เจตมูลเพลิงขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago zeylanica L. จัดอยู่ในวงศ์ PLUMBAGINACEAE เช่นเดียวกับเจตมูลเพลิงแดง
ชื่อสามัญ Ceylon leadwort, White leadwort ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ปิ๋ด ปี๋ ปี่ปีขาว ขาว (ภาคเหนือ) ปิดปิวขาว (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ตอชู ( กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ตอชูวา ตั้งชู้อ้วย (ม้ง) โก้นหลัวะ (ไทลื้อ) หนวดแมว (แต้จิ๋ว) แปะฮวยตัง (จีนกลาง) ไป๋ฮวาตัน ไป๋เสี่ยฮวา ป๋ายฮัวตาน
ลักษณะของเจตมูลเพลิงขาว
- ต้น มีการกระจายพันธุ์กว้างในเขตร้อน ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ โดยเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุได้หลายปี แตกกิ่งก้านมากกิ่งก้านมักทอดยาว ลำต้นตั้งตรงหรือพาดพันบนต้นไม้อื่น ส่วนกิ่งเอนลู่ลง ต้นมีความสูงได้โดยประมาณ 1-2 เมตร บ้างว่าสูงได้โดยประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นมีสีเขียวเข้ม กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเป็นร่องเหลี่ยม ผิวเรียบ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด โดยเป็นไม้ในที่ร่มรำไร ชอบความชื้นและที่แฉะ มักพบขึ้นตามป่าที่ราบ ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบทั่วไป
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามข้อ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก รูปกลมรี รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนาน ปลายใบจะแหลม ตอนปลายเป็นติ่ง โคนใบเว้าหรือเป็นรูปลิ่มหรือมน ส่วนขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างโดยประมาณ 3.8-5 เซนติเมตรและยาวโดยประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบบางและมีสีเขียวอ่อน
- ดอก ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โดยช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะเชิงลด ดอกย่อยมีหลายดอก แกนกลางและก้านช่อดอกจะมีต่อมไร้ก้าน (ส่วนเจตมูลเพลิงแดงจะไม่มี) ก้านมียางเหนียว กลีบดอกมีสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็กๆ ยาวโดยประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ รูปหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาวโดยประมาณ 0.7 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกแหลมหรือเป็นติ่ง ดอกมีเกสรเพศผู้สีม่วงน้ำเงิน ยาวโดยประมาณ 0.2 เซนติเมตร จำนวน 5 อัน และมีรังไข่ลักษณะเป็นรูปรี เป็น 5 เหลี่ยม ส่วนก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีลักษณะเป็นหลอดเล็กยาวโดยประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกมีสีเขียวมีต่อมน้ำยางเหนียวติดมือได้ ช่อดอกยาวได้โดยประมาณ 5-25 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวโดยประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวโดยประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตร ส่วนใบประดับย่อยมีลักษณะเป็นรูปแถบ ยาวโดยประมาณ 0.2 เซนติเมตร และมีต่อมอยู่หนาแน่น
- ผล ผลเป็นแบบแคปซูลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี ยาว กลม หรือเป็นรูปขอบขนาน ผลมีสีเขียวและมีขนเหนียวรอบผล แตกได้เป็น 5 ปาก มีร่องตามยาว
สรรพคุณของเจตมูลเพลิงขาว
1. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)
2. รากใช้เข้ายาบำรุงโลหิต (ราก)
3. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก ลำต้น)
4. รากใช้เข้ายาช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)
5. ช่วยขับโลหิตที่เป็นพิษ (ราก)
6. ดอกใช้เป็นยาแก้โรคตา (ดอก)
7. ดอกมีรสร้อน ใช้แก้โรคหนาวเย็น (ดอก)
8. ช่วยกระจายเลือดลม ช่วยลดการอุดตันในเส้นเลือด (ราก ทั้งต้น)
9. ใบมีรสร้อน แก้ลมและเสมหะ แก้ลมในกองเสมหะ (ใบ)
10. ช่วยขับโลหิตที่เป็นพิษ (ราก)
11. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำสะอาดดื่มช่วยทำให้อาเจียน (ราก ลำต้น)
12. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก ลำต้น)
13. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำสะอาดดื่มเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก ลำต้น) หรือจะใช้ใบเป็นยาแก้โรคมาลาเรียก็ได้เช่นกัน โดยใช้ใบสดประมาณ 8-9 ใบ นำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกตรงข้อมือทั้งสองข้างตรงบริเวณชีพจร โดยให้พอกก่อนที่จะเกิดอาการสักโดยประมาณ 2 ชั่วโมง และให้พอกไปจนกระทั่งบริเวณที่พอกนั้นเย็น แล้วค่อยเอาออก (ใบ) ส่วนชาวม้งจะนำมาใบทุบแล้วหมกไฟให้ร้อน แล้วนำไปห่อด้วยผ้า ใช้ห่อมือห่อเท้าผู้ที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย ด้วยเชื่อว่าจะช่วยลดไข้ได้ (ใบ)
14. ช่วยขับเหงื่อ (ราก)
15. ใบช่วยขับเสมหะ (ใบ)
16. แก้อาการปวดกระเพาะ แน่นจุกเสียดท้อง (ราก ทั้งต้น)
17. หากเต้านมอักเสบ ให้นำใบสดมาตำแล้วเอาผ้าก๊อซห่อ ใช้พอกบริเวณที่เป็นจนหาย (ใบ)
18. ช่วยแก้อาการหาวเรอ (ราก)
19. ใบมีรสร้อน ช่วยแก้ปอดบวม (ใบ)
20. รากและทั้งต้นมีรสเผ็ดฝาด ใช้เป็นยาเย็นร้อนเล็กน้อย มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและหัวใจ ใช้เป็นยาขับลม (ราก ทั้งต้น) ตำรายาไทยรากมีรสร้อน ใช้เข้ายาแก้ลมในตัว (ราก) ช่วยขับลมในอก (ราก)
21. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ (ราก ลำต้น)
22. ช่วยแก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย (ราก ทั้งต้น)
23. ใบช่วยในการขับผายลม (ใบ) รากช่วยขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ (ราก)
24. ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ ราก) บ้างว่าใช้ทั้งต้น
25. รากใช้เป็นยาขับพยาธิ (ราก)
26. ใบนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้ทาหรือพอกเป็นยารักษาแผลสด ห้ามเลือด (ใบ)
27. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มจะช่วยทำให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น (ราก ลำต้น)
28. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ดอก ราก)
29. ต้นหรือลำต้นมีรสร้อน ใช้เป็นยาขับประจำเดือนหรือขับระดูเสียให้ตกไป (ต้น ราก) แก้ประจำเดือนไม่เป็นปกติ ประจำเดือนไม่มา แก้อาการปวดท้องเวลามีประจำเดือน (ราก ทั้งต้น) ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากเข้ายากับพริกไทย นำมาดองกับเหล้าดื่มเป็นยาขับประจำเดือน (แต่เจตมูลเพลิงแดงจะมีฤทธิ์แรงกว่า) ส่วนตำรายาจีนจะใช้ราก15 กรัม นำมาต้มกับเนื้อหมูรับประทานเป็นยาขับประจำเดือน (บ้างว่าใช้รากแห้ง 30 กรัมและเนื้อหมูแดง 60 กรัม) (ราก)
30. หากตับหรือม้ามโต ให้ใช้ทั้งต้น นำมาดองกับเหล้ารับประทานเช้าเย็น หรือจะนำต้นแห้งมาบดเป็นผง ผสมกับแป้งข้าวเหนียวทำให้เป็นยาลูกกลอนใช้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 1 เมล็ด (ขนาดเม็ดละโดยประมาณ 3-3.5 กรัม) เช้าเย็นก็ได้ (ทั้งต้น) หรือจะใช้รากนำมาดองกับเหล้ารับประทาน จะช่วยแก้อาการม้ามบวมได้ แต่ถ้าอาการหนักก็ให้นำใบสดมาตำให้ละเอียดคลุกกับข้าวเหนียวปั้นเป็นเม็ดขนาดพอดี แล้วนำไปนึ่งให้สุก ใช้รับประทานก่อนนอนและตื่นนอนครั้งละ 1 เม็ด (ราก ใบ)
31. ช่วยแก้ฝีบวมอักเสบ (ราก ต้น ทั้งต้น) หรือจะใช้ผงรากปิดพอกฝีก็ได้ (ผงราก) หรือจะใช้ใบสดนำมาตำพอกแก้ฝีบวมก็เช่นกัน หรืออีกวิธีให้นำใบสดมาตำแล้วเอาผ้าก๊อซห่อ ใช้เป็นยาพอกแก้ฝีบวม ฝีคัณฑสูตร (ใบ)
32. ใบและรากนำมาตำใช้พอกบริเวณที่โดนตัวบุ้งที่ทำให้เกิดอาการคัน (ใบ ราก)
33. ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก ทั้งต้น)
34. ต้นสดใช้ตำพอกรักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน รากใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง โรคผิวหนังบางชนิด กลากเกลื้อนและผื่นคัน (ต้น ทั้งต้น ราก) หรือจะใช้รากสดโดยประมาณ 1-2 ราก นำมาตำให้ละเอียด ผสมกับเหล้าบ้างก็น้ำสะอาดหรือน้ำมันพืชเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้กลากเกลื้อนก็ได้ แล้วนำส่วนที่ผสมนั้นไปพอกบริเวณที่เป็น (ราก) หรือจะใช้ผงรากนำมาทาแก้กลากเกลื้อนก็ได้เช่นกัน (ผงราก)
35. ใช้ใบสดและข้าวสวยอย่างละ 1 กำมือ ใส่เกลือเล็กน้อย นำมาตำเคล้ากันให้ละเอียด ใช้รักษาโรคผิวหนังหนาอันเนื่องมาจากการเสียดสีกันนาน ๆ โดยนำมาบริเวณที่เป็น (ใบ)
36. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำสะอาดดื่มเป็นยาแก้ปวดหลัง (ราก ลำต้น)
37. ใช้แก้อาการฟกช้ำ ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้แหลกคั่วกับเหล้า แล้วนำมาพอกบริเวณที่มีอาการฟกช้ำ และถ้ารู้สึกแสบร้อนแล้วจึงค่อยเอายาที่พอกออก (ต้น ทั้งต้น ราก) หรือจะใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอก หรือนำใบสดนำมาตำแล้วนำไปแช่ในเหล้าหรือผสมกับเหล้าเล็กน้อย ใช้พอกหรือทาบริเวณที่ฟกช้ำก็ได้เช่นกัน (ใบ)
38. ใช้รักษาไฟลามทุ่ง ด้วยการนำใบสดมาตำแล้วเอาผ้าก๊อซห่อ ใช้พอกบริเวณที่เป็นจนกระทั่งหาย (ใบ)
39. ช่วยแก้คุดทะราด (ราก)
40. ช่วยแก้ปวด แก้ปวดบวม (ราก, ทั้งต้น)[3] แก้อาการบวม (ราก)
41. รากใช้เป็นยาทาแก้อาการปวดตามข้อ เคล็ดขัดยอก ด้วยการใช้รากแห้งโดยประมาณ 1.5-3 กรัม นำมาต้มกับน้ำสะอาดหรือนำมาแช่ในเหล้า ใช้รับประทานวันละ 5 มิลลิเมตร วันละ 2 ครั้ง (ราก) บ้างว่าใช้ผงรากนำมาทาแก้อาการปวดข้อ (ผงราก) ช่วยขับลมชื้นปวดตามข้อ (ราก ทั้งต้น)
42. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย กระดูกหัก (เข้าใจว่าใช้ใบนำมาตำแล้วพอก)
43. ตำรายาไทยใช้รากเข้ายาแก้อาการปวดตัว (ราก)
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
1. สารที่พบได้แก่ Plumbagin, Hydroplumbagin, Sistosterol, Glucoside, 3-Biplumbagin, 3-Chloroplumbagin, Chitranone, Droserone, Elliptinone, Fructose, Glucose, Isozeylinone, Protease, Zeylinone เป็นต้น
2. สาร Plumbagin จากรากเจตมูลเพลิงขาวมีฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็ง ช่วยลดไขมันในเลือด และช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียสารสกัดจากรากมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
3. สาร Plumbagin มีกลิ่นเหม็นและมีรสเผ็ดขม หากนำมาใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง จะสามารถช่วยฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนังได้ และถ้านำสารชนิดนี้มาสกัดด้วยสารคลอโรฟอร์ม จะพบว่าสามารถช่วยต้านเชื้อ Staphylo coccus ได้
4. เจตมูลเพลิงขาวมีฤทธิ์ต่อการเต้นของหัวใจและมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้หัวใจหยุดเต้น หรือทำให้ประสาทสงบระงับ (ได้แก่พวกหนูตะเภา กระต่าย และกบ) หากใช้สารสกัด (Plumbagin) ในอัตราส่วน 0.1 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ฉีดเข้าที่ตัวของหนูหรือกระต่ายทดลอง พบว่าจะมีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาทส่วนกลางของสัตว์ทดลองให้ตื่นตัว แต่หากใช้ในอัตราส่วนมากจนเกินไป จะทำให้ประสาทส่วนกลางตายด้าน จนหมดความรู้สึก
5. สารสกัดจากรากมีฤทธิ์บีบมดลูกทำให้หนูแท้ง โดยมีฤทธิ์ต่อมดลูกของสัตว์ที่ตั้งท้อง หากใช้ในระดับปานกลางจะไปยับยั้งการบีบตัว และหากฉีดเข้าไปในหนูขาวทดลองจะทำให้แท้งได้ เพราะการทำงานของรังไข่จะผิดปกติไป และสาร Plumbagin ของเจตมูลเพลิงยังมีผลกระตุ้นมดลูกของหนูหรือกระต่ายทดลองที่กำลังตั้งท้อง ทำให้ตกเลือดอีกด้ว
6. สารสกัดจากด้วยแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ในการกำจัดเพลี้ย และจะมีฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรีย Mincrococcus pyogenes var. aureus, Mycobacterium phlei และ Salmonella typhi
7. มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตและหยุดการหายใจของกระต่าย หากนำสารสกัดเจตมูลเพลิงมาฉีดเข้าที่ตัวของหนูหรือกระต่ายในอัตราส่วน 10 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งการหายใจและความดันได้ โดยสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตลดลง เนื่องมาจากการขยายตัวของเส้นเลือดฝอยยับยั้งการเต้นของหัวใจให้ลดลง แต่ถ้าใช้ในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ในที่สุด
ข้อควรระวังในการใช้
1. เมื่อทาแล้ว ให้สังเกตด้วยว่าอาการของโรคผิวหนังดีขึ้นหรือไม่ หากมีอาการพุพองมากยิ่งขึ้นให้หยุดใช้ยา เพราะสมุนไพรชนิดนี้หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้เป็นแผลพุพองได้
2. สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้แท้งบุตรได้ เนื่องจากมีสารบางอย่างที่เหมือนกับเจตมูลเพลิงแดง ที่มีฤทธิ์ในการบีบมดลูกและทำให้แท้ง (แต่ฤทธิ์ของเขตมูลเพลิงขาวจะอ่อนกว่า)
ประโยชน์ของเจตมูลเพลิงขาว
นอกจากจะใช้เจตมูลเพลิงเป็นยาสมุนไพรแล้ว เรายังสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย เพราะมีดอกที่ดูสวยงาม มีอายุได้หลายปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อและปักชำ
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1 หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “เจตมูลเพลิงขาว (Chetta Mun Phloeng Khao)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 97. 2 หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เจตมูลเพลิงขาว”. หน้า 173.
3 หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “เจตมูลเพลิงขาว”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 184.
4 หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “เจตมูลเพลิงขาว”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 230-232.
5 ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เจตมูลเพลิงขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [2 มี.ค. 2014].
6 สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เจตมูลเพลิงขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [2 มี.ค. 2014].
7 โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “เจตมูลเพลิงขาว, ปิดปิวขาว”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [2 มี.ค. 2014].
8 สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เจตมูลเพลิงขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/. [2 มี.ค. 2014].
9 Clearing House Mechanism of Department of Agriculture (CHM of DOA). “เจตมูลเพลิงขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: chm.doa.go.th. [2 มี.ค. 2014].
10 สวนพฤษศาสตร์สายยาไทย. “เจตมูลเพลิงขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [2 มี.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://pza.sanbi.org/plumbago-zeylanica
2.https://www.plantslive.in/product/buy-plumbago-zeylanica-plant-online-india/