เลี่ยน

เลี่ยน

เลี่ยน เป็นพืชในวงศ์กระท้อนที่เป็นไม้ยืนต้นสูงผลัดใบขนาดเล็กและใหญ่ มักจะพบตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณ ดอกเป็นสีขาวอมม่วง มีกลิ่นหอมเย็นอ่อน ๆ จึงนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับบริเวณบ้านและสวน ส่วนต่าง ๆ ของต้นนำมาใช้ทำประโยชน์ได้หลายด้าน ทั้งในด้านการย้อมผ้า ไล่แมลง เป็นความเชื่อของคนโบราณ อีกทั้งยังนำยอดและใบอ่อนมายางไฟพอสลดเพื่อลดความขมใช้ทานเป็นผักได้ด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเลี่ยน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melia azedarach L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Bastard cedar” “Bead tree” “Chaina tree” “Chinaball tree” “Persian lilac” “White cedar”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “เลี่ยนใบใหญ่ เคี่ยน เลี่ยน เกษมณี” ภาคเหนือเรียกว่า “เกรียน เคี่ยน เฮี่ยน” คนทั่วไปเรียกว่า “เลี่ยนดอกม่วง” ชาวลัวะเรียกว่า “ลำเลี่ยน” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “โขวหนาย” จีนกลางเรียกว่า “ขู่เลี่ยน ขู่เลี่ยนซู่”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กระท้อน (MELIACEAE)

ลักษณะของต้นเลี่ยน

ลำต้น : แตกกิ่งก้านโปร่งบาง แผ่กว้าง โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่องตามยาวตื้น มีรูขนาดเล็กอยู่ทั่วไป กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว กิ่งแก่เป็นสีม่วง
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงเวียนสลับกัน หรือออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีใบย่อย 3 – 5 ใบ เป็นรูปไข่หรือรูปวงรีกึ่งขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเกลี้ยง บนใบเป็นสีเขียวเข้ม ด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีขาวอมม่วง มีกลิ่นหอมเย็นอ่อน กลีบดอก 5 – 6 กลีบ เป็นรูปขอบขนาน ก้านเกสรเพศผู้มีสีม่วงเข้มติดกันเป็นหลอด กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 – 6 แฉก
ผล : ผลมีลักษณะกลมวงรี ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลสุกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลเหลือง ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยวสีน้ำตาล

สรรพคุณของเลี่ยน

  • สรรพคุณจากต้น เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงร่างกายให้แข็งแรง ช่วยทำให้เจริญอาหาร ทำให้ผิวหนังดำเกรียมแล้วลอกเป็นขุย ช่วยแก้โรคเรื้อน
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยบำรุงธาตุไฟในร่างกาย ช่วยขับระดูของสตรี เป็นยาฝาดสมาน เป็นยาแก้ปวด แก้เมื่อย
  • สรรพคุณจากใบและดอก แก้อาการปวดศีรษะ แก้ปวดประสาท
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาทำให้อาเจียน เป็นยาแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน แก้เชื้อราบนหนังศีรษะ แก้น้ำกัดเท้า แก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน แก้ผดผื่นคัน เป็นยารักษาเหา
    – ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำแล้วใช้บ้วนปาก
    – เป็นยาเย็นจัดที่ออกฤทธิ์ต่อลำไส้ใหญ่ เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลม ถ่ายพยาธิปากขอ ถ่ายพยาธิตัวแบน ด้วยการนำเปลือกต้นสด 30 – 60 กรัม มาต้มกับน้ำทาน
    – แก้พยาธิตัวกลมในเด็ก ด้วยการนำเปลือกต้น 3 กรัม มาต้มกับน้ำทาน
    – แก้พยาธิปากขอ ด้วยการนำเปลือกต้น 600 กรัม น้ำ 3,000 มิลลิลิตร มาต้มให้เหลือ 600 มิลลิลิตร นำทับทิมจำนวน 25 กรัม น้ำ 300 มิลลิลิตร มาต้มให้เหลือ 120 มิลลิลิตร แล้วเอาส่วนที่เหลือทั้งสองชนิดมาผสมกัน
    – แก้หิด ด้วยการนำเปลือกต้นมาเผาเป็นเถ้า นำไปคุกผสมกับน้ำมันหมู แล้วใช้ทาบริเวณที่มีอาการ
  • สรรพคุณจากน้ำคั้นจากใบ เป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว เป็นยาขับพยาธิ ช่วยบำรุงโลหิต บำรุงประจำเดือนของสตรี
  • สรรพคุณจากยาง ช่วยแก้ม้ามโต
  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาแก้แผลพุพองที่หัว แก้แผลพุพองจากไฟไหม้หรือน้ำจากน้ำร้อนลวก เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อน แก้กุดถึง แก้โรคผิวหนังผื่นคัน เป็นยาฆ่าเหา
  • สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อนและกุดถัง
  • สรรพคุณจากผล เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อน แก้กุดถึง เป็นยาแก้ฝีคัณฑมาลา ช่วยแก้โรคเรื้อน เป็นยาฆ่าเหา
  • สรรพคุณจากเมล็ด น้ำมันใช้เป็นยาทาแก้ปวดข้อและปวดในกระดูก

ประโยชน์ของเลี่ยน

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดและใบอ่อนนำมาย่างไฟลดความขม แล้วทานเป็นผักแกล้มกับน้ำพริก
2. เป็นยาทำลายสัตว์ ใบมีประโยชน์ในการไล่แมลง ผลเป็นยาฆ่าแมลง ผลใช้เป็นยาเบื่อปลาได้
3. ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า ใบให้สีเขียวสามารถนำมาใช้ย้อมสีผ้าได้
4. ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื้อไม้นำมาใช้ในการสร้างบ้าน ใช้ทำโครงสร้างต่างของบ้าน ทำไม้อัด เยื่อกระดาษ ทำฟืน
5. ปลูกเป็นไม้ประดับ นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับบริเวณบ้านและสวน
6. ใช้ในการเกษตร ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน
7. เป็นความเชื่อ คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกจะช่วยทำให้เกิดความสามัคคี

เลี่ยน เป็นต้นที่มีมาตั้งแต่โบราณเพราะมีการนำมาใช้เป็นไม้ปลูกประดับเพื่อเสริมสิริมงคลให้กับบ้าน นอกจากนั้นยังนำมาใช้ทานเป็นผักได้ ส่วนของใบจะมีกลิ่นจึงนิยมใช้ไล่แมลง ที่สำคัญเป็นไม้ที่สวยงามจึงปลูกประดับบารมีบ้านได้ดี มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงร่างกายให้แข็งแรง ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้อาการปวดศีรษะ แก้ปวดประสาท และแก้โรคผิวหนังต่าง ๆ ได้ดี

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “เลี่ยน”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 170.
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เลี่ยน (Lian)”. หน้า 272.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เลี่ยน”. หน้า 703-705.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เลี่ยน”. หน้า 504.
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เลี่ยน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [01 มิ.ย. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Bastard cedar, Bead Tree, Bastard Cedar, China Tree, Chinaball Tree, Persian Lilac”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์,). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [01 มิ.ย. 2014].
ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “เลี่ยน ดอกหอมยอดอร่อยสรรพคุณดี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [01 มิ.ย. 2014].
ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เลี่ยน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [01 มิ.ย. 2014].
สมุนไพรไทยภูมิปัญญาชาวบ้านวิถีชีวิตชนบทไทย. “เลี่ยน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sopon.ac.th/sopon/lms/science52/herb2/www.thai.net/thaibarn/. [01 มิ.ย. 2014].
วิทยาลัยสารพัดช่างสกลนคร. “เลี่ยน (เกษมณี)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sknk-ptc.ac.th. [01 มิ.ย. 2014].
ไทยเกษตรศาสตร์. “เลี่ยนตำรับยาและวิธีใช้” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [01 มิ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง

Melia Azedarach


Melia azedarach L. 1753 (MELIACEAE)