ว่านกาบหอย

ว่านกาบหอย

ว่านกาบหอย หรือเรียกอีกอย่างว่า “ต้นกาบหอยแครง” เป็นต้นที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเม็กซิโกและคิวบา ส่วนของใบโดดเด่นเป็นรูปหอกสีเขียวสลับกับสีม่วง ดูสวยงามมาก จึงนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามสวน นอกจากนั้นยังใช้ประโยชน์ได้ในอุตสาหกรรม และเป็นส่วนประกอบในอาหาร ที่สำคัญเลยก็คือเป็นยาสมุนไพรยอดนิยมของชาวอินเดีย ไต้หวัน อินโดจีนและมาเลเซีย ใบและดอกมีรสจืดชุ่ม เป็นยาเย็นที่ออกฤทธิ์ต่อตับและปอดได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของว่านกาบหอย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tradescantia spathacea Sw.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Boat – lily” “Oyster Lily” “Oyster plant” “White flowered tradescantia”
ชื่อท้องถิ่น : คนกรุงเทพมหานครเรียกว่า “กาบหอยแครง ว่านหอยแครง” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “อั่งเต็ก ฮ่ำหลั่งเฮี๊ยะ” จีนกลางเรียกว่า “ปั้งหลานฮวา ปั้งฮัว”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักปลาบ (COMMELINACEAE)
ชื่อพ้อง : Rhoeo discolor (L’Hér.) Hance, Rhoeo spathacea (Sw.) Stearn, Tradescantia discolor L’Hér., Tradescantia versicolor Salisb.

ลักษณะของว่านกาบหอย

ว่านกาบหอย เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปีที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเม็กซิโก คิวบา และอเมริกากลาง
ลำต้น : ขึ้นเป็นกอ ไม่มีการแตกกิ่งก้าน ลำต้นอวบใหญ่
ใบ : ออกจากลำต้น เรียงเป็นวงซ้อนกันหลายชั้น เป็นใบเดี่ยวรูปหอกยาว หรือแกมขอบขนานปลายแหลม ปลายใบแหลม โคนใบตัดและโอบลำต้น ขอบใบเรียบ หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเป็นสีม่วงแดง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่โคนใบหรือซอกใบ มีทั้งช่อเดี่ยวและหลายช่อ แต่ละช่อประกอบไปด้วยใบประดับเป็นกาบ 2 กาบ สีม่วงแซมเขียว ลักษณะเป็นรูปหัวใจโค้ง มี โคนกาบทั้งสองโอบหุ้มดอกขนาดเล็กสีขาวที่อยู่รวมกันเป็นกระจุก ดอกมีกลีบเลี้ยงสีขาว 3 กลีบ เป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ลักษณะบางและใส กลีบดอก 3 กลีบ เป็นสีขาว ลักษณะรูปไข่ แผ่นกลีบดอกหนา ตรงใจกลางมีเกสรเพศผู้เป็นขนฝอย 6 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว มักจะออกดอกในช่วงฤดูร้อน
ผล : เป็นผลแห้ง เมื่อแตกจะแยกเป็น 2 – 3 แฉก ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย มีขนเล็กน้อย ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก

สรรพคุณของว่านกาบหอย

  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อตับและปอด ช่วยแก้บิด ถ่ายเป็นเลือด ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้คุดทะราด แก้กลาก
    – ทำให้เลือดเย็น แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้เจ็บคอ แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นเลือด ช่วยแก้อาการฟกช้ำ แก้ฟกช้ำภายในเนื่องจากการพลัดตกจากที่สูง แก้ช้ำจากการหกล้มฟาดถูกของแข็ง ด้วยการนำใบสด 3 ใบ มาต้มผสมกับน้ำตาลกรวดดื่มเป็นยา
    – แก้ไข้ตัวร้อน ด้วยการนำใบแก่ 10 – 15 ใบ มาต้มกับน้ำจนเดือดแล้วเอาใบออก เติมน้ำตาลกรวด แล้วดื่มเป็นยา
    – ตำรายาแก้ไอร้อนในปอด แก้อาการไอเป็นเลือด ด้วยการนำใบ 10 กรัม มาต้มกับฟัก ใส่น้ำตาลกรวดเล็กน้อย ใช้ทาน
    – แก้กรดไหลย้อน ด้วยการนำใบ ใบเตยสด อย่างละเท่ากัน มาต้มกับน้ำจนเดือด ใช้ดื่มต่างน้ำทั้งวัน
    – แก้ต่อมน้ำเหลืองบวม รักษาโรคผิวหนัง แก้โรคเท้าช้าง โดยชาวอินเดียนำใบผสมกับน้ำมันงา ใช้เป็นยาพอก
    – แก้โรคผิวหนัง แก้ผื่นคัน ช่วยป้องกันมือและเท้าเน่าเปื่อย ที่เกิดจากการทำนา ด้วยการนำใบมาคั้นเอาน้ำทาบริเวณมือและเท้า ปล่อยให้แห้งแล้วค่อยลงไปทำนา
  • สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้บิด ถ่ายเป็นเลือด แก้อาการตกเลือดในลำไส้ ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นยาห้ามเลือด เป็นยาพอกแผล พอกมีดบาด แก้บวม
    – แก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการนำดอก 10 กรัม มาต้มกับน้ำทาน
    – แก้หวัด แก้ไอ แก้ไอเนื่องจากหวัด ช่วยแก้เสมหะมีเลือด แก้บิดจากแบคทีเรีย ด้วยการนำดอก 20 – 30 ดอก มาต้มกับน้ำทาน
    – ช่วยขับเสมหะ แก้ไอแห้ง ด้วยการนำดอกมาต้มกับเนื้อหมูทานเป็นยา
    – แก้บิด ด้วยการนำดอก 120 กรัม น้ำตาล 30 กรัม มาต้มกับน้ำกินตอนอุ่น ๆ
  • สรรพคุณจากใบและราก ทำให้อาเจียน เป็นยาถ่าย
  • สรรพคุณจากต้น แก้ริดสีดวงทวาร
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาบำรุงตับและม้ามพิการ

ประโยชน์ของว่านกาบหอย

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวอินเดียและชวานำใบอ่อนมาปรุงเป็นอาหาร ใช้ทำน้ำดื่มหรือทำไวน์ ทำน้ำว่านกาบหอยแครง
2. ปลูกผม ช่วยทำให้ผมดกดำ ช่วยแก้ผมหงอกก่อนวัย ด้วยการนำใบมาปิ้งให้แห้ง บดให้เป็นผงผสมกับน้ำมัน หรือใช้น้ำคั้นจากต้นเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันงา แล้วนำมาทาศีรษะ
3. ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า ใช้ร่วมกับผลมะเกลือย้อมผ้า ทำให้ผ้าสีติดทนดี
4. ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ตามสวนสนาม โคนต้นไม้ขนาดใหญ่ ปลูกใส่กระถาง
5. ใช้ในการเกษตร แก้วัวมีบาดแผลเลือดออก ฟกช้ำ

ว่านกาบหอย เป็นต้นที่มีจุดเด่นอยู่ที่ส่วนของใบ ทั้งในด้านการใช้ภายนอกในการให้ความงามและการนำมาประยุกต์ใช้สอยต่าง ๆ รวมถึงเป็นส่วนที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารด้วย ว่านกาบหอยมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของดอกและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยแก้บิด บำรุงตับและม้าม เป็นยาห้ามเลือด แก้กรดไหลย้อน แก้ไอร้อนในปอดและแก้ต่อมน้ำเหลืองบวมได้ เป็นยาเย็นที่ดีจึงช่วยดับพิษร้อนในร่างกายได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ว่านกาบหอย”. หน้า 506.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ว่านกาบหอยใหญ่”. หน้า 179.
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ว่านกาบหอย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [02 มิ.ย. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 7 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). “ว่านกาบหอย”. อ้างอิงใน: หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรจีน ของประเทศจีน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [02 มิ.ย. 2014].
ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “ว่านกาบหอยแครง ใบสวยมีสรรพคุณ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [02 มิ.ย. 2014].
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กาบหอยแครง”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [02 มิ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
https://motherandsriaurobindo.in/The-Mother/spiritual-significance-of-flowers/divine-presence/
Tradescantia spathacea (Rhoeo spathacea)