ขี้เหล็กเทศ

ขี้เหล็กเทศ

ขี้เหล็กเทศ เป็นวัชพืชที่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตร้อนชื้น จึงทำให้พบได้ง่ายทั่วทุกภาคของประเทศไทย เป็นพืชในวงศ์ถั่วที่มีผลเป็นฝัก เป็นยาสมุนไพรยอดนิยมของชาวบ้านอย่างชาวเขาเผ่าอีก้อ กะเหรี่ยงและลีซอ นอกจากนั้นยังอยู่ในตำรายาพื้นบ้านล้านนาและตำรายาไทยด้วย ทว่าส่วนของใบจะมีพิษจึงต้องนำมากำจัดพิษก่อนใช้ สามารถนำยอดอ่อนมาปรุงในอาหารได้ ซึ่งเราจะพบมากในพวกแกงเผ็ดอย่าง แกงเลียง เป็นต้น

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของขี้เหล็กเทศ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna occidentalis (L.) Link
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Coffee senna” “Coffeeweed” Croton”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ขี้เหล็กผี ชุมเห็ดเล็ก พรมดาน” ภาคเหนือเรียกว่า “ขี้เหล็กเผือก ผักเห็ด ลับมืนน้อย หมากกระลิงเทศ” ภาคใต้เรียกว่า “ชุมเห็ดเทศ” ชาวเงี้ยวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ผักจี๊ด” คนจีนเรียกว่า “กิมเต่าจี้ ม่อกังน้ำ” จีนกลางเรียกว่า “ว่างเจียงหนาน” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “คางเค็ด ผักเค็ด ผักเคล็ด เลนเค็ด”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Cassia occidentalis L.

ลักษณะของขี้เหล็กเทศ

ขี้เหล็กเทศ เป็นพรรณไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มเตี้ยอายุหลายปี ที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ มีการแตกกิ่งก้านสาขามาก เป็นวัชพืชกระจายอยู่ทั่วไปในเขตร้อนชื้น มักจะพบในพื้นที่โล่ง ที่รกร้าง ที่แห้งแล้งตามไหล่เขา ริมน้ำลำคลอง และทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะ
ลำต้น : ลำต้นเกลี้ยงเป็นสีเขียวอมม่วง ไม่มีขน เนื้อไม้ตรงโคนแข็ง
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ที่มีใบย่อย 3 – 5 คู่ มีต่อมรูปไข่ระหว่างก้านใบย่อย เป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่แกมใบหอก ปลายใบแหลมยาว โคนใบกลม ขอบใบมีขนครุยและมีสีม่วงแดง แผ่นใบบางเกลี้ยง ผิวใบเป็นสีเขียวเข้มค่อนข้างนุ่ม หลังใบเห็นเส้นกลางใบสีม่วงแดงนูนขึ้นชัดเจน ก้านใบด้านหน้ามีสีม่วงแดง ด้านหลังเป็นสีเขียวและสีม่วงแดงประปราย โคนก้านใบด้านในมีต่อมสีแดงเข้ม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะสั้น มักจะออกตามปลายกิ่งประมาณ 2 – 4 ดอก มีใบประดับเป็นรูปแถบ ร่วงได้ง่าย กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีเหลือง 5 กลีบ มีเส้นกลีบสีม่วงแซม มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนมกราคม
ผล : เป็นรูปฝัก รูปแถบ แบนเกลี้ยงสีเขียว มีรอยแบ่งระหว่างข้อไม่ชัดเจน ฝักแก่เป็นน้ำตาลและไม่แตก ปลายข้างหนึ่งมีลักษณะค่อนข้างแหลม ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาล 30 – 40 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมและแบน

สรรพคุณของขี้เหล็กเทศ

  • สรรพคุณจากรากและทั้งต้น
    – บำรุงร่างกาย แก้ไข้มาลาเรีย แก้อาหารไม่ย่อย แก้อาหารเป็นพิษ ขับปัสสาวะ ฆ่าเชื้อโรค รักษาโรคทางเดินปัสสาวะและนิ่ว โดยชาวเขาเผ่าอีก้อ กะเหรี่ยงและลีซอ นำรากหรือทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาแก้ไอหอบหืด แก้ร้อนในปาก แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ เป็นยาดับพิษร้อนในตับ แก้อาการบวมน้ำ
    – เป็นยาบำรุง บำรุงธาตุ รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ แก้ไข้ แก้ปวดข้อ ด้วยการนำเมล็ดมาคั่วให้หอมเกรียมแล้วนำมาชงกับน้ำกิน
    – ลดความดันโลหิต ด้วยการนำเมล็ดคั่ว มาบดเป็นผงกินครั้งละ 3 กรัม วันละ 3 ครั้ง หรือชงกับน้ำผสมกับน้ำตาลกรวดพอสมควร
    – รักษาตาแดงบวมเห็นพร่ามัว ด้วยการนำเมล็ดแห้ง 15 – 30 กรัม มาผสมกับน้ำตาลกรวด 30 กรัม แล้วชงกับน้ำกิน
    – รักษาไข้มาลาเรีย ด้วยการนำเมล็ดที่คั่วจนเหลืองแล้ว มาบดให้เป็นผง 6 – 9 กรัม ชงกับน้ำกินวันละ 2 ครั้ง
    – รักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบเรื้อรัง ด้วยการนำเมล็ดที่คั่วจนเป็นสีน้ำตาล 15 – 30 กรัม มาบดให้เป็นผงกินครั้งละ 0.5 – 1 กรัม ติดต่อกัน 10 วัน
    – รักษาผิวหนังอักเสบ แก้พุพอง รักษาโรคผิวหนังอักเสบ แก้โรคผิวหนังต่าง ๆ แก้กลากเกลื้อน แก้ผื่นคัน ใช้ดูดหนองฝี แก้อาการปวดบวม ด้วยการนำเมล็ดคั่วมาบดเป็นผง ทำเป็นยาขี้ผึ้งทา
    – ช่วยรักษาอาการอักเสบ ด้วยการนำเมล็ด 15 – 30 กรัม มาต้มกับน้ำกิน
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น รักษาไข้มาลาเรีย แก้บิดที่เกิดจากเชื้อมาลาเรีย
    – รักษาโรคเบาหวาน ด้วยการนำเปลือกต้นมาชงกับน้ำกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากราก รักษารำมะนาด ดับพิษร้อนในร่างกาย รักษาไข้มาลาเรีย แก้ปวดท้อง แก้บิดที่เกิดจากเชื้อมาลาเรีย ยับยั้งเชื้อท้องเสีย เป็นยาถ่ายหรือยาระบาย เป็นยาถ่ายพยาธิ รักษาอาการบวมน้ำ รักษาโรคเดียวกับตับ
    – รักษาแผลในหู โดยตำรายาพื้นบ้านนำรากมาฝนกับน้ำใช้หยอดหู
  • สรรพคุณจากใบ เข้าตำรายาเขียว แก้ไข้ เป็นยาแก้ไอหอบหืด แก้ร้อนในปาก เป็นยาแก้ลมจุกเสียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาหารไม่ย่อย แก้อาหารเป็นพิษ เป็นยาถ่ายหรือยาระบาย เป็นยาถ่ายพยาธิ เป็นยาดับพิษร้อนในตับ เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ใช้เกลื่อนฝี ทารักษากลากเกลื้อน แก้ผิวหนังพุพอง
    – แก้ปวดศีรษะ แก้ปวดฟัน ด้วยการนำใบมาตำพอก
    – รักษาอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ด้วยการนำใบสดประมาณ 20 กรัม เนื้อหมู 250 กรัม มาต้มกับน้ำกินวันละ 1 ตำรับ
    – แก้ผื่นคัน ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำอาบ
    – แก้งูกัด ด้วยการนำใบสด 30 – 60 กรัม มาต้มคั้นเอาน้ำกิน แล้วเอากากมาพอก
  • สรรพคุณจากฝักและเมล็ด เป็นยาทำให้ตาสว่าง รักษาอาการตาบวมแดง แก้ตาแดงตาอักเสบ แก้ปวดท้องของโรคบิด เป็นยาถอนพิษ
    – แก้วิงเวียน บำรุงกระเพาะอาหาร แก้ปวดกระเพาะอาหาร ช่วยรักษาระบบการย่อยอาหารไม่ดี ทำให้การขับถ่ายดี เป็นยากล่อมตับ ด้วยการนำฝักและเมล็ดมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากทั้งต้นและใบ เป็นยาแก้หอบ รักษาอาการไอ แก้ปวดท้อง แก้อาการท้องผูก เป็นยาถอนพิษ รักษาอาการบวม แก้แผลบวมอักเสบ ลดความดันโลหิต
    – ขับของเสียออกจากไต ใช้กล่อมตับ ด้วยการนำทั้งต้นและใบแห้ง 6 – 10 กรัม และใบสดเพิ่มอีกเท่าตัว นำมาต้มกับน้ำหรือคั้นเอาน้ำกินเป็นยา
    – รักษาแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการนำใบสดมาตำพอกบริเวณที่มีอาการ
    – รักษาอาการอักเสบภายนอก ด้วยการนำทั้งต้นและใบสด 30 – 60 กรัม มาตำพอกบริเวณที่มีอาการ
  • สรรพคุณจากฝัก เป็นยาถ่ายพยาธิ
    – รักษากลากเกลื้อน ด้วยการนำฝักมาต้มกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากต้น เปลือกต้น ราก ทั้งต้นและใบ
    – แก้ปัสสาวะเป็นเลือด รักษาโรคหนองใน ด้วยการนำต้นสด 30 กรัม หรือทั้งต้นและใบแห้ง 6 – 10 กรัม มาต้มกับน้ำกินหรือใช้ยาชง

ประโยชน์ของขี้เหล็กเทศ

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมานึ่งให้สุกทานกับแจ่ว หรือนำมาปรุงอาหารอย่างแกงเลียง ชาวมัลดีฟส์นำใบเป็นส่วนประกอบของมัสฮูนี่และเป็นพืชสมุนไพร เมล็ดนำมาคั่วบดใช้ชงดื่มแทนกาแฟหรือชา
2. ใช้ในการเกษตร ต้นและใบใช้เป็นแหล่งอาหารสัตว์สำหรับโคกระบือและแกะ ทั้งต้นใช้ทำปุ๋ยพืชสด

ขี้เหล็กเทศ ผักยอดนิยมของชาวเขาและเป็นส่วนผสมของยาพื้นบ้าน สามารถนำมาปรุงในอาหารได้ แต่ไม่ควรทานมากเกินไปเพราะจะทำให้ท้องเสียได้ ส่วนของเมล็ดและใบคือยาชั้นดีที่ไม่ควรมองข้าม ขี้เหล็กเทศมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเมล็ดและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้อาหารเป็นพิษ รักษาอาการอักเสบภายนอก เป็นยาถ่ายพยาธิ เป็นยาบำรุงธาตุ และรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ชุมเห็ดเล็ก”. หน้า 63.
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ชุมเห็ดเล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [04 ม.ค. 2015].
สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “ชุมเห็ดเล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [04 ม.ค. 2015].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ขี้เหล็กเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [04 ม.ค. 2015].
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ชุมเห็ดเล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org. [04 ม.ค. 2015].
ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “เลนเค็ด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/. [04 ม.ค. 2015].
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ขี้เหล็กเทศ”. หน้า 138.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ขี้เหล็กเทศ”. หน้า 140-145.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com Medthai
รูปอ้างอิง
1.https://efloraofindia.com/2011/02/13/cassia-occidentalis/
2.https://tropical.theferns.info/image.php?id=Senna+occidentalis