มะแว้งนก
มะแว้งนก เป็นวัชพืชที่พบได้ตามที่รกร้างทั่วไป มีผลแก่เป็นสีม่วงดำหรือสีดำ ทั้งต้นมีรสขม เป็นยาเย็นที่มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ เป็นยาของชาวเขาเผ่าอีก้อ มูเซอและชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่ ทว่าการนำมาใช้ก็ควรระวังเพราะบางส่วนก็เป็นพิษต่อร่างกายได้ มักจะนำส่วนของผลสุกและยอดอ่อนมาใช้รับประทาน มะแว้งนกเป็นต้นที่ดีต่ออวัยวะของผู้หญิงเป็นอย่างมาก
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะแว้งนก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum nigrum L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Black nightshade” “Common nightshade” “Deadly nightshade”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “หญ้าต้มตอก หญ้าต้อมต๊อก” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ทุมขัน” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “ข่าอม” จังหวัดสงขลาเรียกว่า “ประจาม” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “แว้งนก” จังหวัดกรุงเทพมหานครและคนจีนเรียกว่า “ออเตียมกุย โอเตียมกุย” จีนกลางเรียกว่า “หลงขุย ขู่ขุย” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “สะกอคระ” ชาวปะหล่องเรียกว่า “ด่อกะริ่ว” ชาวลัวะเรียกว่า “บ่ะดีด แผละแคว้ง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “น้ำใจใคร”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)
ลักษณะของมะแว้งนก
มะแว้งนก เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กอายุประมาณ 1 ปี เป็นวัชพืชที่พบได้ตามที่รกร้างทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ลำต้นกลมมน เป็นเหลี่ยมสัน หรือเป็นร่องและมีขนปกคลุมเล็กน้อย แตกกิ่งก้านมาก
ราก : รากมีลักษณะกลมยาวเป็นสีเหลืองอ่อน แตกรากฝอยมาก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปขอบขนาน รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบเป็นคลื่นหยักเล็กน้อย เว้าเป็นพูตื้นหรือหยักซี่ฟันเป็นแฉกที่บริเวณโคนใบ ผิวใบเรียบหรือมีขน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม โดยจะออกบริเวณเหนือซอกใบ ช่อดอกมีดอกย่อยขนาดเล็กประมาณ 4 – 10 ดอก ดอกมีลักษณะเป็นรูประฆัง กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กมาก กลีบดอกเป็นสีขาว 5 กลีบ ใจกลางดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 อัน ก้านดอกมีขนปกคลุมเล็กน้อย
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำหรือสีดำ
สรรพคุณของมะแว้งนก
- สรรพคุณจากรากและผล
– บำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย โดยชาวเขาเผ่าอีก้อและมูเซอนำรากและผลมาต้มกับน้ำกินเป็นยา - สรรพคุณจากผลสุก ช่วยทำให้เจริญอาหาร เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาแก้ไอ ช่วยแก้อาการท้องเสีย เป็นยารักษากลาก ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
– รักษาเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการนำผลแห้งมาบดให้เป็นผง ตวง 1 – 2 ช้อนชา ในน้ำร้อน 1 แก้ว ใช้ดื่มเช้าและเย็น - สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยารักษามะเร็งเต้านม รักษามะเร็งปากมดลูก ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ทำให้เลือดให้เย็น แก้ไข้หวัดตัวร้อน แก้ไข้หวัดแดด ช่วยแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ไอร้อนในปอด ช่วยแก้อาการหอบไอ แก้ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ ช่วยมุตกิดตกขาวของสตรี ช่วยรักษาอาการบวมน้ำ เป็นยาแก้พิษ แก้บวม เป็นยารักษาครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดร้ายแรง
– แก้ไข้หวัดแดด ด้วยการนำต้นสด 35 กรัม มาต้มกับน้ำใส่น้ำตาลแดงเล็กน้อยทานเป็นยา
– แก้หลอดลมอักเสบ แก้อาการไอ ด้วยการนำต้นสด 35 กรัม กิ๊กแก้ 10 กรัม ชะเอมเทศ 3 กรัม มาต้มกับน้ำทานติดต่อกัน 10 วัน
– ขับเสมหะ แก้อาการจุกเสียด ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
– แก้ต่อมเต้านมอักเสบเฉียบพลัน ด้วยการนำต้นสด 70 กรัม มาต้มกับน้ำทานวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 3 – 7 วัน
– แก้ฝีในท้อง แก้ท้องมาน ด้วยการนำต้นสดครั้งละ 500 กรัม มาต้มกับน้ำทานวันละ 2 ครั้ง
– แก้ผื่นคันเรื้อรัง แก้ฝีหนอง แก้พิษงู ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มแล้วใช้น้ำชะล้างผิวหนัง - สรรพคุณจากดอก เป็นยาแก้ไอ
- สรรพคุณจากราก
– แก้ไอ โดยชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่นำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากผลและใบ เป็นยาขับปัสสาวะ
– รักษาการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน โดยชาวโอรัง อัสลีในรัฐเประ ประเทศมาเลเซียนำผลและใบมาเคี้ยว - สรรพคุณจากใบ ช่วยรักษาอาการบวมน้ำ เป็นยารักษาแผล รักษาโรคไขข้ออักเสบ
- สรรพคุณจากผล
– รักษาแผล รักษาแผลที่ถูกทากดูด ด้วยการนำผลมาตำคั้นเอาน้ำทาหรือพอกแผลที่ถูกทากดูด
ประโยชน์ของมะแว้งนก
เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลสุกไม่มีพิษจึงใช้รับประทานได้ ยอดอ่อนนำมาต้มทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก
ข้อควรระวังของมะแว้งนก
ผลดิบ มีสารพิษ “Slanine” ซึ่งออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร หลายชั่วโมงต่อมาจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ปากและคอหอย แล้วจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้องและท้องร่วง อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น อาจมีเหงื่อออก ปวดศีรษะ น้ำลายไหลมากกว่าปกติ หายใจติดขัดและกล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย อาการขั้นสุดท้าย คือ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เนื่องจากลำไส้เป็นแผล ปัสสาวะเป็นเลือดเนื่องจากไตชำรุด ชักกระตุก หมดสติ และมีอุณหภูมิลดต่ำลง
มะแว้งนก มีส่วนของผลสุกที่ใช้รับประทานได้ ส่วนของยอดอ่อนนำมาต้มรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ทั้งต้นมีรสขม เป็นยาเย็นที่มีพิษเล็กน้อย ซึ่งออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ มะแว้งนกมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน รักษามะเร็งเต้านม แก้ต่อมเต้านมอักเสบเฉียบพลัน รักษามะเร็งปากมดลูก แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ช่วยมุตกิดตกขาวของสตรี รักษาเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือดและบำรุงร่างกายได้
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะแว้งนก”. หน้า 199.
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “หญ้าต้อมต๊อก”. หน้า 161.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “มะแว้งนก”. หน้า 458
ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “หญ้าต้อมต๊อก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [01 พ.ย. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “มะแว้งนก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com. [01 พ.ย. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “มะแว้งนก”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [01 พ.ย. 2014].
“Ethnomedical survey of plants used by the Orang Asli in Kampung Bawong, Perak, West Malaysia“. (Anbu Jeba Sunilson John Samuel, Anandarajagopal Kalusalingam, Dinesh Kumar Chellappan, Rejitha Gopinath, Suraj Radhamani, Hj Azman Husain, Vignesh Muruganandham, Proom Promwichit).
หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งตับของสารสกัด solamargine จากหญ้าต้มต๊อก”. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [01 พ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/