โคลงเคลง เป็นยาบำรุงร่างกายชั้นดี ช่วยแก้ริดสีดวงทวารและแก้คอพอก
โคลงเคลง มีดอกเป็นสีม่วงอมชมพูเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกเป็นช่อแบบสมบูรณ์เพศ ต้นใช้รับประทานหรือเป็นยาสมุนไพรได้

โคลงเคลง

โคลงเคลง (Malabar gooseberry) มีดอกเป็นสีม่วงอมชมพูอย่างสวยงามอยู่บนต้น เป็นไม้ที่ไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยมากนัก สามารถนำส่วนของต้นมารับประทานหรือใช้เป็นยาสมุนไพรได้ ทั้งนี้เพราะความสวยงามและโดดเด่นของดอกจึงทำให้ต้นโคลงเคลงเริ่มเป็นที่นิยมในการปลูกเป็นไม้ประดับในปัจจุบัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของโคลงเคลง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melastoma malabathricum L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Malabar gooseberry” “Malabar melastome” “Melastoma” “Indian rhododendron” “Singapore rhododendron” “Straits rhododendron”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “อ้า อ้าหลวง” ภาคใต้เรียกว่า “เบร์ มะเหร มังเคร่ มังเร้ สาเร สำเร” จังหวัดตราดเรียกว่า “โคลงเคลงขี้นก โคลงเคลงขี้หมา” ชองและตราดเรียกว่า “มายะ” ชาวกะเหรี่ยงและกาญจนบุรีเรียกว่า “ซิซะโพ๊ะ” ชาวกะเหรี่ยงและแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ตาลาเด๊าะ” ชาวมลายูและปัตตานีเรียกว่า “กะดูดุ กาดูโด๊ะ” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “เหม่”
ชื่อวงศ์ : วงศ์โคลงเคลง (MELASTOMATACEAE)
ชื่อพ้อง : Melastoma malabathricum subsp. Malabathricum

ลักษณะของโคลงเคลง

โคลงเคลง เป็นไม้พุ่มที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มาเลเซียและออสเตรเลีย มักจะพบตามที่ลุ่ม ในพื้นราบที่ชุ่มชื้น ขอบป่าพรุไปจนถึงบนภูเขาสูง ในเมืองไทยมีอยู่ประมาณ 10 กว่าชนิด
ลำต้น : ลำต้นและกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาลแดง กิ่งเป็นเหลี่ยม ทุกส่วนของลำต้นมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ และสลับตั้งฉาก ใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบและโคนใบแหลม แผ่นใบค่อนข้างแข็ง เส้นใบย่อยเรียงแบบขั้นบันไดและไม่มีหูใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกเป็นสีม่วงอมสีชมพู มีถ้วยรองดอกปกคลุมด้วยเกล็ดแบนเรียบ ดอกเป็นช่อแบบสมบูรณ์เพศ ออกดอกได้ตลอดทั้งปีแต่จะมีมากในช่วงฤดูฝน
ผล : ผลมีลักษณะคล้ายลูกข่างและมีขนปกคลุม เนื้อในผลเป็นสีแดงอมสีม่วง เมื่อแก่เปลือกผลจะแห้งแล้วแตกออกตามขวาง
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

สรรพคุณของโคลงเคลง

  • สรรพคุณจากโคลงเคลง แก้อาการอาเจียนเป็นเลือด แก้คอพอก แก้อาการถ่ายเป็นเลือด
  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาระงับประสาท เป็นยาห้ามเลือดในคนที่เป็นริดสีดวงทวาร
  • สรรพคุณจากราก บำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงร่างกาย เป็นยาแก้มะเร็ง ดับพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงตับ ไตและดี เป็นยาแก้ปวด เป็นยาบำรุงหลังการคลอดบุตรของสตรี
  • สรรพคุณจากใบ แก้ริดสีดวงทวาร รักษาโรคระดูขาวของสตรี รักษาโรคโกโนเรียหรือโรคหนองในแท้ รักษาแผลไฟไหม้
    – กำจัดเชื้อราในช่องปากหรือลำคอ ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำหรือน้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาบ้วนปาก
    – รักษาโรคท้องร่วง โรคบิด ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
    – ป้องกันแผลเป็น ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำแล้วใช้ล้างแผล

ประโยชน์ของโคลงเคลง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนนำมารับประทานเป็นผักสดทั่วไป ใบนำมาใช้รูดปลาไหลและช่วยขัดเมือกได้ดี ผลสุกใช้รับประทาน
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ

โคลงเคลง เป็นยาพื้นบ้านในหลายพื้นที่ของโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยที่นำโคลงเคลงมารับประทาน นอกจากนั้นยังมีดอกสีม่วงชมพูสวยงามเหมาะแก่การปลูกประดับไว้ชมในสวนได้ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาระงับประสาท บำรุงร่างกาย แก้ริดสีดวงทวาร แก้คอพอก และแก้อาการอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด เป็นต้นที่มีสรรพคุณในหลายส่วนเหมาะสำหรับนำมาดื่มเป็นยาบำรุงได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “โคลงเคลง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 106.
สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “โคลงเคลง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [20 ก.พ. 2014].
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง. “โคลงเคลงขี้นก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.kmitl.ac.th. [20 ก.พ. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “เหม่ หรือ โคลงเคลง”. (อนงค์นาฏ ศรีบุญแก้ว). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [20 ก.พ. 2014].
ท่องไทยแลนด์ดอทคอม. “โคลงเคลง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thongthailand.com. [20 ก.พ. 2014].
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี. “โคลงเคลงขี้นก”. อ้างอิงใน : หนังสือไม้ดอกและไม้ประดับ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.skn.ac.th. [20 ก.พ. 2014].