หงอนไก่ไทย
หงอนไก่ไทย เป็นพืชปลูกในประเทศในเขตอบอุ่น ส่วนประเทศไทยพบตามชายป่า และริมถนน ชื่อสามัญ คือ Common cockscomb, Wild Cockcomb, Crested celosin, Cockcomb ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Celosia cristata L., Celosia argentea var. cristata (L.) Kuntze อยู่วงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE) มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น โกยกวงฮวย (จีนแต้จิ๋ว), ซองพุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), หงอนไก่ไทย (ภาคกลาง), หงอนไก่ฝรั่ง (ภาคกลาง), หงอนไก่ดอกกลม (ภาคกลาง), สร้อยไก่ (ภาคเหนือ), ดอกด้าย (ภาคเหนือ), จีกวนฮวา (จีนกลาง), แชเสี่ยง (จีนแต้จิ๋ว), หงอนไก่ดง (นครสวรรค์), กระลารอน (เขมร-ปราจีนบุรี), ชองพุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), พอคอที (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หงอนไก่เทศ (ภาคกลาง), หงอนไก่ฟ้า (ภาคกลาง), หงอนไก่ (ภาคเหนือ), ด้ายสร้อย (ภาคเหนือ) [1],[5],[8]
ลักษณะของหงอนไก่ไทย
- ต้น เป็นไม้พุ่มที่มีขนาดเล็ก ต้นสูงประมาณ 20 นิ้ว ไม่มีแก่น ต้นหงอนไก่เป็นพรรณไม้ที่สามารถกลายพันธุ์ได้ง่าย ทำให้บางต้นมักไม่เป็นสีเขียว อาจเป็นสีแดง สีเขียวอ่อน สีขาว เป็นต้น แล้วแต่พันธุ์ของต้น ขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด เติบโตได้ดีในที่ดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี เป็นไม้กลางแจ้ง ต้นหงอนไก่จะชอบแสงแดดจัด เติบโตง่าย งอกงามเร็ว [1]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเป็นกลุ่มที่ตามข้อลำต้น ใบเป็นรูปหอก รูปทรงมนรี รูปรี ที่โคนใบจะสอบ ส่วนที่ปลายใบจะแหลม ขอบใบเรียบไม่มีหยัก แผ่นใบมีลักษณะเป็นสีเขียว ใบกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร สามารถยาวได้ประมาณ 10-15 เซนติเมตร ที่ผิวใบด้านบนจะเป็นสีเขียว หรือสีม่วงแดง จะย่นนิดหน่อย เส้นกลางใบจะเป็นสีชมพู[1],[5],[8]
- ดอก มีขนาดเล็กเป็นละออง ออกติดแน่นเป็นช่อเดียวกันคล้ายหงอนไก่ ขนาดประมาณ 2-4 นิ้ว ช่อดอกบิดจีบม้วนไปมาในช่อดูคล้ายกับหงอนไก่ แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงอยู่ 3 กลีบ และมีกลีบดอก 5 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปปลายแหลม มีขนาดยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ดอกจะมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และมีเกสรเพศเมีย 1 อัน ที่ปลายจะมีรอยแยก 2 รอยตื้น สีดอกแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ อย่างเช่น สีเหลือง สีแดง สีขาว สีชมพู สีผสม เมื่อช่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร[1],[5],[8]
- ผล เป็นผลแห้ง ผลเป็นรูปทรงกลม มีเมล็ดอยู่ในผล เมล็ดเป็นรูปกลมแบน ที่เปลือกนอกเมล็ดจะมีลักษณะเป็นสีดำแข็ง เป็นมัน[1],[5]
ข้อห้ามในการใช้หงอนไก่
- ห้ามให้ผู้ที่เป็นโรคตาบอดใสทานสมุนไพรหงอนไก่[4]
- ห้ามให้สตรีที่อยู่ระหว่างการมีประจำเดือนทานสมุนไพรหงอนไก่[1]
ประโยชน์หงอนไก่ไทย
- ปลูกเป็นไม้ตัดดอกทำดอกไม้แห้ง[5]
- ปลูกเป็นไม้ประดับแปลงทั่วไป ปลูกเป็นไม้กระถาง ปลูกริมทางเดิน ปลูกตามขอบแปลง [5]
สรรพคุณหงอนไก่ไทย
1. ใบจะมีสรรพคุณที่ช่วยบรรเทาอาการคันเพราะยางของต้นรักได้ (ใบ)[9]
2. สามารถนำลำต้นอ่อนมาตำให้ละเอียด แล้วใช้เป็นยาพอกแก้ตะขาบกัดได้ (ลำต้น)[1]
3. สามารถนำใบกับก้านมาตำใช้พอกรักษาบาดแผลที่มีเลือดออกได้ (ใบกับก้าน)[1]
4. สามารถช่วยแก้มุตกิดตกขาวของสตรีได้ โดยนำดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) มาต้มทาน หรือนำดอกมาต้มกับเหล้าขาวทาน (สามารถใช้ได้ทั้งดอกหงอนไก่ไทยและหงอนไก่เทศ)[1],[3],[8]
5. สามารถใช้แก้ริดสีดวงทวารได้ (ดอก,เมล็ด)[3],[5]
6. ดอกสามารถใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้ (ดอก)[7]
7. ในตำรายาแผนไทยจะนำเมล็ดมาใช้เป็นยาแก้ท้องร่วงได้ (เมล็ด)[7]
8. สามารถช่วยแก้อาการท้องอืดได้ (ราก)[5]
9. สามารถนำเมล็ดมาต้ม แล้วเอาไปใช้กลั้วรักษาแผลในช่องปาก (เมล็ด)[7]
10. สามารถใช้เป็นยาแก้เสมหะได้ (ราก)[2],[3],[5]
11. สามารถใช้เป็นยารักษาโรคตาแดง เยื่อตาอักเสบ ทำให้ตาสว่าง ตาปวด โดยนำดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) มาต้มทาน (ดอก)[1],[3],[4]
12. สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ที่มีอาการในทางเดินอาหารร่วม อย่างเช่น ไข้อาหารเป็นพิษ ไข้ท้องอืดเฟ้อ แก้ไข้เพื่อลม ไข้พิษได้ (ราก)[2],[3],[5],[6]
13. ก้าน ดอก ใบหงอนไก่เทศ จะมีรสชุ่มเป็นยาเย็น จะออกฤทธิ์กับตับ ไต มีสรรพคุณที่ทำให้เลือดเย็น (ก้าน, ใบ,ดอกหงอนไก่เทศ)[8]
14. เมล็ดจะมีรสขม เป็นยาเย็น จะออกฤทธิ์กับตับ สามารถใช้เป็นยาแก้ร้อนในตับ และสามารถช่วยขับลมร้อนในตับได้ (เมล็ด)[4]
15. สามารถใช้เป็นยาแก้ความดันโลหิตสูงได้ โดยนำเมล็ดหงอนไก่แห้งประมาณ 4.5-9 กรัม มาต้มทานหรือใช้ทำยาเม็ดทาน (เมล็ดแห้ง)[1],[4],[5]
16. รากจะมีรสขมเฝื่อน จะมีสรรพคุณที่เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)[2],[3],[5]
17. ดอกสามารถใช้รวมกับพืชชนิดอื่น ๆ เป็นยาบำรุงกำลังได้ (ดอก)[9]
18. ในตำรายาไทยจะนำรากหงอนไก่เป็นยาแก้โลหิตเป็นพิษ (ราก)[2],[3]
19. สามารถช่วยแก้เลือดลมไม่ปกติได้ (ดอก)[7]
20. สามารถช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ได้ (ราก)[6]
21. สามารถใช้แก้อาการปวดศีรษะได้ โดยนำดอกสดที่มีรสฝาดเฝื่อนประมาณ 30-60 กรัม ถ้าใช้ดอกแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม มาต้มทาน (ดอก)[1],[3],[4]
22. สามารถช่วยแก้ตาฟางในเวลากลางคืนได้ โดยนำเมล็ดแห้งประมาณ 4.5-9 กรัม มาต้มทานหรือทำยาเม็ดทาน (เมล็ดแห้ง)[1]
23. สามารถช่วยแก้อาการไอ และไอเป็นเลือดได้ โดยนำดอกหงอนไก่เทศสดประมาณ 30-60 กรัม มาต้มทาน ถ้าใช้ดอกแห้งให้ใช้ประมาณ 15-30 กรัม (ดอก)[1],[8]
24. สามารถใช้เป็นยาแก้หืดได้ (ราก)[2],[3],[5]
25. สามารถใช้เป็นยาแก้โรคท้องเสียได้ โดยนำลำต้นสดมาต้มทาน (ลำต้น)[1]
26. สามารถใช้เป็นยาระบายได้ นำใบสดกับก้านประมาณ 30-60 กรัม มาต้มหรือคั้นเอาน้ำทาน (ก้านและใบ)[1]
27. สามารถช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือดได้ (ดอกหงอนไก่เทศ)[8]
28. สามารถใช้แก้ประจำเดือนมามากผิดปกติ และแก้ประจำเดือนไม่ปกติได้ โดยนำดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (ถ้าใช้ดอกแห้งให้ใช้ 15-30 กรัม) มาต้มทาน (ดอก)[1],[5]
29. สามารถใช้เป็นยาห้ามเลือด และแก้เลือดไหลไม่หยุดได้ (ก้านและใบ,ดอก,เมล็ดแห้ง)[1],[3],[4],[5],[8]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
- จากการที่รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงในช่วง 160-220 / 100-135 มม. ปรอท ด้วยการทำการรักษาโดยนำเมล็ดหงอนไก่แห้งประมาณ 30 กรัม มาต้มสกัดเอาน้ำ 2 ครั้ง แบ่งทาน 3 ครั้งต่อวัน ผลการทดลองปรากฏว่า หลังจากที่ได้รับประทานไปแล้ว 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีความดันลดลงอยู่ในช่วง 125-146 / 70-90 มม. ปรอท[1] จากการนำมาทดลองกับสัตว์ ปรากฏว่าเมล็ดหงอนไก่ช่วยลดความดันโลหิตได้[4]
- พบสาร โพแทสเซียมไนเตรด, กรดไขมัน, Celosiaol, Nicotinic acid, Oxalic acid ในเมล็ด และพบน้ำมันระเหยอีกหลายชนิด[4]
- น้ำมันระเหยที่ได้จากเมล็ดหงอนไก่ จะมีฤทธิ์ที่สามารถทำให้ม่านตาดำขยายตัว[4]
- สารสกัดจากเมล็ดและดอก เมื่อนำมาทดลอง ปรากฏว่ามีฤทธิ์ที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อ Trichomonas vaginalis ได้ดี เชื้อชนิดนี้เมื่อเอามาต้มด้วยความร้อนสูงเป็นเวลา 5-10 นาทีก็จะตายไป[1]
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หงอนไก่”. หน้า 794-796.
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หงอนไก่ไทย”. หน้า 65.
3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หงอนไก่ไทย (Ngonkai Thai)”. หน้า 312.
4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หงอนไก่ไทย”. หน้า 570.
5. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หงอนไก่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [06 ก.ค. 2014].
6. หนังสือประมวลสรรพคุณยาไทย. (สมาคม ร.ร.แพทย์แผนโบราณ). “หงอนไก่”.
7. ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “หงอนไก่ เมล็ดกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www. thairath.co.th. [06 ก.ค. 2014].
8. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หงอนไก่เทศ (หงอนไก่ฝรั่ง)”. หน้า 572.
9. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “หงอนไก่ไทย”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชสมุนไพร เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [06 ก.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1. https://travaldo.blogspot.com/
2. https://travaldo.blogspot.com/
3. https://medthai.com/