ดอกดินแดง ช่วยแก้เบาหวาน แก้ไขกระดูกอักเสบ รักษาคอและต่อมทอนซิลอักเสบ
ดอกดินแดง เป็นพืช ดอกสีม่วงแดงอ่อน มีรสจืดเย็นและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น

ดอกดินแดง

ดอกดินแดง (Broomrape) เป็นดอกสีม่วงแดงอ่อนที่มีรสจืดเย็นและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น เป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ได้หลากหลายทั้งการใช้เป็นยาสมุนไพร เป็นสีผสมอาหารหรือนำมาทำเป็นขนม ดอกดินแดงมักจะขึ้นในป่าและเป็นดอกที่ไม่มีใบอยู่บนต้น ส่วนมากไม่ค่อยมีใครรู้จักและพบเห็นได้บ่อยนัก เป็นดอกที่มีการนำมาศึกษาและน่าสนใจในการวิจัยด้านเภสัชวิทยา

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของดอกดินแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aeginetia indica L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Broomrape”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคอีสานเรียกว่า “ปากจะเข้” จังหวัดเลยเรียกว่า “ข้าวก่ำนกยูง หญ้าดอกขอ” จังหวัดสงขลาเรียกว่า “สบแล้ง” ชาวกะเหรี่ยงและแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ซอซวย” จีนกลางเรียกว่า “เหย่กู” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “กะเปเส้ เพาะลาพอ ดอนดิน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ดอกดิน (OROBANCHACEAE)

ลักษณะของดอกดินแดง

ดอกดินแดง เป็นพืชจำพวกกาฝากที่มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตอนกลางของทวีปเอเชียมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ในประเทศไทยมักจะพบบริเวณที่ค่อนข้างชื้นในป่าเต็งรัง ซึ่งพบได้มากทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง โคนต้นมีกาบใบสีชมพูอ่อนห่อหุ้มอยู่ มีก้านเดียวแทงขึ้นมาบนรากไม้อื่น ต้นไม่มีการแตกกิ่งก้าน ปลายก้านออกดอกเป็นดอกเดี่ยว
ใบ : ไม่มีใบหรืออาจจะมีใบเป็นเกล็ดขนาดเล็กที่โคนกอซึ่งมองเห็นได้ยาก โดยจะออกเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นรูปสามเหลี่ยม
ดอก : เป็นดอกเดี่ยวสีม่วงแดงอ่อนรูปถ้วยคว่ำ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด โค้งงอ กลีบเลี้ยงเป็นสีเหลืองอ่อน กลีบดอกจะแตกออกเป็นแฉก 5 แฉก
ผล : ผลเป็นรูปกลมไข่มีสีน้ำตาล เมื่อแก่จะแตกออก
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลขนาดเล็กจำนวนมาก

สรรพคุณของดอกดินแดง

  • สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาชงแก้เบาหวาน เป็นยาเย็น เป็นยาขับพิษร้อน ช่วยถอนพิษไข้ ทำให้เลือดเย็น แก้อาการเจ็บคอ รักษาคออักเสบ รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ แก้อาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ แก้โรคผิวหนัง บรรเทาอาการแมลงสัตว์กัดต่อย แก้อาการปวดบวม
  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาชงกินแก้เบาหวาน
    – รักษาฝีบนผิวหนัง แก้ฝีภายนอก ด้วยการนำดอกสดมาตำผสมกับน้ำมันงาเล็กน้อยแล้วนำมาใช้พอก
    – แก้พิษงู ด้วยการใช้ดอกแห้ง 40 กรัม ชะมดเชียง 0.5 กรัม และตะขาบแห้ง 7 ตัว มาแช่ในน้ำมันงาประมาณ 15 วัน จึงสามารถนำมาใช้ทาบริเวณที่โดนพิษได้
  • สรรพคุณจากต้น
    – แก้ไขกระดูกอักเสบ ด้วยการใช้ต้นสด 30 กรัม มาตำคั้นเอาน้ำผสมกับผงชะเอม 5 กรัม หรือนำไปต้มกับน้ำแล้วดื่ม

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของดอกดินแดง

1. มีการศึกษาพิษต่อระบบภูมิคุ้มกันของดอกดินแดงโดยใช้สารสกัดจากพืชทั้งต้นด้วยเอทานอล (DDDP) และน้ำ (WDDDP) และส่วนเมล็ดสกัดด้วยบิวทานอล (SDDD) พบว่าสารสกัดจากดอกดินแดงมีฤทธิ์กระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน
2. มีการศึกษาพบว่าดอกดินแดงมีฤทธิ์ต้านพิษต่อตับ ต้านมะเร็ง กระตุ้น T-cell และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ในการรักษาอาการดังกล่าวข้างต้นได้

ประโยชน์ของดอกดินแดง

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกนำมาลวกหรือนึ่งรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ดอกสดหรือดอกแห้งนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นสีผสมอาหาร ใช้แต่งสีหน้าข้าวเหนียวให้เป็นสีม่วงดำที่เรียกว่า “หม่าข้าว” เมื่อนำดอกมาผสมกับข้าวเหนียวแล้วนำไปนึ่งแล้วทำให้ข้าวเป็นสีม่วงจะเรียกว่า “ข้าวก่ำ” ดอกนำมาโขลกผสมกับแป้งและน้ำตาลใช้ทำเป็นขนมดอกดินได้

ดอกดินแดง เป็นส่วนสำคัญของการนำมาใช้ผสมสีในข้าวเหนียวซึ่งจะให้สีม่วงหรือสีน้ำเงินเข้มเกือบดำที่มักจะพบวางขายเป็นส่วนมาก สีของกลีบดอกมีสารออคิวบิน (Aucubin) เมื่อถูกออกซิไดซ์จากออกซิเจนในอากาศแล้วจะเปลี่ยนสีดำ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้เบาหวาน แก้พิษงู แก้ไขกระดูกอักเสบ รักษาคออักเสบและต่อมทอนซิลอักเสบ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ดอกดินแดง”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 216.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “ดอกดินแดง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 111.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ดอกดินแดง”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [7 มี.ค. 2014].
อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. “ดอกดินแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.kanchanapisek.or.th/kp14/project_dev/project_area/Ratburi/index.php. [7 มี.ค. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ดอกดินแดง (ตราด) สบแล้ง (สงขลา) หญ้าดอกขอ (เลย) ปากจะเข้ (เหนือ) ซอซวย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)”. อ้างอิงใน: สารานุกรมพืชในประเทศไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [7 มี.ค. 2014].
สำนักบริหารพื้นที่อนรุักษ์ที่ 13 (สาขาลำปาง). “ดอกดินแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: lampang.dnp.go.th. [7 มี.ค. 2014].
ศูนย์ข้อมูลภาคเหนือ มหาวิทยาลัยพายัพ. “ดอกดิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:lib.payap.ac.th/webin/ntic/. [7 มี.ค. 2014].
วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. “ดอกดิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:th.wikipedia.org/wiki/ดอกดิน_(พืช). อ้างอิงใน: หนังสือเส้นทางขนมไทย. [7 มี.ค. 2014].
การศึกษาพิษวิทยาและผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของดอกดินแดง. (วิมลณัฐ อัตโชติ).
ชีวจิต. “ดอกดิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.cheewajit.com. [7 มี.ค. 2014].