ต้นประยงค์
เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็ก ใบประกอบแบบขนนก ดอกออกเป็นช่อสั้นสีเหลืองกลิ่นหอมแรง ผลกลมสีเหลืองอ่อน เมื่อสุกสีแดงเข้มเกือบดำ

ประยงค์

ประยงค์ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ในประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยสามารถพบเจอได้ทั่วไปที่ตามป่าเบญจพรรณ ชื่อสามัญ Chinese rice flower ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Aglaia odorata Lour. อยู่วงศ์กระท้อน (MELIACEAE)[1] มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ประยงค์ใบใหญ่ (ภาคกลาง), ยม (ภาคเหนือ), ขะยม (ภาคเหนือ), หอมไกล (ภาคใต้), ขะยง (ภาคเหนือ), พะยงค์ (ภาคเหนือ), ประยงค์บ้าน (ภาคกลาง)[1],[6]

ลักษณะของประยงค์

  • ต้น เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็ก พุ่มทึบค่อนข้างกลม ต้นสูงประมาณ 2-3 เมตร จะสูงไม่เกิน 5 เมตร จะแตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น เปลือกลำต้นมีลักษณะเรียบและเป็นสีเทา ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง การเพาะเมล็ด ขึ้นดีทุกสภาพดินฟ้าอากาศ สามารถทนความแห้งแล้งได้ ควรปลูกในพื้นที่มีแสงแดดทั้งวัน เนื่องจากจะช่วยทำให้ทรงพุ่มสวยงาม[1],[5],[6]
  • ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบจะออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยอยู่ประมาณ 5 ใบ (บางใบอาจมี 3 ใบ) ใบเป็นรูปรี รูปไข่กลับ ที่ปลายใบจะมน ส่วนที่โคนใบจะแหลม ขอบใบเรียบเป็นนิดหน่อย ใบกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผิวใบมีลักษณะเป็นสีเขียวเข้ม ที่หลังใบเรียบ ส่วนที่ท้องใบก็เรียบเช่นกัน ก้านใบมีลักษณะแผ่ออกเป็นปีก[1],[2],[6]
  • ดอก ดอกออกเป็นช่อสั้น มีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ออกดอกที่ตามซอกใบที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อดอกจะประกอบด้วยดอกย่อย ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีมากกว่า 10 ดอก ดอกย่อยมีลักษณะเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมแรง มีกลีบดอกอยู่ 6 กลีบ กลีบดอกจะซ้อนกันไม่บาน เป็นรูปทรงกลมเล็กคล้ายกับไข่ปลาสีเหลือง ออกดอกได้ทั้งปี ส่งกลิ่นหอมอ่อนทั้งวัน[1],[2],[5],[6]
  • ผล เป็นรูปทรงกลมรี มีขนาดประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ผิวผลมีลักษณะเรียบและเป็นมัน ผลอ่อนจะเป็นสีเหลืองอ่อน ผลสุกเป็นสีแดงเข้มเกือบดำ มีเมล็ดสีน้ำตาลอยู่ในผล 1-2 เมล็ด[1],[2],[6]

สรรพคุณของประยงค์

1. ใบกับก้านจะมีรสเฝื่อน สามารถใช้เป็นยาพอกแก้แผลบวมฟกช้ำที่เกิดจากการหกล้ม ถูกกระทบกระแทก และยังสามารถช่วยรักษาแผลฝีหนองทั้งหลายได้ (ใบ, ก้าน)[1],[4]
2. สามารถช่วยแก้อัมพาตได้ (ดอก)[9]
3. สามารถใช้ใบเป็นยาสำหรับสตรีที่มีประจำเดือนมาผิดปกติได้ (ใบ)[5]
4. สามารถช่วยแก้ริดสีดวงในท้องได้ (ดอก)[9]
5. สามารถใช้ใบกับรากแก้โรคที่เกี่ยวกับทรวงอก แก้ไข้ อาการชักได้ (รากและใบ)[4]
6. สามารถช่วยลดอาการอึดอัดแน่นหน้าอกได้ (ดอก)[1]
7. สามารถช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือดได้ (ราก)[5]
8. สามารถรากช่วยแก้เลือด แก้กำเดาได้ (ราก)[5]
9. ดอกสามารถช่วยดับร้อน และช่วยแก้อาการกระหายน้ำได้ (ดอก)[1],[4]
10. นำยาชงที่ได้จากดอกมาใช้ดื่มแบบน้ำชาเป็นยาเย็น จะมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ไข้พุพองได้ (ดอก)[4]
11. ดอกจะมีรสเฝื่อนขมนิดหน่อย สามารถช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ แก้อาการเมาค้าง ทำให้หูตาสว่าง และช่วยทำให้จิตใจปลอดโปร่งได้ (ดอก)[1],[4]
12. ในประเทศฟิลิปปินส์นำใบกับรากมาต้มใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก, ใบ)[4]
13. สามารถใช้เป็นยาถอนพิษเบื่อ ยาเมาได้ (ราก)[1],[2],[3],[4]
14. สามารถช่วยเร่งการคลอดได้ (ดอก)[4]
15. สามารถช่วยรักษากามโรคได้ (ใบ)[5]
16. สามารถช่วยแก้ลมจุกเสียดได้ (ดอก)[9]
17. สามารถช่วยฟอกปอดได้(ดอก)[4]
18. สามารถใช้เป็นยากวาดเด็ก และช่วยแก้เสมหะด่างได้ (ดอก)[9]
19. รากจะมีรสเฝื่อนเย็น สามารถทานเป็นยาทำให้อาเจียนได้ (ราก)[1],[2],[3],[4]
20. สามารถช่วยแก้อาการไอได้ (ดอก)[1]
21. สามารถช่วยแก้ไอหืดได้ (ดอก)[9]
22. รากจะมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ไข้ (ราก)[5]
23. สามารถช่วยทำให้เจริญอาหาร และสามารถแก้ผอมแห้งแรงน้อยได้ (ราก)[5]

หมายเหตุ
การใช้ตาม [4] ถ้าใช้ใบ ดอก ก้านแบบแห้ง ให้นำมา 3-10 กรัม เอามาต้มกับน้ำดื่ม ถ้าใช้ภายนอกให้เอามาเคี่ยวให้ข้น ใช้ทาแผลบวมฟกช้ำ วิธีเก็บช่อดอก ใบให้เก็บช่วงฤดูร้อนตอนออกดอก แล้วก็เอามาตากแห้ง แยกเก็บเอาไว้ใช้[4]

ประโยชน์ของประยงค์

  • เป็นต้นไม้มงคล เชื่อกันว่าถ้าปลูกเป็นไม้ประจำบ้าน จะสามารถช่วยเสริมสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้ชีวิต ช่วยปกป้องคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง และสามารถช่วยเสริมดวงทางคงกระพันชาตรี เพิ่มเดชให้กับตัวเอง เพื่อความสิริมงคลให้ปลูกวันเสาร์เพื่อเอาคุณ ควรปลูกทางทิศตะวันตกบริเวณบ้าน
  • นำดอกแห้งมาอบเสื้อผ้าให้มีกลิ่นหอม ใช้แต่งกลิ่นใบชาซึ่งชาวจีนนิยมกันมาก[4],[6]
  • นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนในป่าอนุรักษ์ สวนหย่อม บ้าน ปลูกประดับรั้ว เพราะดอกจะมีกลิ่นหอมแรง จะออกดอกให้ชมบ่อย เป็นพันธุ์ไม้ที่มีใบสวยงาม ทรงพุ่มสวยงาม (ต้องคอยตัดแต่งกิ่งก้านสาขาบ้าง) แข็งแรงทนทาน ปลูกง่าย มีอายุยืน[4],[5],[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • สารสกัดที่ได้ด้วยน้ำจากกิ่งอ่อนจะมีฤทธิ์ที่ยับยั้งการเติบโตของผักโขม หญ้าข้าวนก[8]
  • พบสาร Odoratinol, (24 S) – Aglaitriol (24 R) – Aglaitriol, Aglaiol, อัลคาลอยด์ Odoratine, Aglaiondiol ในใบ [4]
  • มีฤทธิ์ยับยั้งการกินอาหารของแมลง จะมีฤทธิ์ที่สามารถฆ่าแมลง ฆ่าตัวอ่อนของแมลงได้ และเป็นพิษกับปลา สามารถช่วยยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase ช่วยเสริมฤทธิ์ยับยั้งเนื้องอก เป็นพิษกับเซลล์ (ไม่มีข้อมูลยืนยัน)
  • มีสารที่ออกฤทธิ์หลายชนิด อย่างเช่น สารในกลุ่ม Cyclopentabenzofuran เป็นอนุพันธ์ของสาร Triterpenes, Aglain, Rocaglamide, Lignanes, Odorine สารเหล่านี้นั้นจะมีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงวันผลไม้ได้[7]

ข้อควรระวังในการใช้ประยงค์

  • ห้ามให้สตรีที่มีครรภ์ดื่ม เนื่องจากอาจจะทำให้แท้งบุตร[4]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ประยงค์ (Prayong)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 169.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “ประยงค์”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 132.
3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ประยงค์”. หน้า 39.
4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ประยงค์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [19 เม.ย. 2014].
5. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ประยงค์”. (นพพล เกตุประสาท, ไพร มัทธวรัตน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [19 เม.ย. 2014].
6. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 273 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “ประยงค์ช่อน้อยลอยกลิ่นไกล”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [19 เม.ย. 2014].
7. การประชุมวิชาการนเรศวรวิจัยครั้งที่ 3 วันที่ 28-29 ก.พ. 2550. “ผลของสารสกัดจากใบประยงค์ต่อจำนวนเม็ดเลือด ของแมลงวันผลไม้ระยะตัวหนอน”. (กิตติ ตันเมืองปัก, พาคิน ฝั่งไชยสงค์, อาทิตย์ พิมมี).
8. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 41. “การเปรียบเทียบผลของสารสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของต้นประยงค์ด้วยน้ำที่มีต่อการงอกและการเจริญเติบโตของวัชพืชสองชนิด”. (ยิ่งยง เมฆลอย, วิรัตน์ ภูวิวัฒน์, จำรูญ เล้าสินวัฒนา, พัชนี เจริญยิ่ง). หน้า 311-317.
9. สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์,โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ประยงค์”. อ้างอิงใน: หนังสือต้นไม้ยาน่ารู้ (ธงชัย เปาอินทร์, นิวัตร เปาอินทร์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: uttaradit.uru.ac.th/~botany/. [19 เม.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.picturethisai.com/wiki/Aglaia.html