มะหาด

มะหาด

มะหาด เป็นไม้ยืนต้นที่มักจะพบตามภาคใต้ของประเทศไทย แก่นมะหาดมีรสร้อนจึงดีต่อระบบเลือดเป็นอย่างมาก ผงมะหาดมีรสร้อนเมา เป็นยาสมุนไพรที่มาจากแก่นไม้มะหาดมาเคี่ยว เนื่องจากเป็นต้นรสร้อนจึงไม่ควรกินกับน้ำร้อน เพราะจะทำให้ปวดท้องได้ ส่วนของผลสุกจะมีรสหวานเปรี้ยวจึงนำมาทานได้ นอกจากนั้นมะหาดยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ครีมทาผิวอย่าง ครีมมะหาด โลชั่นมะหาด และเซรั่มมะหาดได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะหาด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artocarpus lacucha Buch.-Ham.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Monkey Jack” “Monkey Fruit”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางและทั่วไปเรียกว่า “หาด” ภาคเหนือเรียกว่า “หาดขนุน” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “ฮัด” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ปวกหาด” จังหวัดตรังเรียกว่า “มะหาดใบใหญ่” ชาวกะเหรี่ยงกำแพงเรียกว่า “เซยาสู้” ชาวมลายูนราธิวาสเรียกว่า “กาแย ตาแป ตาแปง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ขนุนป่า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขนุน (MORACEAE)
ชื่อพ้อง : Artocarpus ficifolius W.T.Wang, Artocarpus lakoocha Roxb., Artocarpus yunnanensis H.H.Hu

ลักษณะของมะหาด

มะหาด เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ไม่ผลัดใบ มักจะพบตามที่กึ่งโล่งแจ้งตามป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าคืนสภาพ ป่าหินปูน พบได้มากทางภาคใต้ของประเทศไทย
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เป็นทรงพุ่มกลมหรือแผ่กว้าง เปลือกเป็นสีดำ สีเทาแกมน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมแดงจนถึงน้ำตาลเข้ม ต้นแก่มีผิวเปลือกค่อนข้างหยาบ ขรุขระและแตกเป็นสะเก็ดเล็ก บริเวณเปลือกมีรอยแตกและมียางไหลซึม แห้งติด
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน เป็นรูปวงรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลมเป็นติ่งแหลม โคนใบมนเว้า ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อยหรือมีซี่ฟัน ผิวใบด้านบนมีขนหยาบ ด้านล่างเป็นสีเขียวอมเทา มีขนหยาบสีเหลืองเล็กน้อย ใบอ่อนมีขนแต่พอแก่ขึ้นจะหลุด ใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม และเหนียวคล้ายหนัง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นกลมสีเหลืองหม่นจนถึงสีชมพูอ่อน จะออกตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกันแต่อยู่คนละช่อ ช่อดอกเพศผู้จะกลม มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ช่อดอกเพศเมียเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนานสีเหลืองอ่อน มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
ผล : เป็นผลสดและมีเนื้อ ผลรวมสีเหลือง เป็นรูปทรงกลมค่อนข้างบิดเบี้ยวตะปุ่มตะป่ำ มีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนถึงส้ม เมื่อแก่จะเป็นสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อผลนุ่มเป็นสีเหลืองจนถึงสีชมพู
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เป็นรูปขอบขนานหรือเกือบกลม เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเทา

สรรพคุณของมะหาด

  • สรรพคุณจากแก่นและผงปวกหาด แก้กระษัย ละลายเลือด กระจายโลหิต ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร เป็นยาแก้ลม ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยแก้ฝีในท้อง ช่วยขับปัสสาวะกะปริดกะปรอย
  • สรรพคุณจากแก่น ช่วยแก้โรคกระษัยไตพิการ แก้กระษัยเสียด แก้กระษัยดาน แก้กระษัยกร่อน แก้กระษัยลมพานไส้ แก้กระษัยทำให้ท้องผูก ช่วยแก้ตานขโมย แก้ดวงจิตขุ่นมัว แก้ระส่ำระสาย แก้อาการนอนไม่หลับ แก้ไข้ ช่วยแก้เสมหะ ช่วยแก้หอบหืด ช่วยแก้ท้องโรพุงโต แก้จุกผามม้ามย้อย ช่วยขับโลหิต ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย ช่วยแก้ประดวงทุกชนิด เป็นยาแก้เส้นเอ็นพิการ
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาฝาดสมาน
    – แก้ไข้ ช่วยขับพยาธิ ถ่ายพยาธิ พยาธิตัวตืด ด้วยการนำต้นสดมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากราก บำรุงและบรรเทาการอุดตัน
    – แก้ไข้ แก้พิษร้อนใน ขับพยาธิ แก้กระษัยในเส้นเอ็น ด้วยการนำรากสดและแห้ง มาต้มกับน้ำกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากแก่นเนื้อไม้ แก้จุกแน่น แก้ท้องขึ้นอดเฟ้อ ช่วยขับลมและผายลม เป็นยาระบาย แก้ท้องผูกไม่ถ่าย เป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือนตัวกลม แก้พยาธิเส้นด้าย แก้พยาธิตัวตืด แก้พยาธิตัวแบน ช่วยขับโลหิต เป็นยาแก้เส้นเอ็นพิการ
  • สรรพคุณจากยาง เป็นยาถ่าย
  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาถ่าย
  • สรรพคุณจากผงปวกหาด เป็นยาถ่ายพยาธิ ช่วยขับโลหิต แก้ผื่นคัน แก้เคือง ช่วยแก้อาการปวด
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยแก้โรคบวมน้ำ

ประโยชน์ของมะหาด

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลรสหวานอมเปรี้ยวจึงทานได้ ชาวม้งนำใบอ่อนเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกทาน เปลือกต้นมีรสฝาดจึงนำมาเคี้ยวกับหมากแทนได้
2. ใช้ในการเกษตร ประเทศเนปาลนำใบเป็นอาหารสัตว์ เพื่อช่วยการขับน้ำนมของสัตว์เลี้ยงได้
3. เป็นยารักษาสิว เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำทารักษาสิวได้
4. เป็นอุปกรณ์ ชาวกะเหรี่ยงนำใบใช้แทนกระดาษทราย ใยจากเปลือกต้นทำเชือกได้
5. ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า รากนำมาสกัดเป็นสีเหลืองสำหรับย้อมผ้าได้
6. ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เนื้อไม้มีความเหนียวและทนทานมาก จึงนิยมใช้ทำเสา สร้างบ้าน ทำสะพาน ทำหมอนรองรางรถไฟ ด้ามเครื่องมือทางการเกษตร
7. ด้านสิ่งแวดล้อม สามารถปลูกเป็นไม้เพื่อให้ร่มเงา ช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน
8. แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ทำเป็นผลิตภัณฑ์ครีมทาผิวหรือ ครีมมะหาด โลชั่นมะหาด เซรั่มมะหาด มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเมลานิน ทำให้ผิวขาวขึ้นได้

มะหาด เป็นไม้ยืนต้นทั่วไปที่พบมากทางภาคใต้ของไทย เป็นต้นที่นำส่วนต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ไม่ใช่แค่เฉพาะด้านสรรพคุณทางยาเท่านั้น ถือเป็นหนึ่งในไม้ที่มีผลต่อเศรษฐกิจ การเกษตร และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เรามาดูกันว่าส่วนต่าง ๆ ของต้นนี้ช่วยอะไรบ้าง มะหาดมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของแก่นและผงปวกหาด มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ละลายเลือด แก้ลม ช่วยแก้โรคกระษัย แก้ไข้และทำให้ผิวขาวขึ้นได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “มะหาด”. หน้า 60.
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “มะหาด (Mahat)”. หน้า 240.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะหาด”. หน้า 57.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “มะหาด”. หน้า 643-645.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะหาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [30 ก.ค. 2014].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ปวกหาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [30 ก.ค. 2014].
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “มะหาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [30 ก.ค. 2014].
ศูนย์ปฏิบัติการพืชเศรษฐกิจ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “มะหาด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [30 ก.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หาด, มะหาด”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [30 ก.ค. 2014].
ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (ดร.จุฑามาศ เจียรนัยกุลวานิช). “จริงหรือไม่? มะหาดทำให้ขาวขึ้นได้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [30 ก.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

รูปอ้างอิง
https://www.flickr.com/photos/
https://efloraofindia.com/2011/02/08/artocarpus-lakoocha/