ชุมเห็ดไทย

ชุมเห็ดไทย

ชุมเห็ดไทย เป็นไม้พุ่มที่มักจะพบตามริมคลอง ที่รกร้าง ตามริมทางทั่วไป บางคนอาจจะเคยเห็นแต่ไม่รู้ว่าชื่ออะไร ซึ่งส่วนของเมล็ดมีรสขมหวานชุ่ม เป็นยาเย็นที่ดีต่อระบบประสาท นอกจากนั้นยังช่วยแก้โรคยอดนิยมได้หลายชนิด เป็นพืชข้างทางที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรอีกชนิดหนึ่ง นิยมนำส่วนของใบอ่อนมารับประทานในรูปแบบของผักสด และยังนำเมล็ดมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมสีผ้าได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของชุมเห็ดไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna tora (L.) Roxb.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Foetid cassia” “Sickle senna”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ชุมเห็ดควาย ชุมเห็ดเขาควาย ชุมเห็ดนา ชุมเห็ดเล็ก เล็บมื่นน้อย เล็บมื้น” ภาคเหนือเรียกว่า “เล็บหมื่นน้อย ลับมืนน้อย เล็บมื่นน้อย” จังหวัดสุโขทัยเรียกว่า “พรมดาน พราดาน” จังหวัดมหาสารคามเรียกว่า “เล็นเค็ด” จังหวัดปราจีนบุรีเรียกว่า “หญ้าลึกลืน หญ้าลักลืน” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “กิเกีย หน่อปะหน่าเหน่อ หน่อปะหน่ำเหน่อ” ชาวจีนเรียกว่า “ก๊วกเม้ง เอียฮวยแซ” จีนกลางเรียกว่า “เจี๋ยหมิงจื่อ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Cassia tora L.

ลักษณะของชุมเห็ดไทย

ชุมเห็ดไทย เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กอายุ 1 ปี มักจะพบตามริมคลอง ตามที่รกร้าง หรือตามริมทางทั่วไป
ลำต้น : เป็นสีเขียวอมสีน้ำตาลแดง ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก เป็นทรงพุ่ม มีขนอ่อนปกคลุม
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อย 3 คู่ ตรงกลางใบย่อยมีตุ่มตารองน้ำ 1 คู่ ใบย่อยเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมน มีติ่งหนาม โคนใบแหลม ขอบใบมีรอยหยักแบบขนครุย แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเนียนไม่มีขน ท้องใบมีขน ใบมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ก้านใบมีร่องลึก มีหูใบแบบเข็มแหลมสีเขียว 2 อัน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อหนึ่งมี 2 – 4 ดอก ดอกเป็นสีเหลืองสด กลีบดอก 5 ดอก กลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 10 ก้าน รังไข่เป็นเส้นยาวงอโค้งเล็กน้อยและมีขนปกคลุม มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน
ผล : ออกผลเป็นฝักยาวโค้งเล็กน้อย ฝักแบนทั้งสองด้าน ปกคลุมไปด้วยขนอ่อนนุ่ม
เมล็ด : ภายในฝักมีเมล็ด 20 – 30 เมล็ด เป็นสีน้ำตาลเหลือง สีน้ำตาล สีเขียวอมเทา ผิวเมล็ดเรียบ เงาเป็นมันลักษณะแข็งและแบน หน้าตัดเฉียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน จะมองเห็นเหมือนจะงอยอีกด้านหนึ่งของเมล็ด มีรสชาติขมเมา มีกลิ่นเฉพาะตัว หอมเล็กน้อย

สรรพคุณของชุมเห็ดไทย

  • สรรพคุณจากเมล็ด ยาเย็นออกฤทธิ์ต่อตับและไต ช่วยทำให้เลือดเย็น ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย เป็นยาระงับประสาท ช่วยรักษาอาการตาบวมแดง แก้ตาฝ้ามัว แก้ตาฟาง แก้เยื่อตาอักเสบแบบเฉียบพลัน ช่วยทำให้ตาสว่าง แก้ไข้ แก้ไข้หวัด ช่วยแก้อาการไอ ช่วยแก้หืด ช่วยขับน้ำชื้นและขับลมชื้น เป็นยาระบาย ช่วยแก้อาการท้องบวมน้ำ เป็นยาขับพยาธิ ช่วยทำให้รู้ถ่ายรู้ปิดเอง ช่วยกล่อมตับ รักษาโรคผิวหนัง แก้หิดและกลากเกลื้อน ช่วยรักษากลาก
    – บำรุงประสาท ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น ช่วยแก้กระษัย ลดความดันชั่วคราว แก้ตับอักเสบ แก้ตับแข็ง ขับความร้อนในตับ ขับลมในตับ ด้วยการนำเมล็ดมาคั่วชงกับน้ำดื่มเป็นยา
    – ช่วยทำให้นอนหลับสบาย ทำให้ง่วงนอน แก้อาการนอนไม่หลับ ด้วยการนำเมล็ดมาคั่วให้เกรียมแล้วนำมาบดเป็นผง ชงกับน้ำร้อนดื่ม
    – แก้เด็กเป็นตานขโมย ด้วยการนำเมล็ดแห้ง 10 กรัม ตับไก่ 1 คู่ มาบดผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อย ปั้นเป็นก้อนนึ่งให้สุก
    – ช่วยลดความดันโลหิต ด้วยการนำเมล็ดแห้ง 15 กรัม มาคั่วให้เกรียมบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำดื่มแทนน้ำชา
    – ช่วยแก้อาการท้องผูก แก้ท้องผูกเรื้อรัง ด้วยการนำเมล็ดแก่แห้งที่คั่วจนเหลือง 10 – 13 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม หรือคั่วให้เกรียมบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำดื่มต่างน้ำชา
    – เป็นยาขับปัสสาวะ ขับปัสสาวะพิการ ขับอุจจาระ ด้วยการนำเมล็ดคั่วแห้ง 5 – 15 กรัม มาชงกับน้ำดื่ม หรือต้มกับน้ำ 1 ลิตร จนเหลือ 600 มิลลิลิตร แบ่งทานหลังอาหารวันละ 3 เวลา
    – ช่วยบำรุงตับ ด้วยการนำเมล็ดมาคั่วให้เกรียมผสมกับคนทีสออย่างละเท่ากัน บดเป็นผงใช้ครั้งละ 5 – 6 กรัม ชงกับน้ำดื่มวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาบำรุงประสาท แก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยลดความดันโลหิต เป็นยารักษาโรคไข้มาลาเรีย แก้ไข้ แก้ไข้หวัด ช่วยแก้อาการไอ ช่วยแก้เสมหะ เป็นยาขับพยาธิสำหรับเด็กที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้ เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย เป็นยาทาแก้แผลเรื้อรัง เร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้น เป็นยาพอกแก้โรคเกาต์ แก้อาการปวดข้อ แก้ปวดขา แก้ปวดสะโพก
    – แก้กลากเกลื้อน แก้หิด แก้ผื่นคันต่าง ๆ ด้วยการนำใบย่อยสด 10 – 20 ใบ มาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรงเล็กน้อย ใช้ทา
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาบำรุงประสาท แก้ไข้ แก้ไข้หวัด ช่วยแก้เสมหะ ช่วยแก้หืด เป็นยาระบาย เป็นยาขับพยาธิ
    – รักษากลาก ด้วยการนำรากมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำปูนใส พอกบริเวณที่เป็นกลาก
    – รักษางูสวัดและเรื้อนกวาง ด้วยการนำรากสดมาบดผสมกับน้ำมะนาว
  • สรรพคุณจากผล บำรุงหัวใจ ช่วยแก้อาการฟกช้ำบวม
  • สรรพคุณจากทั้งต้น ช่วยทำให้ตาสว่าง แก้ไข้ แก้ไข้หวัด ช่วยแก้อาการไอ ช่วยแก้เสมหะ ช่วยแก้หืด เป็นยาขับพยาธิในท้อง ขับพยาธิไส้เดือน ช่วยกล่อมตับ เป็นยารักษาคุดทะราด
  • สรรพคุณจากทั้งต้นและใบ
    – รักษาไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ด้วยการนำทั้งต้นและใบ 15 – 30 กรัม มาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – เป็นยาระบายอ่อน ๆ ยาถ่าย ด้วยการนำทั้งต้นและใบ 15 – 30 กรัม มาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารเช้า
  • สรรพคุณจากเมล็ดและใบ เป็นยาฆ่าหิดเหาและเชื้อรา

ประโยชน์ของชุมเห็ดไทย

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนนำมาต้มจิ้มรับประทานกับน้ำพริก ทำแกงเลียง แกงไตปลา
2. ใช้ในการเกษตร ยอดอ่อนและใบเป็นแหล่งอาหารของสัตว์แทะเล็มอย่างโคหรือกระบือ แก้อาการเยื่อตาอักเสบเรื้อรังและอาการท้องผูกในสัตว์เลี้ยง
3. ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า เมล็ดให้สีน้ำเงินที่ใช้สำหรับการย้อมผ้าได้

คุณค่าทางโภชนาการของใบรวมก้านใบ

คุณค่าทางโภชนาการของใบรวมก้านใบ

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
โปรตีน 13.29%
เส้นใยอาหาร 22.2%
ไขมัน 1.69% 
คาร์โบไฮเดรต 48.54%
เถ้า 14.28%
เส้นใย ADF 24.51%
NDF 36.41%
ลิกนิน 4.45%

ชุมเห็ดไทย พรรณไม้ริมทางที่ดีต่อระบบประสาทเป็นอย่างมาก สามารถนำส่วนใบมาใช้ทานจิ้มกับน้ำพริกได้ เป็นพืชทางธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งอาหารของโคกระบือ ส่วนของเมล็ดมีสีน้ำเงินใช้ย้อมผ้าได้ มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเมล็ด มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้หวัด บำรุงหัวใจ เป็นยาบำรุงประสาท แก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยบำรุงตับและช่วยบำรุงกำลัง

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ชุมเห็ดไทย (Chumhet Thai)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 109.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ชุมเห็ดไทย Foetid Cassia”. หน้า 80.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ชุมเห็ดไทย”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 210.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ชุมเห็ดไทย”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 274-278.
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ชุมเห็ดไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [12 มี.ค. 2014].
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ชุมเห็ดไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [12 มี.ค. 2014].
สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร ณ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ชุมเห็ดไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [12 มี.ค. 2014].
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “ลับมึนน้อย ชุมเห็ดไทย”. (รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.cmu.ac.th/web2553/index.php. [12 มี.ค. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 26 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. “ชุมเห็ดไทย/ชุมเห็ดเทศ”. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [12 มี.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ชุมเห็ดไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [12 มี.ค. 2014].
กรมปศุสัตว์. “ชุมเห็ดไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dld.go.th. [12 มี.ค. 2014].
หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. “ชุมเห็ดไทย”. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). หน้า 83.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/