จันทน์กะพ้อ
เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ดอกออกเป็นช่อสั้น ดอกเป็นสีเหลืองนวลขนาดเล็ก และมีกลิ่นหอมแรง ผลจะมีขุยสีน้ำตาล

จันทน์กะพ้อ

จันทน์กะพ้อ มีถิ่นกำเนินอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Vatica diospyroides Symington จัดอยู่ในวงศ์ DIPTEROCARPACEAE[1] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ จันทน์พอ จันทน์พ้อ (ภาคใต้), เขี้ยวงูเขา (พังงา) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะจันทน์กะพ้อ

  • ต้น เป็นต้นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ มีความสูงอยู่ที่ 5-15 เมตร เรือนยอดมีใบน้อย ลักษณะพุ่มกลมโปร่ง กิ่งเปลาและจะแตกออกมาจากยอดเป็นจำนวนมาก เปลือกต้นมีสีน้ำตาลอมเทา จะมียางใสซึมออกมาจากรอยแตก เปลือกชั้นเป็นสีเหลือง [1],[2],[3],[4]
  • ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ความกว้างของใบจะอยู่ที่ 5-7 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ 14-20 เซนติเมตร ใบอ่อนมีสีน้ำตาลแดง และเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน แผ่นใบเกลี้ยงมีลักษณะหนา ใบมีเส้นแขนงอยู่ 15-18 คู่ เส้นจะโค้งจรดที่ขอบใบ ก้านใบมีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร[1],[2],[4]
  • ดอก ออกเป็นช่อสั้นๆ ออกบริเวณกิ่งและง่ามใบ ดอกเป็นสีเหลืองนวลมีขนาดเล็ก และมีกลิ่นหอมแรงมาก กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนโดยจะมีอยู่ 5 กลีบ เรียงเวียนไปคล้ายกังหัน มีขนนุ่มสีน้ำตาลขึ้นที่กลีบดอก ส่วนโคนของกลีบเลี้ยงจะเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย และแยกเป็น 5 แฉกที่ส่วนปลาย ดอกจะออกเมื่อต้นอายุได้ 6-7 ปี ซึ่งจะออกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[3],[4]
  • ผล ลักษณะกลมรี มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร บริเวณผิวของผลจะมีขุยสีน้ำตาลอยู่ ผลแก่จะแตกเป็น 3 กลีบ มีกลีบประดับที่สั้นกว่าผลอยู่ 5 กลีบ ซึ่งกลีบผลจะมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม และพับจีบที่ขอบกลีบตามแนวยาว ภายในมีเมล็ดลักษณะรูปไข่ปลายแหลมอยู่ จะติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[4]

ประโยชน์จันทน์กะพ้อ

  • นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามป่าอนุรักษ์ สนามหน้าบ้าน หรือใช้จัดสวนหย่อม โดยดอกจะมีกลิ่นที่หอมแรง และออกดอกดกมาก[1],[4]
  • คนสมัยก่อนจะนำดอกมากลั่นทำเป็นน้ำมันใส่ผม หรือทำน้ำหอม[2]
  • คนสมัยก่อนจะนำดอกมาเก็บไว้ที่ตู้เสื้อผ้า เพื่อทำให้เสื้อผ้ามีกลิ่นหอม
  • ใช้ไม้ในการก่อสร้างได้[1]

สรรพคุณจันทน์กะพ้อ

1. เนื้อไม้มีสรรพคุณสามารถใช้ในการขับลมได้(เนื้อไม้)[4]
2. ใช้รักษาโรคสันนิบาตได้ หรือโรคพาร์กินสัน (เนื้อไม้)[4]
3. มีสรรพคุณในการแก้เสมหะ (เนื้อไม้)[4]
4. ใช้แก้ลมวิงเวียนได้ (เนื้อไม้)[4]
5. ดอกสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของยาหอมแก้ลม ช่วยในการบำรุงหัวใจได้(ดอก)[2],[3]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “จันทน์กะพ้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [18 ม.ค. 2014].
2. ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “จันทน์กะพ้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [18 ม.ค. 2014].
3. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “จันทน์กะพ้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th. [18 ม.ค. 2014].
4. สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม. “จันทน์กะพ้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.155.220.217/office/ppdd/publicpark/thai/2011/. [18 ม.ค. 2014].
5. https://medthai.com/

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flickr.com/