กรดน้ำ

กรดน้ำ

กรดน้ำ เป็นพรรณไม้ล้มลุกพื้นเมืองของทวีปอเมริกาเขตร้อน ปัจจุบันพบขึ้นทั่วไปในเขตร้อนชื้น สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ส่วนของใบมีรสฝาดและมีลักษณะขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ทั้งต้นมีรสชุ่มหวาน และขมเล็กน้อย ต้นไม่มีพิษ เป็นยาเย็นที่ดีต่อการดับร้อนในร่างกาย ส่วนราก ต้นและผลมีรสฝาด แต่อุดมไปด้วยสรรพคุณทางยามากมาย นอกจากนั้นยังเป็นอาหารของชาวปะหล่อง ชาวลัวะ ชาวเมี่ยนและชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกรดน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scoparia dulcis Linn.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Macao Tea” “Sweet Broomweed”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ขัดมอนเล็ก ขัดมอญเล็ก หนวดแมว หญ้าขัด หญ้าหนวดแมว” ภาคเหนือเรียกว่า “หญ้าขัดหิน หญ้าจ้าดตู้ด หญ้าหัวแมงฮุน ยูกวาดแม่หม้าย” จังหวัดสิงห์บุรีเรียกว่า “ต้อไม้ลัด” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “เทียนนา” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “ปีกแมงวัน ผักปีกแมลงวัน” จังหวัดตราดเรียกว่า “หูปลาช่อนตัวผู้” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “กรดน้ำ กระต่ายจามใหญ่ กัญชาป่า มะไฟเดือนห้า” จังหวัดปัตตานีเรียกว่า “ตานซาน” จังหวัดตรังเรียกว่า “ขัดมอนเทศ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ข้างไลดุ” ชาวเงี้ยวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “หญ้าพ่ำสามวัน” จีนกลางเรียกว่า “ปิงถางเฉ่า เหย่กานฉ่าน แหย่กานฉ่าน” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “เอี่ยกำเช่า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE)

ลักษณะของกรดน้ำ

กรดน้ำ เป็นพรรณไม้ล้มลุกพื้นเมืองของทวีปอเมริกาเขตร้อนอายุ 2 ปี ปัจจุบันพบขึ้นทั่วไปในเขตร้อนชื้น สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ขึ้นเป็นวัชพืชในที่รกร้าง ป่าผลัดใบ และพื้นทรายริมฝั่งแม่น้ำ
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง เป็นพุ่มที่แตกกิ่งแผ่สาขามาก ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ไม่มีขน กิ่งเล็กเรียว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามหรือเป็นวงรอบข้อ ข้อละ 3 – 4 ใบ แผ่นใบมีขนาดเล็กเป็นสีเขียว ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีเรียว รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายใบแหลม โคนใบเรียวสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยตรงส่วนใกล้โคนใบ ท้องใบมีต่อม ก้านใบสั้นมากหรือแทบไม่มี
ดอก : ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ออกดอกเดี่ยวที่ง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีวงละ 4 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก กลีบดอกเป็นสีขาว ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว
ผลแห้ง : พอแก่จะแตกออก ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปไข่ ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

สรรพคุณของกรดน้ำ

  • สรรพคุณจากกรดน้ำ ต้านเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดเริม แก้ปวดและลดการอักเสบ มีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของลำไส้ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการเจริญของเชื้อแบคทีเรียได้บางชนิด ต้านอนุมูลอิสระ
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาบำรุงธาตุ เป็นยาแก้ปวดฟัน เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ เป็นยาขับลม แก้จุกเสียด เป็นยาขับประจำเดือน ขับระดูขาวของสตรี เป็นยาแก้พิษฝี ช่วยแก้อาการฟกช้ำ
    – แก้อาการผิดปกติของระบบลำไส้ ด้วยการนำใบชงดื่มเป็นยา
    – รักษาแผลสด แก้แผลถลอก แก้แผลเรื้อรัง ช่วยห้ามเลือด ด้วยการนำใบสดมาตำคั้นเอาน้ำทาหรือใช้พอกเป็นยา
  • สรรพคุณจากต้น เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร แก้พิษไข้ เป็นยาแก้อาเจียน แก้เหงือกบวม แก้ปากเปื่อย แก้ท้องเสีย แก้ท้องเดิน แก้ปวดท้อง แก้ลำไส้อักเสบ เป็นยาขับลม แก้จุกเสียด ช่วยลดอาการบวมน้ำที่ขาจากการปัสสาวะ ช่วยแก้อาการฟกช้ำ
    – แก้เด็กเป็นไข้ ด้วยการนำลำต้นสดประมาณ 15 กรัม มาต้มใส่น้ำและน้ำตาล กรองเอาแต่น้ำกิน
    – แก้ไอ รักษาอาการไอเนื่องจากปอดร้อน ด้วยการนำลำต้นสดประมาณ 30 – 60 กรัม มาต้มให้เดือดแล้วเอาน้ำมาทานเป็นยา
    – แก้หวัดและไอ ด้วยการนำต้นสด 30 กรัม สะระแหน่ 10 กรัม พลูคาว 15 กรัม มาต้มกับน้ำทาน
    – แก้เจ็บคอ ด้วยการนำต้นสดประมาณ 120 กรัม มาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้ง ใช้ทานเป็นยา
    – แก้ลำไส้อักเสบ แก้ปวดท้อง แก้อาการปัสสาวะขัด ด้วยการนำลำต้นขนาดประมาณ 15 – 30 กรัม มาต้มให้เดือดแล้วกรองเอาแต่น้ำกิน
    – รักษาบิดติดเชื้อ ด้วยการนำต้นสด 30 กรัม หยางถีเฉ่า 30 กรัม ข้าวเก่าประมาณ 10 – 15 กรัม มาต้มกับน้ำทานวันละ 1 เทียบ
    – เป็นยาแก้ผื่นคันตามผิวหนัง ด้วยการนำลำต้นสดมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่เป็นผื่นคัน
    – ช่วยลดอาการเป็นหัด ด้วยการนำลำต้นสดมาต้มแล้วกรองเอาแต่น้ำกินติดต่อกัน 3 วัน
    – รักษาอาการเท้าบวม แก้ขาบวมจากการเป็นเหน็บชา ด้วยการนำลำต้นสดประมาณ 30 กรัม น้ำตาลทรายแดง 30 กรัม มาต้มกับน้ำทานก่อนอาหาร หรือกินทุกเช้าและเย็นหลังอาหาร หรือกินก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง
    – ช่วยให้มารดาแข็งแรงและมีน้ำนมดี ด้วยการนำต้นสด 1 กำมือ มาต้มกินหลังคลอด
  • สรรพคุณจากดอก ช่วยเจริญไฟธาตุ เป็นยาแก้พิษฝี
  • สรรพคุณจากทั้งต้น ออกฤทธิ์ต่อตับ กระเพาะและลำไส้ใหญ่ เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ไอร้อน แก้ไอหวัด ลดไข้ แก้เด็กเป็นไข้อีสุกอีใส ช่วยขับเสมหะ เป็นยาแก้โรคไทฟอยด์ ช่วยแก้ไฟลามทุ่งหรือเชื้อไวรัสตามผิวหนัง
    – แก้อาการเบื่ออาหาร โดยชาวปะหล่องนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำรวมกับต้นสาบแร้งสาบกาให้เด็กอาบ
    – แก้ไข้ ลดไข้ โดยยาพื้นบ้านนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – แก้แผลไฟไหม้ แก้น้ำร้อนลวก โดยชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่นำทั้งต้นมาต้มแล้วเอาน้ำมาใส่แผล
    – ช่วยให้แผลแห้งเร็วยิ่งขึ้น โดยคนเมืองนำทั้งต้นมาต้มแล้วใช้ไอน้ำมารมแผลสด
    – รักษาผื่นคันในเด็กและผู้ใหญ่ โดยชาวม้งนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำอาบ
  • สรรพคุณจากต้นและใบ เป็นยาแก้ไอ เป็นยาแก้ขัดเบา
    – แก้โรคเบาหวาน ด้วยการนำลำต้นและใบสด 1 กำมือ มาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนาน 30 นาที ใช้แบ่งนำมาดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น
  • สรรพคุณจากราก แก้โรคเบาหวาน แก้ไข้ตัวเย็น แก้เลือดเป็นพิษ เป็นยาแก้ปวดศีรษะ แก้โรคหัวใจอ่อน แก้บิด แก้ท้องร่วง ช่วยสมานลำไส้ เป็นยาขับลม แก้จุกเสียด เป็นยาขับพยาธิ เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยแก้อาการฟกช้ำ
    – แก้ไข้มาลาเรีย แก้เจ็บคอ แก้เสียงแหบ แก้ขัดเบา ด้วยการนำรากต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – ช่วยฆ่าเชื้อโรค แก้พิษ ด้วยการนำรากต้มกับน้ำอาบ
    – แก้อาการปวดข้อ ด้วยการนำรากต้มกับน้ำดื่มร่วมกับลูกใต้ใบและหญ้าปันยอด
  • สรรพคุณจากผล เป็นยาแก้เหงือกบวม เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน เป็นยาแก้พิษฝี เป็นยาแก้ปวด
  • สรรพคุณจากรากและทั้งต้น
    – แก้ปวดท้อง แก้อาหารเป็นพิษ แก้อาหารไม่ย่อย แก้โรคกระเพาะอาหาร โดยชาวเขาเผ่าแม้ว กะเหรี่ยงนำรากและทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกินเป็นยา

ประโยชน์ของกรดน้ำ

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวปะหล่อง ชาวลัวะนำยอดอ่อนมาทานร่วมกับลาบ ชาวเมี่ยนนำใบมาเคี้ยวกินเล่น มีรสหวานหรือใช้ใส่ในแกงเพื่อเพิ่มรสชาติ ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนและคนเมืองนำทั้งต้นลวกหรือต้มกินกับน้ำพริก

กรดน้ำ ถือเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยาได้หลากหลายมาก เป็นต้นที่นิยมในชาวพื้นเมืองทั่วไปในการนำมาทานหรือใช้ปรุงอาหาร ทั้งต้นมีรสชุ่มหวาน และขมเล็กน้อย เป็นยาเย็นที่ดีต่อตับ กระเพาะและลำไส้ใหญ่ กรดน้ำมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้เบาหวาน ช่วยให้เจริญอาหาร เป็นยาลดไข้ ลดระดับน้ำตาลในเลือดและแก้อาการผิดปกติของระบบลำไส้ได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “กรดน้ำ (Krod Nam)”. หน้า 15.
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “กรดน้ำ”. หน้า 193.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กรดน้ำ”. หน้า 4-7.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “กรดน้ำ”. หน้า 20.
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “กรดน้ำ”. หน้า 54-55.
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กรดน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [09 ก.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กรดน้ำ, หญ้าปีกแมลงวัน”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา), หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [10 ก.ค. 2015].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 355 คอลัมน์ : เรื่องเด่นจากปก. (ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร, ภกญ.ผกากรอง ขวัญข้าว). “อาหารและสมุนไพร กระตุ้นน้ำนม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [10 ก.ค. 2015].
M. R. Mishra, A. Mishra, D. K. Pradhan, A. K. Panda, R. K. Behera, S. Jha. “Antidiabetic and Antioxidant Activity of Scoparia dulcis Linn.”. Indian J Pharm Sci. 2013 Sep-Oct; 75(5): 610–614.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูป
https://thai-herbs.thdata.co/
https://ml.wikipedia.org/