่ออกเป็นรูปกังหันในระดับเดียวกันประมาณ 5-6 แฉก มีขนาดประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร ส่วนโคนจะเชื่อมติดกันเป็นท่อรูปกรวย โดยกลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกจะมีความคล้ายกัน แต่ตัวกลีบดอกจะม้วนตัวโค้งกลับมาทางโคนก้านดอก ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ประมาณ 10-18 ก้าน ส่วนมากจะมีแค่ 12 ก้าน โคนก้านเกสรมีขนยาว ๆ ส่วนเกสรเพศเมียเกลี้ยง ไม่มีขน รังไข่เป็นรูปรี ภายในมีช่องเดียวและมีไข่อ่อนอยู่หนึ่งหน่วย และจะออกดอกเต็มต้นหลังจากการผลัดใบหมด โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม
  • ผล ออกผลเป็นกระจุก มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปรี ปลายผลมีกลีบรองกลีบดอกติดอยู่ ส่วนตรงกลางผลมีสันแข็ง ผลมีความกว้างประมาณ 0.9 เซนติเมตรและความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว แต่เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลจะไม่แตก แต่จะเป็นร่องตามยาวหลายร่อง (สัน) ผลมีเมล็ดเดี่ยวและมีเนื้อเยื่อสีแดง ๆ บาง ๆ หุ้มเมล็ดไว้อยู่ ผลมีรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม สามารถรับประทานได้ จะออกผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน

สรรพคุณของปรู

1. ผล มีรสร้อนเบื่อ มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ (ผล)[5]
1.1 แก้อาการจุกเสียดได้ (ผล)[2]
1.2 มีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ (ผล)
2. แก่นหรือเนื้อไม้ ตำรายาไทยใช้แก่นหรือเนื้อไม้เป็นยาบำรุงกำลัง (แก่น, เนื้อไม้)
2.1 ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (แก่น, เนื้อไม้)
3. เนื้อไม้ มีรสฝาดเฝื่อน สามารถใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงลำไส้ (เนื้อไม้)[5]
4. แก่น มีรสจืดเฝื่อน มีสรรพคุณช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (แก่น)
5. เปลือกต้น มีรสฝาด สามารถใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาบำรุงธาตุไฟ ปิดธาตุ (เปลือกต้น)
5.1 ใช้แก้หอบหืด แก้อาการไอ ไอหืด ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกต้น)
5.2 นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้อาการจุกเสียด แก้ท้องร่วง ลงท้อง ท้องเสีย ท้องเดิน (เปลือกต้น)
6. เปลือกราก สามารถนำมาต้มรับประทานเป็นยาแก้พิษ เป็นยาทำให้อาเจียน (เปลือกราก)[1]
6.1 ช่วยบำบัดอาการเป็นไข้และช่วยขับเหงื่อ ด้วยการใช้เปลือกรากนำมาต้มเป็นยารับประทาน (เปลือกราก)[1]
6.2 ใช้เปลือกรากต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาระบาย (เปลือกราก)[1]
6.3 ช่วยในการขับพยาธิ ด้วยการใช้เปลือกรากนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกราก)[1]
6.4 เปลือกรากสดนำมาตำให้ละเอียดหรือคั้นเอาแต่น้ำใช้ล้างแผล แก้โรคผิวหนัง (เปลือกราก)[1]

ผลข้างเคียงของสมุนไพรปรู

เมื่อรับประทานในปริมาณที่แพทย์แผนไทยแนะนำจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียใดๆ อย่างไรก็ตามการกินสมุนไพรชนิดนี้มากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงดังต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • นอนไม่หลับ
  • เบื่ออาหาร
  • รู้สึกไม่สบายท้อง

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นปรู

  • พบว่ามีสารอัลคาลอยด์อยู่หลายชนิด ได้แก่ anabasine, cephaeline, psychotrine เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ จึงควรมีการศึกษาทางพิษวิทยาของสารเหล่านี้ด้วย[2]
  • ลดความดันโลหิต เพิ่มความแรงของการบีบตัวของหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบบีบตัว ทำให้หลอดเลือดหดตัว มีฤทธิ์ลดการอักเสบ คลายกล้ามเนื้อมดลูก ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย โปรโตซัว ต้านยีสต์ และต้านมะเร็ง[6]

ประโยชน์ของปรู

1. ผล มีรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม สามารถใช้รับประทานได้[3]
2. เนื้อไม้ของต้น มีความเหนียวและมีลายที่สวยงาม จึงนิยมนำมาใช้ทำพานท้ายปืน ด้ามเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องประกอบเกวียน งานแกะสลัก และรวมไปถึงเครื่องเรือนต่างๆ[4],[6]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ป รู”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 449-450.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ป รู”. หน้า 40.
3. สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนชลบุรีสุขบท. “ป รู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.skb.ac.th/~botanical/. [20 เม.ย. 2014].
4. หนังสือสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4. “ป รู๋”. (วีระชัย ณ นคร).
5. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ป รู๋, ป รู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [20 เม.ย. 2014].
6. สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. “ป รู”. อ้างอิงใน: สมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทย. ไม้และของป่าบางชนิดในประเทศไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: uttaradit.uru.ac.th/~botany/. [20 เม.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://indiabiodiversity.org/observation/show/17183220