ต้นรักทะเล
ต้นรักทะเล มีเขตการกระจายพันธุ์ในมาดากัสการ์ อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดจนถึงออสเตรเลีย ชื่อสามัญ Half Flower[4], Beach Naupaka, Sea Lettuce, Beach Cabbage [6] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Scaevola taccada (Gaertn.) Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Scaevola koenigii Vahl, Lobelia frutescens Mill., Scaevola sericea Vahl, Scaevola frutescens var. sericea (Vahl) Merr.) อยู่วงศ์รักทะเล (GOODENIACEAE)[1],[2],[6] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น บงบ๊ง (มลายู, จังหวัดภูเก็ต), โหรา (จังหวัดตราด), รักทะเล (จังหวัดชุมพร), บ่งบง (ภาคใต้) [1],[3]
ลักษณะของต้นรักทะเล
- ต้น เป็นไม้พุ่ม ต้นสูงประมาณ 2-5 เมตร จะแตกกิ่งก้านเยอะ ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงหรือแผ่ไม่เป็นระเบียบ เปลือกต้นจะเรียบ มีไส้ไม้ จะมียางสีขาวข้น กิ่งอ่อนมีลักษณะอวบน้ำและเป็นสีเขียว ที่ซอกใบจะมีขนนุ่ม ขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่ง การเพาะเมล็ด นำหน่อไปปลูกที่ตามพื้นที่ดินทราย ออกดอกออกผลได้ทั้งปี ขึ้นได้ทั่วไปตามพื้นที่โล่ง และมักพบขึ้นทั่วไปตามชายหาด หาดหิน โขดหิน ชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ที่ตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง ตามแนวหลังป่าชายเลน[1],[2],[3],[4],[7]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกตรงข้ามแบบสลับหนาแน่นอยู่ที่บริเวณปลายกิ่ง ใบเป็นรูปไข่กลับ รูปช้อนแกมรูปไข่กลับ ที่ปลายใบจะมนกลม ส่วนที่โคนใบจะเรียวแหลมหรือจะสอบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบถึงหยักมนหรือเว้าเป็นคลื่น มีจุดสีเหลืองอมสีเขียวที่ตามขอบ ใบกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร มีแผ่นใบที่หนากึ่งอวบน้ำ หลังใบเรียบมีลักษณะเป็นมันถึงมีขนอ่อน มีเส้นใบแบบร่างแหขนนก ก้านใบสั้น จะมีขนสีขาวที่ตามซอกใบ ที่ขอบใบอ่อนจะม้วนลง[1],[2],[3]
- ดอก ดอกออกเป็นช่อแบบกระจุก ออกดอกที่ตามซอกใบ มีดอกย่อยอยู่ประมาณ 2-3 ดอก มีใบประดับเล็ก เป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ดอกตูมโค้ง โก่งลงคล้ายกับรูปหัวงู เมื่อดอกบานเป็นรูปปากเปิด กลีบเลี้ยงจะเชื่อมติดเป็นรูประฆัง ที่ปลายจะแยกเป็นแฉกเล็ก 5 แฉก ดอกย่อยมีลักษณะเป็นสีขาวและมีลายสีม่วงอ่อน มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ เป็นแฉกรูปใบหอก ที่ขอบกลีบดอกจะเป็นคลื่นและย่น ส่วนที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดเป็นหลอดและจะผ่าออกทำให้กลีบดอกเรียงกันด้านเดียว (ที่ด้านบนของดอกจะฉีกออกด้านหนึ่ง จึงทำให้แฉกกลีบดอกมีลักษณะโค้งลง) มีเกสรเพศเมียโค้งเด่น และมียอดเกสรที่มีเยื่อเป็นรูปถ้วยคลุม ดอกบานเต็มที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยสามารถยาวได้ถึงประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1],[2],[3]
- ผล เป็นผลสดมีเนื้อ ผลเป็นรูปทรงกลม ที่ปลายผลจะมีกลีบเลี้ยงของดอก ผิวผลมีลักษณะเรียบ ผลสดจะเป็นสีขาวขุ่น ผลสุกจะเป็นสีเหลืองอ่อน ขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีเมล็ดแข็งอยู่ในผลประมาณ 1-2 เมล็ด[1],[2],[3]
สรรพคุณต้นรักทะเล
1. สามารถนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ทานเป็นยาแก้พิษอาหารทะเลได้ อย่างเช่น การทานปู ปลาที่มีพิษ (ราก)[1],[5]
2. ผลจะมีสรรพคุณที่สามารถช่วยทำให้ประจำเดือนของสตรีมาเป็นปกติได้ (ผล)[7]
3. รากจะมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้บิดได้ (ราก)[4]
4. ใบจะมีสรรพคุณที่สามารถช่วยแก้ธาตุพิการ (ใบ)[7]
5. สามารถนำรากมาใช้เป็นยาแก้เหน็บชาได้ (ราก)[4]
6. นำใบมาตำสามารถใช้พอกแก้อาการแก้ปวดศีรษะ ปวดบวมได้ และสามารถนำใบไปผิงไฟใช้ประคบแก้ปวดบวมได้ (ใบ)[1],[3]
7. สามารถนำเปลือกจากเนื้อไม้ ใบ ดอกมาผสมปรุงเป็นยาขับปัสสาวะได้ (เปลือกจากเนื้อไม้,ใบ, ดอก)[2]
8. สามารถนำน้ำที่ได้จากการต้มใบมาทานช่วยย่อยได้ (ใบ)[1],[7]
ประโยชน์ต้นรักทะเล
- มีบางข้อมูลระบุไว้ว่าสามารถใช้ใบรักทะเลเป็นยาสูบได้[5]
- ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับทั่วไปได้[3]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือนักสืบชายหาด : คู่มือสัตว์และพืชชายหาด. (วิภาพรรณ นาคแพน, สรณรัชฎร์ กาญจนะวณิชย์, จักรกริช พวงแก้ว). “รักทะเล”. หน้า 145.
2. ระบบฐานข้อมูลพรรณไม้ที่เหมาะสมกับระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชน เพื่อลดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยองและพื้นที่ใกล้เคียง ภายใต้โครงการชุมชนอยู่คู่อุตสาหกรรม, สำนักสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “รักทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: onep-intranet.onep.go.th/plant/. [27 พ.ค. 2014].
3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “รักทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [27 พ.ค. 2014].
4. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “รักทะเล (Rug Thalae)”. หน้า 259.
5. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “Scaevola taccada”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org//wiki/Scaevola_taccada. [27 พ.ค. 2014].
6. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “รักทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [27 พ.ค. 2014].
7. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “รักทะเล”. หน้า 134.
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.natureloveyou.sg/
2.https://www.floraofsrilanka.com/