ยอเถื่อน
ยอเถื่อน (Morinda tinctoria) หรือยอป่า เป็นต้นที่มีผลกลมและมีผิวเป็นปุ่มปมทำให้ดูโดดเด่น มักจะนำยอดและใบอ่อนมารับประทานในรูปแบบผักสดจิ้มกับน้ำพริก นอกจากนั้นผลสุกยังเป็นอาหารของโคกระบืออีกด้วย เป็นไม้ยืนต้นที่พบได้ตามป่าทั่วไป ยอเถื่อนเป็นต้นที่อยู่ในตำรายาไทย มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้หลากหลาย คู่ควรแก่การปลูกไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในหลายด้าน
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของยอเถื่อน
ชื่อสามัญ : Morinda tinctoria
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morinda elliptica (Hook.f.) Ridl.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลาง จังหวัดอ่างทอง จังหวัดตรังและจังหวัดสตูลเรียกว่า “ย่อป่า” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “ยอเถื่อน” ชาวมาเลเซียปัตตานีเรียกว่า “กะมูดู” ชาวมาเลเซียนราธิวาสเรียกว่า “มูดู”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เข็ม (RUBIACEAE)
ลักษณะของยอเถื่อน
ยอเถื่อน เป็นไม้ยืนต้นที่มักจะพบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังและป่าโปร่งทั่วไป
เปลือกต้น : เปลือกต้นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเหลือง แตกเป็นร่องลึกยาวหรือแตกเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบเรียวหรือทู่ โคนใบเบี้ยว ขอบใบเรียบ แผ่นใบนุ่ม ผิวใบทั้งสองด้านเกลี้ยง
ดอก : ออกดอกเป็นกลุ่มบนฐานของรังไข่ที่อัดกันเป็นก้อน โดยจะออกตามซอกใบ กลีบดอกมีสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ภายในหลอดจะมีขนละเอียด
ผล : เป็นผลรวมรูปร่างค่อนข้างกลม ผิวรอบผลเป็นปุ่มปม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ
เมล็ด : แต่ละผลย่อยมีเมล็ด 1 เมล็ด
สรรพคุณของยอเถื่อน จากแก่น
- ส่วนที่ใช้ประโยชน์ของยอเถื่อน : ใบอ่อน ใบแก่ ผล เปลือก ราก
– บำรุงโลหิต ด้วยการนำแก่นมาต้มแล้วดื่ม
– แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ ช่วยขับผายลม ป้องกันบาดทะยักที่ปากมดลูก ด้วยการนำแก่นมาต้มหรือดองกับเหล้ากินเป็นยา
– เป็นยาขับน้ำคาวปลา ขับเลือด ขับและฟอกโลหิตระดู ด้วยการนำแก่นมาต้มหรือดองกับเหล้ากินเป็นยา - สรรพคุณจากราก ตำรายาไทยใช้แก้เบาหวาน รักษาโรคกระเพาะ
- สรรพคุณจากใบ แก้อาการปวดศีรษะ แก้ไข้ แก้ริดสีดวงทวาร แก้ม้ามโต
– แก้ไอ แก้อาการจุกเสียด ด้วยการนำใบสดมาอังกับไฟแล้วนำมาปิดบริเวณหน้าอกและหน้าท้อง
– ช่วยฆ่าไข่เหา ด้วยการนำใบสดมาตำแล้วพอกศีรษะ - ผลอ่อน แก้คลื่นไส้อาเจียน
- ผลสุกงอม ขับลมในลำไส้ ขับระดูของสตรี รักษาเลือดออกตามไรฟัน ลดอาการปวดฟัน และรักษาฟันผุ
- เปลือก นำเปลือกไม้มาฝนผสมน้ำเล็กน้อย ใช้แปะบริเวณผิวหนังที่เกิดผื่น
ประโยชน์ของยอเถื่อน
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดและใบอ่อนนำมาลวกหรือต้มให้สุกจิ้มกับน้ำพริกได้ และนำมาปรุงประกอบอาหารอย่างเมนูซอยใส่ข้าวยำได้ ผลสุกใช้รับประทานได้
2. ใช้ในการเกษตร เป็นอาหารของโคกระบือ
3. ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า รากใช้ย้อมสีผ้าให้เป็นสีแดงได้
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของยอเถื่อน
ภายในรากยอเถื่อน พบสารกลุ่มแอนทราควิโนนหลายชนิด เช่น 1 – hydroxy – 2 – methylanthraquinone, alizarin – l – methyl ether, nordamnacanthal, soranjidiol, morindone, rubiadin, . lucidin – ω – methyl ether, alizarin – l – methyl ether, rubiadin – l – methyl ether, morindone – 5 – methyl ether
คุณค่าทางโภชนาการของผลสุกยอเถื่อน
คุณค่าทางโภชนาการของผลสุก ให้โปรตีน 11.64% ADF 36.6% NDF 38.8% และลิกนิน 12.4%
ยอเถื่อน เป็นต้นที่มีประโยชน์ได้หลายด้านโดยเฉพาะการนำมารับประทานเป็นผักสดและนำมาปรุงในอาหาร และยังเป็นยาในตำรายาไทยด้วย เป็นต้นที่มีชื่อค่อนข้างหลากหลายในจังหวัดทางภาคใต้ ยอเถื่อนมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของแก่นและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงเลือด แก้ไข้ แก้เบาหวาน รักษาโรคกระเพาะและช่วยขับลมได้ เป็นต้นที่มีสรรพคุณได้หลายด้านจริง ๆ
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “ยอเถื่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [30 ต.ค. 2014].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ยอป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [29 ต.ค. 2014].
พืชสมุนไพรโตนงาช้าง. “ยอเถื่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [29 ต.ค. 2014].