เบญจมาศน้ำเค็ม
เป็นพันธุ์ไม้ประเภทพุ่มกึ่งเลื้อย ใบเดี่ยว ออกดอกเป็นช่อ ดอกสีเหลือง ผลแห้งสีน้ำตาลเข้ม และมีขนแข็งขึ้นปกคลุม

เบญจมาศน้ำเค็ม

ต้นเบญจมาศน้ำเค็ม มักจะพบขึ้นได้ ในพื้นที่ชื้นแฉะ ตามริมน้ำ ลำธาร บริเวณใกล้น้ำตก หรือตามป่าชายเลน[1] ชื่อวิทยาศาสตร์ Wollastonia biflora (L.) DC.  ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Wedelia biflora (L.) DC. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1] ชื่ออื่น ๆ ผักคราดทะเล (กรุงเทพฯ)

ลักษณะของต้นเบญจมาศน้ำเค็ม

  • ต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทพุ่มกึ่งเลื้อยที่ทอดยอดคลุมหน้าพื้นดิน
    – ต้นมีความสูง: ประมาณ 1.5-5 เมตร
    – ลักษณะของลำต้น: ลำต้นมีลักษณะเป็นสัน โดยตามลำต้นจะมีขนขึ้นปกคลุมกระจายอยู่
    – โดยลำต้นจะแตกกิ่งก้านสาขาแผ่ออกเป็นวงกว้าง (แตกกิ่งไม่เป็นระเบียบนัก)
    – ต้นจะมีรากฝอยแตกออกที่บริเวณตามข้อรอบ ๆ ลำต้นที่อยู่เหนือพื้นดิน
    – ลำต้นมีลักษณะเป็นไม้เนื้ออ่อนและเรียวมีขนาดไม่ใหญ่
    – การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด โดยต้นเบญจมาศเป็นพืชที่ชอบอยู่ในพื้นที่ชุ่มชื้น และต้นชอบดินทรายและดินร่วนปนทราย
  • ใบ
    – ใบมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว
    – ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปไข่ ที่ปลายใบแหลม ตรงโคนใบสอบหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบมีรอยจักเป็นฟันเลื่อยในลักษณะที่เป็นแบบห่าง ๆ กัน
    – ใบที่อยู่ด้านบนนั้นจะมีขนาดเล็กกว่าใบที่อยู่ด้านล่างเสมอ
    – แผ่นใบมีสีเป็นสีเขียว โดยที่บริเวณโคนใบจะสามารถเห็นเส้นใบได้ชัดเจน 3 ใบ แล้วจะค่อย ๆ จางลงจรดจนถึงปลายใบ
    – เนื้อใบมีผิวสัมผัสที่ค่อนข้างนุ่มอุ้มน้ำ แต่ตามผิวใบจะมีขนแข็ง ๆ ขึ้นปกคลุมทั้งด้านหน้าและด้านหลังใบ[1]
    – ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 1-3.5 นิ้ว และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 3-5.5 นิ้ว
    – ก้านใบมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1-2 เซนติเมตร
  • ดอก
    – ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกช่อดอกที่บริเวณส่วนปลายของลำต้น แต่ส่วนใหญ่ที่มักพบเจอ ต้นมักจะออกเป็นดอกเดี่ยวมากกว่าออกเป็นช่อ
    – ดอกมีสีเป็นสีเหลือง กลีบดอกเป็นรูปท่อ กลีบดอกมี 5 กลีบ โดยที่ปลายกลีบดอกจะเป็นรอยจัก และดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ (มีทั้งเกสรเพศผู้และเพศเมียอยู่ภายในดอกเดียวกัน)
    – เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 0.5-1 นิ้ว
    – ออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[1]
  • ผล
    – มีลักษณะเป็นผลแห้ง ที่ปลายผลตัด ส่วนโคนผลเป็นรูปสอบแคบ มีสันอยู่ 3 สัน ผลมีสีเป็นสีน้ำตาลเข้ม และมีขนแข็ง ๆ ขึ้นปกคลุมอยู่ที่ด้านบนของผล[1]

สรรพคุณของต้นเบญจมาศน้ำเค็ม

1. ต้นนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับรับประทานเป็นยาแก้ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่นได้ (ทั้งต้น)[1],[2]
2. ทั้งต้นนำมาใช้ทำเป็นยาแก้ภาวะปัสสาวะเป็นเลือด (ทั้งต้น)[2]
3. ทั้งต้นนำมาใช้ทำเป็นยาสำหรับรักษาโรคผิวหนัง ช่วยแก้อาการคัน และลดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง (ทั้งต้น)[2]
4. ทั้งต้นนำมาใช้รักษาแผลเปื่อย (ทั้งต้น)[2]
5. ทั้งต้นนำมาใช้รักษาอาการช่องคลอดอักเสบ (ทั้งต้น)[2]
6. ต้นนำมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ (ทั้งต้น)[1]
7. ใบนำมาคั้นเอาแต่น้ำมาผสมกับน้ำนมวัว ใช้สำหรับรับประทานเป็นยาบำรุงของสตรีหลังคลอดบุตรได้ และใช้เป็นยาแก้ท้องผูก และยาถ่ายท้อง (ใบ)[1],[2]
8. ใบนำมาตำใช้สำหรับพอกรักษาโรคผิวหนังเป็นด่าง และภาวะเส้นเลือดขอดได้ (ใบ)[1]
9. ใบนำมาตำพอกใช้สำหรับรักษาแผลเรื้อรัง แผลฟกช้ำ แผลที่ถูกของมีคมบาด และบรรเทาอาการแมลงสัตว์กัดต่อย (ใบ)[1]
10. ดอกนำมาใช้ทำเป็นยาถ่ายอย่างแรงได้ (ดอก)[1]
11. รากนำมาตำใช้สำหรับพอกรักษาโรคหิด (ราก)[1]
12. รากนำมาต้มกับน้ำใช้ทำเป็นยาขับปัสสาวะ และแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ (ราก)[1],[2]
13. รากนำมาตำใช้สำหรับพอกรักษาบริเวณที่มีบาดแผลได้ (ราก)[1]
14. รากนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับทำเป็นยาขับระดูของสตรี (ราก)[1]
15. รากนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยารักษากามโรคชนิดหนองใน และโรคโกโนเรีย (ราก)[1]

ข้อควรระวังของการใช้

  • ใบที่แก่ตัวลงและลำต้น หากนำสองส่วนนี้มาผสมกันจะทำให้เกิดความเป็นพิษได้ เมื่อสัตว์กินเข้าไปจะทำให้สัตว์มีอาการอาเจียนอย่างหนักหลังจากนั้นสักพักสัตว์ก็จะตายลงไป[1]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ผักคราดทะเล”.  หน้า 477-478.
2. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1767 คอลัมน์ : สมุนไพร.  “เบญจมาศน้ำเค็ม Wedelia biflora (L.) DC. COMPOSITAE (ASTERACEAE)”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/
2.https://www.flickr.com/