

ตะเคียนทอง
ตะเคียนทอง พบในประเทศบังกลาเทศ, ประเทศกัมพูชา, ประเทศอินเดีย, ประเทศลาว, ประเทศมาเลเซีย, ประเทศพม่า, ประเทศไทย และประเทศเวียดนาม ชื่อสามัญ Malabar iron wood, Takian, Thingan, Iron wood, Sace ชื่อวิทยาศาสตร์ Hopea odorata Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)[1],[3],[5] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ตะเคียนใหญ่ (ภาคกลาง), แคน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), จะเคียน (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[3],[5]
ลักษณะตะเคียนทอง
- ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงอยู่ที่ 20-40 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง มีเส้นรอบวงกว่า 300 เซนติเมตร เรือนยอดมีลักษณะกลมเป็นทรงพุ่มทึบ เปลือกต้นมีสีน้ำตาลดำ มีลักษณะต้นหนา แตกเป็นสะเก็ด แก่นไม้มีสีน้ำตาลแดง เนื้อไม้เป็นสีเหลืองหม่น มีท่อน้ำมันหรือยางเป็นเส้นสีเทาขาวทอดผ่านอยู่เสมอ [1],[2],[3],[6]
- ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบเรียว โคนใบเบี้ยว แผ่นใบจะเหนียวแต่บาง หลังใบเกลี้ยงเป็นมัน มีตุ่มหูดอยู่ที่บริเวณท้องใบตามง่ามแขนง ความกว้างของใบจะอยู่ที่ 3-6 เซนติเมตร และความยาวจะอยู่ที่ 10-15 เซนติเมตร มีเส้นแขนงอยู่ 9-13 คู่ที่ใบ ใบย่อยเชื่อมกันเป็นขั้นบันได หูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม[1],[3],[8]
- ดอก เป็นดอกช่อ ช่อดอกจะออกบริเวณปลายกิ่งและง่ามใบ เป็นช่อแบบแยกแขนง มีความยาวอยู่ที่ 5-7 เซนติเมตร ในหนึ่งช่อจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 40-50 ดอก ดอกมีสีเหลืองแกมน้ำตาล ดอกมีขนาดเล็กและมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ดอกมีกลิ่นหอม มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ แต่ละกลีบจะมีความยาว 3-5 มิลลิเมตร ดอกที่บานเต็มที่ดอกจะบิดเป็นกงจักรและจะมีขนาดเพียง 0.3-1 เซนติเมตร กลีบดอกส่วนปลายจะหยัก กลีบดอกส่วนล่างจะบิดและเชื่อมติดกันอยู่ ในดอกมีเกสรตัวผู้ 15 อัน ส่วนยอดของอับเรณูจะแหลม รังไข่ของเกสรตัวเมียจะอยู่เหนือวงกลีบ ดอกจะไม่ออกทุกปี และออกแค่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1],[8]
- ผล เป็นผลแห้งและไม่แตก ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน และพอสุกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะของผลจะกลมหรือเป็นรูปไข่เกลี้ยง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลจะอยู่ที่ 0.6 เซนติเมตร ส่วนปลายของผลจะมนและมีติ่งเป็นหนามแหลมอยู่ มีปีกยาว 4-6 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายรูปใบพาย มีอยู่ 1 คู่ ส่วนปลายของปีกมีความกว้างอยู่ที่ 1 เซนติเมตร และจะเริ่มเรียวสอบเข้ามาทางด้านโคนปีก มีเส้นปีกอยู่ตามแนวยาว 9-11 เส้น และจะมีปีกสั้นๆ ซ้อนกันอยู่ 3 ปีก ในหนึ่งผลจะมีเพียงเมล็ดเดียว ลักษณะของเมล็ดจะกลมและเป็นสีน้ำตาล ปีกจะมีหน้าที่พาผลให้ปลิวไปตามลมได้ไกล และจะเริ่มเกิดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[3],[8]
ประโยชน์ตะเคียนทอง
1. สารแทนนิน ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำให้แผ่นหนังมีความแข็งขึ้นกว่าเดิม เมื่อนำมาใช้ฟอก[6]
2. มีน้ำฝาดชนิด Catechol และ Pyrogallol อยู่ในเปลือกต้น[1]
3. สามารถนำมาปลูกตามป่า หรือสวน เพื่อให้ร่มเงา เป็นไม้เอาไว้บังลม รักษาสมดุลทางธรรมชาติ เนื่องจากไม่ผลัดใบพร้อมกัน ทำให้มีความเขียวอยู่ตลอดทั้งปี[4],[5],[6]
4. สามารถทำน้ำมันจากชันของไม้ได้ โดยจะนำมาใช้ชักเงาตกแต่งเครื่องใช้ หรือนำมาทาเคลือบเรือเพื่อป้องกันเพรียง[1],[5],[6],[8]
5. สามารถนำไม้ตะเคียนมาใช้ประโยชน์ในงานไม้ได้ทุกอย่างที่ต้องการความแข็งแรงและคงทน เช่น สร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำพื้นกระดาน ทำฝ้า ทำรั้ว ต่อเรือ ทำเกวียน ทำกังหัน เป็นต้น เพราะเนื้อไม้มีความทนทาน ทนต่อปลวกได้ดี[1],[2],[3]
สรรพคุณตะเคียนทอง
1.สามารถนำมาทำยาแก้อาการเจ็บปวดได้ เช่น ยาหม่อง โดยจะนำยางของไม้ตะเคียนที่บดเป็นผงมาทำ(ยาง)[6]
2. สามารถนำยางมาผสมกับน้ำ เพื่อทำเป็นยาทารักษาบาดแผลได้(ยาง)[1],[4],[7],[8]
3. เปลือกต้นต้มกับน้ำสามารถนำมาใช้ล้างแผลเรื้อรังได้(เปลือกต้น)[1]
4. มีคุณสมบัติในการช่วยห้ามเลือด(เปลือกต้น, เนื้อไม้)[5],[8],[9]
5. มีสรรพคุณในการรักษาอาการท้องร่วง (แก่น, เนื้อไม้)[10]
6. ใช้ฆ่าเชื้อโรคในช่องปากได้(เปลือกต้น)[8],[9]
7. แก่น มีคุณสมบัติในการรักษาอาการปวดฟัน หรือแก้อาการเงือกบวม(แก่น)[10]
8. มีสรรพคุณในการขับเสมหะได้(แก่น)[3],[4],[7],[8]
9. มีคุณสมบัติในการควบคุมธาตุ (เนื้อไม้)[10] ปิดธาตุ (แก่น,ยาง)[10]
10. มีฤทธิ์เป็นยาแก้แพ้ ช่วยต่อต้านพวกเชื้อรา แบคทีเรีย รวมไปถึงยีสต์[10]
11. แก่น ใช้รักษาคุดทะราดได้(แก่น)[3],[4],[7],[8]
12. มีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะ สามารถนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรคได้(เปลือกต้น, เนื้อไม้)[8],[9]
13. มีสรรพคุณในการแก้อาการอักเสบ(เปลือกต้น, เนื้อไม้)[5],[8],[9]
14. เปลือกต้น สามารถใช้เป็นยาในการสมานแผลได้(เปลือกต้น)[8],[9]
15. ยาง มีสรรพคุณในการแก้อาการท้องเสีย(ยาง)[10]
16. ส่วนของเปลือกต้น มีสรรพคุณในการแก้บิดมูกเลือด(เปลือกต้น)[8],[9]
17. สามารถใช้แก้อาการเหงือกอักเสบได้(เปลือกต้น)[8],[9]
18. สามารถนำเปลือกต้นมาต้มกับเกลือใช้อม เพื่อป้องกันฟันหลุดจากการกินยาเข้าปรอท(เปลือกต้น)[1],[5]
19. เปลือกต้น ใช้แก้อาการลงแดงได้(เปลือกต้น)[8],[9]
20. แก่นต้นสามารถใช้แก้โลหิตและกำเดาได้ โดยแก่นจะมีรสหวาน(แก่น)[3],[4],[7],[8]
สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [19 ม.ค. 2014].
2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [19 ม.ค. 2014].
3. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ตะเคียน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [19 ม.ค. 2014].
4. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [19 ม.ค. 2014].
5. สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.155.220.217/office/ppdd/publicpark/thai/2011/. [19 ม.ค. 2014].
6. ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.forest.go.th. [19 ม.ค. 2014].
7. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [19 ม.ค. 2014].
8. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [19 ม.ค. 2014].
9. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ตะเคียนทอง (Ta Khian Tong)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้าที่ 122.
10. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thongthailand.com. [19 ม.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.monaconatureencyclopedia.com/
2. https://www.iplantz.com/
3. https://medthai.com/