กัญชง
กัญชง เป็นพืชที่คนทั่วไปรู้จัก เพราะมีความคล้ายคลึงกับต้นกัญชา แต่กัญชงนั้นไม่ใช่สารเสพติดเหมือนกัญชา ต้นกัญชงเป็นพืชที่นิยมนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการถักทอ โดดเด่นอย่างมากในการนำเส้นใยมาใช้ทำผ้า โดยเฉพาะกิโมโนในประเทศญี่ปุ่น ส่วนของเมล็ดมีโปรตีนสูงมาก เป็นส่วนหนึ่งของต้นที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เป็นพืชที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของโลก
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกัญชง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cannnabis sativa L. Subsp. sativa
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Hemp”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กัญชา (CANNABACEAE)
ลักษณะของกัญชง
กัญชง เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุเพียงปีเดียวที่มีแหล่งกำเนิดในเอเชียกลาง และแพร่กระจายไปสู่เอเชียตะวันออก อินเดีย และในทวีปยุโรป
ลำต้น : ลำต้นเป็นสีเขียวตั้งตรง อวบน้ำเมื่อเป็นต้นกล้า จะเริ่มมีการสร้างเนื้อไม้เมื่ออายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ ราก : เป็นระบบรากแก้วและมีรากแขนงเป็นจำนวนมาก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวรูปฝ่ามือ แผ่นใบแก่แยกเป็นแฉก 7 – 9 แฉก การเรียงตัวของใบค่อนข้างห่าง ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยและเว้าลึกจนถึงโคนใบ ปลายใบสอบและเรียวแหลม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกมีขนาดเล็กสีขาว เป็นแบบแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน ช่อดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นสีเขียวอมเหลือง มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยงสีเขียวเข้มหุ้มรังไข่ไว้ ภายใน stigma 2 อัน สีน้ำตาลแดง
ผล : เป็นเมล็ดแห้งสีเทา ลักษณะเป็นรูปไข่ ผิวเรียบเป็นมันและมีลายประสีน้ำตาล เมื่อแห้งจะเป็นสีเทา ภายในเมล็ดมีอาหารสะสมจำพวกแป้งและไขมันอัดกันแน่น
สรรพคุณของกัญชง
สรรพคุณจากใบ เป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ทำให้สดชื่น ช่วยให้นอนหลับสบาย ช่วยรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ แก้ปวดศีรษะหรือไมเกรน ช่วยแก้กระหาย รักษาโรคท้องร่วง แก้บิด ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ช่วยคลายกล้ามเนื้อ รักษาโรคเกาต์
สรรพคุณจากเมล็ด ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งในร่างกาย
– ช่วยสลายนิ่ว โดยภูมิปัญญาชาวม้งนำเมล็ดมาเคี้ยวสด ๆ เป็นยา
สรรพคุณน้ำมันจากเมล็ด ช่วยบำรุงผิวแห้ง รักษาโรคผิวแห้งคัน และสะเก็ดเงิน
ประโยชน์ของกัญชง
1. ใช้ในอุตสาหกรรมทอผ้า เปลือกจากลำต้นให้เส้นใยนำไปใช้ทำเป็นเส้นด้ายและเชือก ใช้สำหรับการทอผ้า ทำเครื่องนุ่งห่ม ใช้เป็นรองเท้าของคนตายเพื่อเดินทางไปสู่สวรรค์ ใช้ทำเป็นด้ายสายสิญจน์ในพิธีกรรมต่าง ๆ พิธีเข้าทรง เป็นเส้นใยมงคลที่ชาวญี่ปุ่นนิยมนำมาตัดกิโมโน
2. ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เนื้อของลำต้นผลิตเป็นกระดาษได้ แกนของต้นช่วยดูดซับกลิ่น น้ำ หรือน้ำมันได้ดี เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่งอาคารและเฟอร์นิเจอร์
3. ผลิตเป็นพลังงาน ผลิตเป็นพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถ่านไม้, Alcohol, Ethanol, Methanol
4. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เมล็ดใช้เป็นอาหารของคนและนก เมล็ดนำมาสกัดเอาน้ำมันมาใช้ในการปรุงอาหารได้ เมล็ดทำผลิตภัณฑ์เนย ชีส เต้าหู้ โปรตีนเกษตร นม ไอศกรีม น้ำมันสลัด อาหารว่าง อาหารเสริม ผลิตเป็นแป้งทดแทนถั่วเหลือง ใบนำมาใช้เป็นชาเพื่อสุขภาพ
5. ใช้ในอุตสาหกรรมทำความสะอาดและความงาม น้ำมันจากเมล็ดนำไปผลิตเป็นน้ำมันซักแห้ง ทำสบู่ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด แชมพู สบู่ โลชั่นบำรุงผิว ลิปสติก ลิปบาล์ม แผ่นมาส์กหน้า เป็นตำรับครีมน้ำมันกัญชง สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
6. ด้านสิ่งแวดล้อม ในประเทศญี่ปุ่นมีการปลูกต้นกัญชงเพื่อกำจัดกัมมันตภาพรังสีให้สลายตัวที่จังหวัด Fugushima และสารกัมมันตภาพรังสีรั่วจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ระเบิดจากสึนามิ
กัญชง เส้นใยจากต้นกัญชงนั้นมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนม้ง เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการใช้งานได้หลายด้าน รวมถึงเป็นต้นสำคัญของตนญี่ปุ่นอีกด้วย ทั้งการนำมาใช้ทำกิโมโนและการนำมากำจัดกัมมันตภาพรังสีให้สลายตัว ถือเป็นต้นมากประโยชน์ที่ไม่ควรมองข้าม กัญชงมีสรรพคุณทางยาได้ 2 ส่วนจากต้นทั้งใบและเมล็ด มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยบำรุงผิวแห้ง ช่วยให้นอนหลับสบาย ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งในร่างกาย
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานเกษตรอำเภอพบพระ จังหวัดตาก. “มารู้จัก “กัญชง” กันเถอะ…”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tak.doae.go.th. [20 มิ.ย. 2015].
ผู้จัดการออนไลน์. “สวยปิ๊ง! ด้วย “กัญชงจากกัญชา” ผลงานวิจัย จาก มช.”. ( ทีมนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th. [20 มิ.ย. 2015].
พันทิปดอทคอม. “ความมหัศจรรย์ของผ้าทอจากเส้นใยต้นกัญชง”. (by ตาลโตน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : pantip.com. [20 มิ.ย. 2015].
สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (NNT). “ททท.ตาก ร่วมกับอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ นำพี่น้องชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง โชว์อลังการทอผ้าใยกัญชง สืบสานวัฒนธรรมชาวม้ง บูชาเทพเจ้า หรือ เย่อโซ๊ะ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : thainews.prd.go.th. [20 มิ.ย. 2015].
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน). “เฮมพ์ (กัญชง)”. เข้าถึงได้จาก : www.sacict.net. [20 มิ.ย. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1.https://www.theguardian.com/environment/2022/nov/24/could-hemp-be-a-key-tool-in-fight-against-climate-change
2.https://cals.ncsu.edu/news/hemp-north-carolinas-budding-industry/