เติม
เติม หรือเรียกอีกอย่างว่า “ต้นประดู่ส้ม” สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ทั้งต้นมีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพรได้ เนื้อไม้มีรสฝาดขม ดอกมีรสร้อนหอม ในเมล็ดพบน้ำมันมีกลิ่นหอมเป็นสีเหลืองอ่อน ยอดอ่อนและดอกสามารถนำไปประกอบอาหารได้ ผลสุกมีรสเปรี้ยวและฝาด เปลือกต้นมีสารแทนนินมากจึงนำมาใช้ย้อมสีได้โดยให้สีชมพู มีช่อดอกและช่อผลที่สวยงามจึงนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับให้ความร่มเงาได้ด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเติม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bischofia javanica Blume
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Java cedar”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดกาญจนบุรีและนครราชสีมาเรียกว่า “ดู่ส้ม” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “ดู่น้ำ ประดู่ส้ม” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “ประส้มใบเปรี้ยว ประดู่ใบเปรี้ยว” จังหวัดเลยเรียกว่า “ยายตุหงัน” จังหวัดสุโขทัยเรียกว่า “กระดังงาดง” จังหวัดพังงาเรียกว่า “จันบือ” จังหวัดตรังเรียกว่า “ส้มกบ ส้มกบใหญ่” จังหวัดยะลาเรียกว่า “กุติ กุตีกรองหยัน กรองประหยัน ขมฝาด จันตะเบือ ย่าตุหงัน” จังหวัดปัตตานีเรียกว่า “ยายหงัน” คนเมืองเรียกว่า “ไม้เติม” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “ซะเต่ย” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ซาเตอ” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “ชอชวาเหมาะ” ชาวม้งเรียกว่า “ด่งเก้า” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “เดี๋ยงซุย” ชาวลัวะเรียกว่า “ไม้เติม ลำผาด ลำป้วย” ชาวปะหล่องเรียกว่า “ด่อกะเติ้ม” ชาวขมุเรียกว่า “ละล่ะทึม” จีนกลางเรียกว่า “ชิวเฟิงมู่ ฉง หยางมู่”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)
ลักษณะของต้นเติม
เติม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่มีเขตการกระจายพันธุ์จากอินเดียไปจนถึงประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก มักจะพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ หรือริมลำห้วย
ต้น : เป็นทรงเรือนยอดค่อนข้างทึบ กิ่งมักคดงอ
ลำต้น : ลำต้นมีเนื้อไม้สีน้ำตาลอมสีเหลือง มีกลิ่นหอม เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือเป็นสีน้ำตาลอมแดง และจะเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่อมีอายุมากขึ้น เปลือกชั้นในเป็นสีน้ำตาลอมแดง และมียางสีแดง
ใบ : เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบเรียงสลับกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปวงรีแกมไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบหยักโค้งแกมฟันเลื่อย เนื้อใบหนาเกลี้ยง ด้านหลังใบเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ แยกแขนงออกตามซอกใบ ช่อดอกห้อยลง แต่ละช่อมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก เป็นสีเหลืองอ่อนอมเขียว ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน เมื่อดอกบานจะบานพร้อมกันทั้งต้นทำให้ดูสวยงามมาก และดอกจะร่วงโรยทั้งต้นในวันรุ่งขึ้น มักจะออกดอกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม
ผล : ออกผลเป็นช่อ เป็นผลสด ฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลค่อนข้างกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล สีเหลืองหรือเป็นสีส้มแกมสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 3 – 4 เมล็ด และมีเนื้อหุ้มอยู่ ผลจะแก่จัดในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
สรรพคุณของเติม
- สรรพคุณจากเนื้อไม้
– บำรุงโลหิต แก้โลหิตกำเดา แก้ไข้เพื่อโลหิต ด้วยการนำเนื้อไม้มาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากรากและเปลือก เป็นยาฟอกโลหิต แก้โลหิตกำเดา ช่วยลดบวม
– ช่วยขับลมชื้น แก้อาการปวดกระดูก แก้ปวดข้อกระดูก ด้วยการนำเปลือกต้นหรือราก 15 กรัม มาดองกับเหล้าทาน นำมาทาหรือนวดบริเวณที่ปวด - สรรพคุณจากใบ ช่วยแก้ตานซางในเด็ก ช่วยแก้ปอดอักเสบ แก้ท้องร่วง ช่วยแก้ตับอักเสบเนื่องจากติดไวรัส เป็นยาแก้ฝีหนอง
– แก้เจ็บคอ ด้วยการนำใบสด 35 กรัม มาตำให้พอแหลก คั้นเอาแต่น้ำทาน
– แก้มะเร็งในกระเพาะอาหารหรือในทางเดินอาหาร ด้วยการนำใบสด 60 – 100 กรัม มาต้มกับเนื้อทานติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน หรือนำใบสด 60 กรัม มาผสมกับกาฝากลูกท้อ ยิ้ง แปะหม่อติ้ง จุยเกียมเช่า อย่างละ 15 กรัม มาผสมรวมกันต้มกับน้ำ 2 ครั้ง ใช้แบ่งทานวันละ 4 ครั้ง - สรรพคุณจากลำต้น
– แก้เจ็บคอ แก้เสียงแหบแห้ง แก้บิด ด้วยการนำลำต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากเปลือกต้นและใบ
– แก้เจ็บคอ แก้โรคบิด แก้อาการท้องเดิน ด้วยการนำเปลือกลำต้นและใบมาต้มดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้เสมหะ ช่วยแก้ลมจุกเสียด แก้อาการท้องขึ้น แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
- สรรพคุณจากเปลือกต้น แก้ท้องร่วง
– แก้อาการท้องเสีย ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
– ช่วยป้องกันอาการท้องเสีย ด้วยการนำเปลือกต้นมาตำผสมกับอาหารที่มีรสจัด - สรรพคุณจากยอดอ่อน
– แก้อาการท้องเสีย ด้วยการนำยอดอ่อนมาต้มกับน้ำดื่ม - สรรพคุณจากแก่น แก้ท้องร่วง
ประโยชน์ของเติม
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและดอกนำมาประกอบอาหาร นำมาลวกหรือทานสดจิ้มกับน้ำพริก นำมาหมกกับเกลือใช้ทานแบบเมี่ยง นำใบอ่อนมาสับให้ละเอียดใช้เป็นส่วนผสมในการทำลาบ ยอดอ่อนใช้ลนไฟมาใช้ในการประกอบอาหารเพื่อช่วยเพิ่มรสเปรี้ยว ผลสุกสามารถนำมารับประทานได้ โดยจะมีรสเปรี้ยวและฝาด
2. เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม เนื้อไม้เป็นสีเทาแกมสีน้ำตาลไหม้ เนื้อไม้หยาบ สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้าง ทำสะพาน ทำฝา พื้นกระดาน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำเครื่องเรือน ทำอุปกรณ์ใช้งานที่ทนน้ำ ลำต้นนำมาเผาเอาถ่านได้ เปลือกต้นมีสารแทนนินมาก ทำให้นำมาใช้ในการย้อมสีภาชนะใช้สอยประเภทกระบุง ตะกร้า เครื่องเรือนที่ทำด้วยหวายหรือไม้ไผ่ โดยจะให้สีชมพู
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาได้
เติม เป็นต้นที่สามารถนำทั้งต้นมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เป็นทั้งผักและส่วนประกอบในอาหาร เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม และปลูกเป็นไม้ประดับได้ มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้บิด บำรุงเลือด แก้ปวดข้อกระดูก ช่วยแก้ปอดอักเสบ แก้ท้องร่วง ช่วยแก้ตับอักเสบเนื่องจากติดไวรัส แก้มะเร็งในกระเพาะอาหารหรือในทางเดินอาหาร แก้เจ็บคอและแก้ท้องเสียได้
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เติม Java Cedar”. หน้า 48.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “เติม”. อ้างอิงใน: หนังสือไม้ต้นในสวนพฤกษศาสตร์และ พืชสมุนไพร เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [17 มี.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Java cedar”. อ้างอิงใน: หนังสือสารานุกรมสมุนไพร : รวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา), หนังสือองค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 1 (สุธรรม อารีกุล, จำรัส อินทร, สุวรรณ ทาเขียว, อ่องเต็ง นันทแก้ว). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [17 มี.ค. 2014].
Digital Library. “ประดู่ส้ม ผลกินได้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.school.net.th/library/new/index.htm. [17 มี.ค. 2014].
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ประดู่ส้ม”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 318.
รูปอ้างอิง
https://biodiversity.bt/observation/show/12591