กะทือพิลาส ไม้ประดับดอกสีสัน ช่วยรักษาอาการตาแดง มะเร็งลำไส้ใหญ่

0
1666
กะทือพิลาส ไม้ประดับดอกสีสัน ช่วยรักษาอาการตาแดง มะเร็งลำไส้ใหญ่
กะทือพิลาส ช่อดอกเรียงซ้อนกันแน่นเป็นช่อสีเหลืองคล้ายรังผึ้ง ต้นแก่อาจจะมีสีส้มหรือสีแดง
กะทือพิลาส ไม้ประดับดอกสีสัน ช่วยรักษาอาการตาแดง มะเร็งลำไส้ใหญ่
กะทือพิลาส ช่อดอกเรียงซ้อนกันแน่นเป็นช่อสีเหลืองคล้ายรังผึ้ง ต้นแก่อาจจะมีสีส้มหรือสีแดง

กะทือพิลาส

กะทือพิลาส (Beehive ginger) มีดอกสีเหลืองทรงกระบอกโดดเด่นอยู่บนต้นและอาจจะมีสีแดงเมื่อต้นแก่ มีสีสันสดใสจึงนิยมนำมาเป็นไม้ประดับตกแต่ง ส่วนมากมักจะพบอยู่ทางภาคใต้ในประเทศไทยซึ่งชาวบ้านทางภาคใต้จะนิยมนำยอดอ่อนมาต้มกินเป็นผักแกล้ม กะทือพิลาสเป็นพืชพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมักจะพบตามพื้นที่เฉพาะจึงทำให้คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก นอกจากลักษณะที่โดดเด่นแล้วยังมีสรรพคุณทางยาต่อร่างกายด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกะทือพิลาส

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber spectabile Griff.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Beehive ginger” “Ginger wort” “Malaysian ginger”
ชื่อท้องถิ่น : มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “ไพลเหลือง ดาเงาะ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

ลักษณะของกะทือพิลาส

กะทือพิลาส เป็นพืชล้มลุกที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยมักจะพบทางภาคใต้ โดยมักจะขึ้นในป่าดงดิบ ริมลำธารหรือตามชายป่า
เหง้า : มีเหง้าอยู่ใต้ดิน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปหอก
ดอก : ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองคล้ายรังผึ้ง เมื่อแก่อาจจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดง ดอกเป็นรูปทรงกระบอกแข็ง ช่อดอกเกิดจากใบประดับเรียงซ้อนกันแน่น กลีบรองดอกเป็นสีครีม ดอกย่อยเป็นรูปกรวย มีดอกขนาดเล็กสีม่วงดำจุดสีเหลืองสลับกันออกจากซอกของใบประดับซึ่งมีลักษณะคล้ายกับผีเสื้อลายจุดเกาะอยู่บนช่อดอก มักจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปวงรี ติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม

สรรพคุณของกะทือพิลาส

  • สรรพคุณจากกะทือพิลาส เป็นยารักษาอาการตาแดง เป็นยาแก้ปวดศีรษะและปวดหลัง มีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ มีเอนไซม์ Zerumbone synthase ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
  • สรรพคุณจากเหง้า
    – ช่วยขับลม บรรเทาอาการปวดท้อง แก้ไอ แก้หืดและบำรุงน้ำนมสำหรับหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร ด้วยการนำมาต้มแล้วดื่ม

ประโยชน์ของกะทือพิลาส

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นอาหารพื้นเมืองของทางภาคใต้ซึ่งนิยมนำยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักลวกกินกับน้ำพริก
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อตัดดอกขายหรือนำมาใส่แจกันประดับตกแต่ง

กะทือพิลาส ได้ชื่อว่าเป็นพรรณไม้เด่นแห่งฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงดอกบานพอดี ในประเทศไทยสามารถไปชมกะทือพิลาสได้ที่สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มีดอกสีเหลืองหรือสีแดงโดดเด่นและสวยงามเหมาะที่จะเป็นไม้ประดับตกแต่ง มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาอาการตาแดง เป็นยาแก้ปวดศีรษะและปวดหลัง รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และบรรเทาอาการปวดท้อง นอกจากนั้นยังเป็นพืชที่นิยมทานของชาวภาคใต้อีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “กะทือพิลาส”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [24 ส.ค. 2015].
Christophe Wiart. (2012). “Medicinal Plants of China, Korea, and Japan: Bioresources for Tomorrow’s Drugs and Cosmetics”. CRC Press, pp. 70-71.
FORSYTH, Holly Kerr. (2007). “The Constant Gardener: A Botanical Bible”. Melbourne, Miegunyah Press, p. 100.
E. A. Weiss. (2002). “Spice Crops”. CABI, p. 338.
Beng Jin Chee. (September 2010). “The spectacular ginger : Zingiber spectabile Griffith”. Malaysian Naturalist, pp. 12-13.
N K Dubey. (2011). “Natural Products in Plant Pest Management”. CABI, p. 69.
Sadhu SK, Khatun A, Ohtsuki T, Ishibashi M.. (2007). “First isolation of sesquiterpenes and flavonoids from Zingiber spectabile and identification of zerumbone as the major cell growth inhibitory component.”. Natural Product Research, 21 (14): 1242–1247.