กระทงลาย
กระทงลาย (Black oil plant) เป็นไม้เลื้อยยอดนิยมในประเทศอินเดีย ซึ่งมักจะนำส่วนต่าง ๆ ของต้นกระทงลายมาใช้เป็นยา ส่วนในประเทศไทยเป็นชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นเคยนักสำหรับบุคคลทั่วไป แต่สำหรับคนที่มีความรู้ด้านยาสมุนไพรจะรู้กันว่าเป็นพรรณไม้ที่มีสรรพคุณทางยาแทบทั้งต้น นอกจากจะเป็นยาสมุนไพรแล้วมักจะนำมาใช้ในรูปแบบของน้ำมันมากกว่าการนำไปใช้ในแบบอื่น ๆ
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระทงลาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Celastrus paniculatus Willd.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Black ipecac” “Black oil plant” “Black oil tree” “Celastrus dependens” “Climbing staff plant” “Climbing staff tree” “Intellect tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กระทงลาย กระทุงลาย โชด” ภาคเหนือและภาคอีสานเรียกว่า “มะแตก มะแตกเครือ มักแตก” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “นางแตก” มีชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “หมากแตก”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กระทงลาย (CELASTRACEAE)
ลักษณะของกระทงลาย
กระทงลาย เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ที่มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทางจีนตอนใต้ พม่า อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซียไปจนถึงออสเตรเลียและนิวแคลิโดเนีย ส่วนในประเทศไทยพบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ ป่าละเมาะหรือตามพื้นที่โล่ง
เปลือกต้น : เป็นสีน้ำตาลปนสีเทา ผิวขรุขระเล็กน้อย ตามกิ่งจะมีรูอากาศกระจายอยู่ทั่วไป
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน เป็นรูปวงรีหรือเป็นวงรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบเข้าหากัน ส่วนขอบใบหยักละเอียดเป็นฟันเลื่อย หลังใบเรียบ ท้องใบมีขนอยู่ประปราย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด เป็นดอกแบบแยกเพศ ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก มีสีขาวอมสีเหลือง กลีบดอก 5 กลีบและกลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ปลายกลีบดอกแยกออกเป็นแฉก มีลักษณะค่อนข้างกลมและมีขนขึ้นประปราย ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผล : ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเรียบและมีลักษณะเป็นพู 3 พู ที่ปลายผลมียอดเกสรเพศเมียติดอยู่ แต่พอผลแก่เต็มที่แล้วเกสรที่ปลายก็จะหลุดออก ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลแก่เป็นสีส้มปนเหลืองและแตกออกเป็น 3 ซีก
เมล็ด : ในแต่ละผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 3 – 6 เมล็ด ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปวงรีและมีเนื้อเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง
สรรพคุณของกระทงลาย
- สรรพคุณจากใบ แก้ไข้ลงท้องหรืออาการท้องเดิน อาจใช้ถอนพิษฝีได้
– ช่วยกระตุ้นประสาท ถอนพิษฝิ่น รักษาโรคบิด ด้วยการนำใบมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม - สรรพคุณจากเมล็ด แก้ไข้
– รักษาโรคปวดตามข้อหรือปวดตามกล้ามเนื้อ แก้โรคอัมพาต ด้วยการนำเมล็ดมารับประทานหรือพอก - สรรพคุณจากน้ำมันเมล็ด ช่วยขับเหงื่อ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความจำ รักษาโรคเหน็บชา
- สรรพคุณจากผล ช่วยบำรุงโลหิต แก้ลมจุกเสียด แก้พิษงู
- สรรพคุณจากแก่น รักษาวัณโรค
- สรรพคุณจากเปลือก แก้ไข้มาลาเรีย
– รักษาโรคบิด ด้วยการนำเปลือกต้นมาตำผสมกับตัวมดแดงและเกลือสำหรับรับประทานครั้งเดียว - สรรพคุณจากราก แก้ไข้มาลาเรีย แก้ไข้ลงท้องหรืออาการท้องเดิน
– แก้อาการปวดท้อง บำรุงน้ำนมของสตรีหลังการคลอดบุตร ด้วยการนำรากตากแห้งมาต้มผสมกับข้าวเปลือก 9 เม็ด แล้วดื่ม - สรรพคุณจากเถา แก้ไข้ลงท้องหรืออาการท้องเดิน
– บำรุงน้ำนมของสตรีหลังการคลอดบุตรในเวลาเรือนไฟ ด้วยการนำเถามาต้มหรือฝนเป็นยารับประทาน - สรรพคุณจากลำต้น
– ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ ด้วยการนำลำต้นมาต้มแล้วดื่ม
ประโยชน์ของต้นกระทงลาย
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนนำมาใช้ทำแกงใส่ไข่มดแดงหรือใช้ลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริก
2. สกัดเป็นน้ำมัน น้ำมันจากเมล็ดใช้เคลือบกระดาษกันน้ำซึม ทำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ในสมัยก่อนมีการใช้เมล็ดแก่บีบเอาน้ำมันสำหรับใช้จุดตะเกียงได้
กระทงลาย มักจะนำมาใช้สกัดเป็นน้ำมันทำเชื้อเพลิงและนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรบำรุงร่างกาย นิยมเรียกกันอีกอย่างว่ากระทุงลายหรือหมากแตก เป็นไม้เถาชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณโดดเด่นเลยก็คือ แก้โรคอัมพาต แก้ไข้ รักษาโรคบิดและบำรุงน้ำนมของสตรีหลังการคลอดบุตร
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “กระทงลาย (Krathong Lai)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 27.
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “กระทงลาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [01 ก.พ. 2014].
หนังสือพืชและอาหารสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). “กระทงลาย”. (อัปสร และคณะ).
หนังสือ Flora of Thailand Volume 10 Part 2.
มูลนิธิสุขภาพไทย. “หมากแตก ใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [01 ก.พ. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “กระทงลาย, มะแตก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [01 ก.พ. 2014].
หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. ราชบัณฑิตยสถาน.
Bhanumathy M. Harish MS. Shivaprasad HN. Sushma G (2010). “Nootropic activity of Celastrus paniculatus seed”. Pharmaceutical Biology 48 (3): 324–7.
ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “มะแตกเครือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [01 ก.พ. 2014].