ต้นคนทา สรรพคุณของรากบรรเทาอาการปวดเมื่อย

0
1405
ต้นคนทา สรรพคุณของรากบรรเทาอาการปวดเมื่อย เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้เถา ปลายใบแหลมโคนสอบขอบใบมีรอยหยัก ดอกเป็นช่อ ดอกย่อยด้านในสีขาวนวล ด้านนอกสีแดงแกมม่วง
คนทา
เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้เถา ปลายใบแหลมโคนสอบขอบใบมีรอยหยัก ดอกเป็นช่อ ดอกย่อยด้านในสีขาวนวล ด้านนอกสีแดงแกมม่วง

คนทา

คนทา มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่จีนตอนใต้ลงไปจนถึงประเทศมาเลเซีย ในประเทศไทยจะพบได้มากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยมักจะพบในป่าเขาหินปูน ป่าผลัดใบ และป่าละเมาะ[1],[2],[7],[10] ชื่อวิทยาศาสตร์ Harrisonia perforata (Blanco) Merr.[2] จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ส้ม (RUTACEAE) ชื่ออื่น ๆ คนทา (ภาคกลางของไทย), หนามโกทา โกทา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย), จี้ จี้หนาม สีเตาะ หนามจี้[1],[3] สีเดาะ[2] (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของไทย), มีซี[1],[3] มีชี[2] (ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน), หนามกะแท่ง (จังหวัดเลย), ขี้ตำตา (จังหวัดเชียงใหม่), สีฟัน กะลันทา สีฟันคนทา สีฟันคนตาย (อื่น ๆ) เป็นต้น[1],[2],[3],[11]

ลักษณะของคนทา

  • ต้น
    – เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้เถาหรือไม้พุ่มประเภทเลื้อย
    – ลำต้นมีลักษณะคล้ายต้นหมาก เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล ทั่วทั้งลำต้นและกิ่งก้านจะมีหนามขนาดเล็กขึ้นปกคลุม
    -ความสูงของต้น ประมาณ 3-6 เมตร
    – การขยายพันธุ์ ใช้วิธีการเพาะเมล็ด
  • ใบ
    – ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใน 1 ก้านใบ จะมีใบย่อยประมาณ 11-15 ใบ ใบย่อยมีเป็นรูปไข่รี บริเวณปลายใบแหลม ตรงโคนใบสอบ ส่วนขอบใบมีรอยหยัก โดยใบจะมีสีเขียว แต่ใบอ่อนจะมีสีแดง[1],[2]
    -สัดส่วนขนาดของใบ: ใบมีความกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร
    -การผลัดใบของต้นคนทา: เป็นไม้ไม่ผลัดใบ
  • ดอก
    – ออกดอกเป็นช่อ ภายในช่อมีดอกย่อยขนาดเล็กอยู่กระจุกรวมตัวกันอยู่ ดอกย่อยมีกลีบดอกอยู่ประมาณ 4-5 กลีบเป็นรูปขอบขนาน จุดเด่นของช่อดอกต้นคนทาจะอยู่ที่ดอกย่อยด้านในจะเป็นสีขาวนวล ส่วนด้านนอกจะเป็นสีแดงแกมม่วง[2],[3]
  • ผล
    – ผลมีรูปร่างเป็นทรงกลมออกเบี้ยว ผลตอนอ่อนจะเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสีเป็นสีแดงเข้มอมเขียว ผิวผลเรียบ ภายในผลมีเนื้อที่ค่อนข้างแข็ง
  • เมล็ด
    – เมล็ดมีขนาดเล็กเป็นสีน้ำตาล ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด

สรรพคุณของต้นคนทา

1. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการท้องเสีย (ทั้งต้น)[11]
2. ทั้งต้นมีฤทธิ์ในการช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำได้ (ทั้งต้น)[2]
3. เปลือกต้น ลำต้น ราก หรือเปลือกราก อย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถนำมาต้มเป็นยาแก้ไข้ได้ทุกชนิด (เปลือกต้น, ต้น, ราก, เปลือกราก)[1],[2],[3],[4],[7],[8]
4. เปลือกต้น ราก หรือเปลือกราก อย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถนำมาต้มใช้สำหรับทานเป็นยารักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินลำไส้ได้ (เปลือกต้น, ราก, เปลือกราก)[1],[2],[3],[5],[7],[8]
5. เปลือกต้น ลำต้น ราก หรือเปลือกราก อย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถนำมาต้มใช้สำหรับทานเป็นยารักษาอาการท้องร่วงและโรคบิดได้ (เปลือกต้น, ลำต้น, ราก, เปลือกราก)[1],[2],[3],[5],[7]
6. ต้นและรากมีสรรพคุณในการรักษาอาการร้อนในและบรรเทาอาการกระหายน้ำ (ต้น, ราก)[5],[8]
7. ต้นมีสรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิต (ต้น)[5]
8. เปลือกต้นมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวดฟันได้ (เปลือกต้น)[6]
9. เปลือกรากมีสรรพคุณในการป้องกันโรคอหิวาตกโรค (เปลือกราก)[5]
10. ใบมีสรรพคุณในการรักษาอาการปวดได้ คล้ายยาแก้ปวดอย่าง ยาพาราเซตามอล เป็นต้น (ใบ)[5],[8]
11. ดอกมีฤทธิ์ในการแก้พิษจากแมลงกัดต่อย(ดอก)[5],[8]
12. รากมีฤทธิ์ในการขับโลหิต (ราก)[5]
13. รากมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวดเมื่อย (ราก)[5]
14. รากมีสรรพคุณในการช่วยบรรเทาอาการบวม หรือบวมพองได้ (ราก)[5]
15. รากมีฤทธิ์ในการช่วยขับลม (ราก)[5]
16. รากมีสรรพคุณในการรักษาอาการน้ำเหลืองเสีย (ราก)[5]
17. รากมีส่วนช่วยในการสมานแผล (ราก)[5]
18. รากของต้นคนทาเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของสูตรยา “ยาห้าราก” หรือที่เรียกกันว่าตำรับยา “เบญจโลกวิเชียร” ยามีสรรพคุณลดไข้และบรรเทาอาการปวด (คล้ายยาพาราเซตามอล) และเป็นตำรับยาที่ไม่ส่งผลเสียต่อตับหรือมีผลข้างเคียงหลังการใช้ในระยะยาว โดยถือเป็นตำรับยาแผนโบราณที่ได้ถูกบันทึกไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติอีกด้วย (ราก)[9]

ประโยชน์ของต้นคนทา

1. ต้นคนทามีประโยชน์ในการใช้ทำเป็นยาสมุนไพร[1]
2. ผลคนทานำมาใช้ย้อมสีผ้าได้ โดยจะให้สีเทาม่วง[10]
3. เนื้อไม้ของต้นคนทามักนำมาทำเป็นคานหาบน้ำ[6]
4. เปลือกต้นนำมาใช้ทำเป็นยารักษาอาการเจ็บตาในสัตว์จำพวกม้า (เปลือกต้น)[5]
5. กิ่งก้านของต้นคนทานำมาใช้ทำเป็นแปรงสีฟันเพื่อนำไปถวายให้พระสงฆ์ในช่วงที่มีการถวายพุ่มเทียนพรรษา และพระสงฆ์สายธรรมยุตที่จำศีลอยู่วัดป่าของทางภาคอีสาน (กิ่งก้าน)[2],[11]
6. ชาวเมืองจะใช้ผลอ่อนนำไปเผา จากนั้นทุบให้หยาบใช้สำหรับทาบริเวณเท้าก่อนที่เริ่มการทำนา มีประโยชน์ในการช่วยป้องกันน้ำกัดเท้า (คนเมือง)[6]
7. ชาวเมืองจะนำเนื้อไม้ของต้นคนทามาทำเป็นฟืนในพิธีกวนข้าวทิพย์ (คนเมือง)[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. จากการวิจัยพบว่าต้นคนทามีสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ reverse transriptase ได้[5]
2. จากการวิจัยในสัตว์ ผลพบว่าสารสกัดจากรากและกิ่งของต้นคนทานั้น มีฤทธิ์ในการต่อต้านสารที่มีชื่อว่าฮิสตามีน[4],[5]
3. จากการวิจัยพบว่าสารสกัดจากใบและกิ่งของคนทามีฤทธิ์ ที่สามารถต่อต้านเชื้อมาลาเรียได้[4],[5],[7]
4. จากการวิจัยพบว่าต้นคนทามีสารสำคัญอันได้แก่ Heteropeucenin, 5 –methoxy: 7-methylether; Heteropeucenin-7-methyl ether; obacunone; perforatic acid; perforatin A; perforatin B; ?-sitosteral[5]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “คนทา”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 158.
2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “คนทา (Khontha)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 72.
3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “คนทา”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 83.
4. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “คนทา”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 117.
5. สมุนไพรในร้านยาโบราณ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “คนทา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th. [13 ก.พ. 2014].
6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “กะลันทา, สีฟัน, ไม้หนาม, คนทา, สีฟันคนทา”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [13 ก.พ. 2014].
7. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3
8. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร, กรมวิชาการเกษตร. “คนทา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doa.go.th/hrc/chumphon/. [13 ก.พ. 2014].
9. GotoKnow. “ยาห้าราก ( แก้วห้าดวง เบญจโลกะวิเชียร ) ยาเย็น แก้ไข้ร้อน ในเด็ก ผู้ใหญ่”. (นพ.วีรพัฒน์ เงาธรรมทรรศน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [13 ก.พ. 2014].
10. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม. “คนทา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [13 ก.พ. 2014].
11. มูลนิธิสุขภาพไทย. “หนามโกทา รักษาฟัน”., “Herbal tooth brush รักษาฟัน และฝึกสติ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [13 ม.ค. 2014].
12. https://medthai.com/

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/
2.https://www.flickr.com/