ต้นหนูท้องขาว สรรพคุณใช้เป็นยารักษาอาการไตอักเสบ

0
1347
ต้นหนูท้องขาว สรรพคุณใช้เป็นยารักษาอาการไตอักเสบ เป็นไม้ล้มลุกที่ทอดเลื้อย ดอกเป็นแบบช่อเหมือนรูปกรวย ผลเป็นฝักแบบข้อ
ต้นหนูท้องขาว
เป็นไม้ล้มลุกที่ทอดเลื้อย ดอกเป็นแบบช่อเหมือนรูปกรวย ผลเป็นฝักแบบข้อ

ต้นหนูท้องขาว

ต้นหนูท้องขาว สามารถพบขึ้นได้ทั่วไปในดินบริเวณดินนา ดินทราย และในสวนป่าเต็งรังที่อยู่บนบริเวณความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 35-475 เมตร ภายในประเทศไทยนั้น จังหวัดที่สามารถพบ เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ พิษณุโลก สงขลา แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ สุรินทร์ นครราชสีมา เป็นต้น[1],[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmodium styracifolium (Osbeck) Merr. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Desmodium capitatum (Burm.f.) DC., Desmodium retroflexum (L.) DC. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ถั่ว FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE และก็ยังถูกจัดให้อยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE) อีกด้วย[1],[2] ชื่ออื่น ๆ ผีเสื้อน้ำ (ลำปาง), อีเหนียว ก้วงกัวฮี (อุบลราชธานี), รุกกุนิงตาหน่อ (ยะลา), กิมกี่เช่า (ในภาษาจีนแต้จิ๋ว), กว่างตงจินเฉียนเฉ่า จินเฉียนเฉ่า (ในภาษาจีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะต้นหนูท้องขาว

  • ต้น
    – เป็นพรรณไม้ประเภทไม้ล้มลุกที่ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน
    – ไม้เลื้อยมีความยาว 50-150 เซนติเมตร
    – มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 2.5-12.0 มิลลิเมตร
    – ลักษณะของลำต้น ต้นท้องหนูข้าวจะมีลำต้นที่เป็นลักษณะกลม ลำต้นมีสีเขียวอ่อนถึงสีเขียวปนน้ำตาล
    แต่ลำต้นส่วนที่ถูกแสงแดดส่องโดนมักจะออกสีเป็นสีม่วงแดงหรือสีน้ำตาล ส่วนลำต้นด้านที่ไม่ถูกแสงแดดส่องถึงก็จะออกสีเป็นสีเขียว และก็มีขนสีเหลืองสั้น ๆ ขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่นตรงบริเวณดังกล่าวอีกด้วย
  • ใบ
    – ใบ เป็นใบประกอบมีลักษณะแบบขนนก มีใบย่อยอยู่ 3 ใบ ออกเรียงสลับกัน และมีใบเดี่ยวขึ้นคละปะปนกันไป มีหลากหลายรูปร่าง เช่น รูปร่างเป็นแบบกลม รูปร่างเป็นแบบกลมแต่บริเวณปลายใบจะมีรอยเว้าตื้น รูปร่างแบบวงรีกว้าง และรูปร่างแบบรูปไข่กลับที่มีส่วนบริเวณของยอดกว้างกว่าโคน แต่โดยทั่วไปแล้วใบจะมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ บริเวณโคนใบจะมีลักษณะเว้าคล้ายกับรูปหัวใจ บริเวณขอบใบจะเรียบ และตรงบริเวณด้านหน้าใบจะมีผิวเรียบไม่มีขนขึ้นปกคลุม ต่างจากส่วนด้านหลังของใบที่มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่เป็นจำนวนมาก แผ่นใบมีสีเป็นสีเขียวถึงสีเขียวเข้ม โดยมีเส้นใบที่เรียงกันแบบขนนกอยู่ที่ประมาณ 10 คู่ มีลักษณะเป็นผิวนูนขึ้นอยู่ตรงบริเวณด้านหน้าของใบ ส่วนหูใบมีสีเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนยอดของใบจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าใบทั้งสองใบที่อยู่ด้านล่าง ความกว้างของใบยอด ประมาณ 1.2-3.4 เซนติเมตร ความยาวของใบยอด ประมาณ 1.4-4.5 เซนติเมตร ความยาวของก้านใบ ประมาณ 0.5-1.2 เซนติเมตร ใบด้านข้างมีขนขึ้นปกคลุม ซึ่งขนนี้มีความยาวประมาณ 0.6-3.5 เซนติเมตร
  • ดอก
    – ดอกเป็นแบบช่อไปตามง่ามใบและบริเวณปลายกิ่ง การออกดอกเป็นแบบ Indeterminate (เป็นการที่ดอกจะบานและเจริญเติบโตกลายเป็นฝักที่บริเวณโคนช่อของดอกไปจนถึงปลายช่อของดอก) โดยดอกจะติดเมล็ดมากในช่วงของฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม[1],[2]
    – ดอกเป็นช่อกระจะที่มีลักษณะเหมือนรูปกรวย ซึ่งช่อดอกนี้จะมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 3.5-7.5 เซนติเมตร และช่อดอกนี้ก็มีดอกย่อย ๆ อยู่เป็นจำนวนมากอัดแน่นกันอยู่ เป็นจำนวนโดยประมาณ 16-42 ดอก ส่วนดอกย่อยของะมีกลีบเลี้ยงที่มีสีเป็นสีเขียวอ่อน บริเวณกลีบดอกตรงกลางจะมีสีเป็นสีบานเย็น ถัดมาตรงปลายกลีบมีสีเป็นสีม่วงอ่อน ตรงด้านข้างกลีบดอกคู่จะมีสีเป็นสีบานเย็นสด มีอับเรณูอยู่ 4 อัน มีสีเป็นสีเหลือง ส่วนก้านเกสรเพศผู้มีสีม่วงแดงเข้ม และเกสรเพศเมียมีสีเขียวอ่อนแกมสีเหลืองนิด ๆ [1],[2]
  • ผล
    ผลแบบเป็นฝัก มีลักษณะเป็นข้อ ๆ ในฝักฝักหนึ่งจะมีข้อด้วยกันอยู่ประมาณ 3-6 ข้อ โดยขนาดของฝักนี้ มีความกว้างวัดได้ประมาณ 1.8-3.0 มิลลิเมตร และวัดความยาวได้ประมาณ 0.5-1.8 เซนติเมตร บริเวณส่วนที่เว้าคอดของฝักสามารถทำการหักออกเป็นข้อ ๆ ได้ เมื่อสุกแล้วผลก็จะแตกออกตามตะเข็บทางด้านล่าง มีเมล็ดอยู่ ซึ่งเมล็ดนี้จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับไตของคน โดยในแต่ละฝักนั้นก็จะมีเมล็ดอยู่ภายในโดยประมาณ 1-5 เมล็ด[1],[2]

สรรพคุณหนูท้องขาว

1. ส่วนรากและลำต้นนำมาใช้เป็นยาที่ใช้ขับปัสสาวะ ขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และขับนิ่วในถุงน้ำดี
ส่วนประกอบตำรับยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ: หนูท้องขาว 15 กรัม, ชวนพั่วสือ 15 กรัม, สือหวุ่ย 15 กรัม, ตงขุยจื่อ 15 กรัม, ห่ายจินซา 12 กรัม, เปียนซวี 12 กรัม, จวี้ม่าย 10 กรัม, ฝูลิ่ง 10 กรัม, เจ๋อเซ่อ 10 กรัม และมู่ทงอีก 6 กรัม ปรุงโดยการนำส่วนผสมทั้งหมดมาต้มกับน้ำสะอาด จากนั้นนำเอาแต่น้ำมารับประทาน[1]
2. รากหรือลำต้นนั้นสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาอาการทางเดินปัสสาวะที่ติดเชื้อได้
ส่วนประกอบของตำรับยารักษาระบบทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ: หนูท้องขาว 25 กรัม, ต้นผักกาดน้ำ 15 กรัม, ห่ายจินซา 15 กรัม และดอกสายน้ำผึ้ง 15 กรัม ปรุงโดยการนำส่วนผสมทั้งหมดมาต้มกับน้ำสะอาด จากนั้นนำเอาแต่น้ำมารับประทาน [1]
3. ในตำรายาพื้นบ้านของทางอีสานจะใช้รากหรือลำต้นของต้นหนูท้องขาว นำเอามาต้มกับน้ำสำหรับไว้ดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย และมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้อีกด้วย [2]
4. นำมาใช้รักษาอาการตับอักเสบเฉียบพลันแบบดีซ่านได้ (ราก, ลำต้น)[1]
5. นำมาใช้เป็นยารักษาอาการร้อนในภายในช่องปาก (ราก, ลำต้น)[1]
6. นำมาใช้เป็นยารักษาอาการไตอักเสบ (ราก, ลำต้น)[1]
7. นำมาใช้รักษาอาการบวมน้ำ (ราก, ลำต้น)[1]
8. รากหรือลำต้นมีฤทธิ์ในการขับน้ำชื้นภายในร่างกายได้ (ราก, ลำต้น)[1]
-เพิ่มเติม: ขนาดการใช้ของสมุนไพรชนิดนี้นั้น ต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม ส่วนต้นสดให้ใช้ครั้งละ 20-60 กรัม[1]

ประโยชน์ของหนูท้องขาว

1. เกษตรกรในแถบอีสานจะตัดใบของต้นหนูท้องขาวนำมาเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงโคนมช่วยทำให้โคมีน้ำนมมากยิ่งขึ้น[2]
2. นำมาใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์จำพวกโค หรือกระบือได้ โดยการนำใบที่ตัดเอาไว้แล้วนำเอามาเป็นอาหารหรือจะปล่อยให้สัตว์จำพวกโค หรือกระบือมาแทะเล็มเองก็ได้
– คุณค่าทางอาหารของต้นหนูท้องขาวที่มีอายุ 45 วัน: โปรตีน 11.9-14.4%, แคลเซียม 1.04-1.14%, ฟอสฟอรัส 0.16-0.2%, โพแทสเซียม 1.09-1.20%, ADF 38.4-40.2%, NDF 43.1-47.9%, DMD 36.0-45.9% (โดยการใช้วิธี Nylon bag)
– คุณค่าทางอาหารของต้นหนูท้องขาวที่มีอายุประมาณ 45-90 วัน: โปรตีน 11.8-12.4%, ไนเตรท 2.96 ppm, ออกซิลิกแอซิด 29.6-363.8 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, แทนนิน 1.15-2.03%, มิโมซีน 0.77-0.85% และไม่พบสารไนไตรท์[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหนูท้องขาว

1. จากการทดลองโดยการนำสารสกัดมาฉีดเข้าเส้นเลือดดำของสุนัขที่นำมาทดลองในปริมาณอัตราส่วนอยู่ที่ 1.6 ซีซี ต่อ 1 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่พบคือสารสกัดนี้จะไปทำให้เลือดในหลอดเลือดของหัวใจได้เกิดการไหลเวียนเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันอัตราการเต้นของหัวใจก็เกิดลดน้อยลงจากปกติ อีกทั้งยังพบอีกด้วยว่าหัวใจมีกำลังในการบีบตัวของตัวหัวใจเองนี้มากขึ้นอีกด้วย[1]
2. สารที่พบในต้นหนูท้อง ได้แก่ สารในจำพวก Alkaloid, Flavonoid, Glucoside, Phenols และสารแทนนิน[1]
3. สารที่สกัดมาจากที่แห้งแล้วนั้น จากผลการวิจัยพบว่าไม่เป็นพิษต่อเซลล์ของสัตว์[1]
4. จากการทดลองสารสกัดที่มาจากต้นในหนูทดลอง พบว่าสารสกัดนี้มีฤทธิ์ในการคลายกล้ามเนื้อเรียบที่บริเวณลำไส้เล็กของหนูตะเภา และช่วยลดความดันโลหิตในหนูขาว[1]
5. สารที่สกัดมีฤทธิ์ในการไปกระตุ้นน้ำดีของสุนัขที่นำมาทดลอง โดยพบว่าสุนัขตัวนี้มีการไหลของน้ำออกจากถุงน้ำดีมากยิ่งขึ้น[1]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ผีเสื้อน้ำ”. หน้า 356.
2. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “หนูท้องขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [14 พ.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://mplant.ump.edu.vn/index.php/kim-tien-thao-desmodium-styracifolium-asteraceae/
2.https://www.digin.in/index.php?r=search/searchproducts&prid=29081
3.https://opcpharma.com/vuon-duoc-lieu/kim-tien-thao.html