น้ำใจใคร่
น้ำใจใคร่ (Olax psittacorum) หรือที่เรียกกันว่า “กะทกรก” เป็นสมุนไพรที่มีรสฝาดแต่ช่วยแก้อาการพื้นฐานได้ดีเยี่ยม ส่วนมากมักจะนำยอดอ่อนมารับประทานและมีรสหวานมันปนฝาดเล็กน้อย น้ำใจใคร่เป็นต้นที่กำลังโด่งดังในเรื่องของยาบำรุงกำลังซึ่งกลายเป็นไวรัลสำหรับคนไทยอยู่เหมือนกัน นอกจากนั้นชาวบ้านยังใช้ผลของน้ำใจใคร่มาเป็นตัววัดปริมาณน้ำฝนได้ด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของน้ำใจใคร่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Olax psittacorum (Lam.) Vahl
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กะทกรก กระทกรก” ภาคเหนือเรียกว่า “นางจุม นางชม” ภาคใต้บางแห่งเรียกว่า “ลูกไข่แลน” จังหวัดศรีสะเกษเรียกว่า “เคือขนตาช้าง” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ควยเซียก” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “อีทก เยี่ยวงัว” จังหวัดสุพรรรบุรีเรียกว่า “กระดอกอก” จังหวัดราชบุรีเรียกว่า “กระทอกม้า” จังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรีเรียกว่า “น้ำใจใคร่” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “กะหลันถอก” จังหวัดพิษณุโลกและอุตรดิตถ์เรียกว่า “หญ้าถลกบาตร” ชาวทุ่งสงที่นครศรีธรรมราชเรียกว่า “ส้อท่อ” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “กระทอก ชักกระทอก” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “ควยถอก” จังหวัดสงขลาเรียกว่า “กะเดาะ กระเดาะ” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “ผักรูด” จังหวัดพัทลุงและสงขลาเรียกว่า “เจาะเทาะ” จังหวัดสงขลาตอนในแถบหาดใหญ่หรือคลองหอยโข่งเรียกว่า “เสาะเทาะ” ชาวมลายูนราธิวาสเรียกว่า “กระเด๊าะ อาจิง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “อังนก สอกทอก จากกรด ผักเยี่ยวงัว”
ชื่อวงศ์ : วงศ์น้ำใจใคร่ (OLACACEAE)
ลักษณะของน้ำใจใคร่
น้ำใจใคร่ เป็นไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อยที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีน ชวา คาบสมุทรมลายูและอินโดนีเซีย มักจะพบในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าชายหาด ป่าละเมาะ ที่รกร้างและป่าดิบเขาทั่วไป ชอบขึ้นตามดินปลวก
เปลือกลำต้น : เป็นสีเขียวเข้มหรือสีขาวอมน้ำตาล เนื้อไม้เป็นสีขาวนวล เปลือกต้นแตกเป็นแนวยาวห่าง ๆ กัน กิ่งมักจะห้อยลง ตามกิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุม มักจะมีหนามแข็งเล็ก ๆ ทั่วไป ส่วนกิ่งแก่จะค่อนข้างเกลี้ยง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปวงรี รูปขอบขนานแกมใบหอกหรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบหนาคล้ายแผ่นหนัง หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีอ่อนกว่า หลังใบและท้องใบมีขนนุ่ม ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนขึ้นประปราย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกโดยจะออกตามซอกใบ มี 1 – 3 ช่อ ต่อซอกใบ ดอกมีกลิ่นหอม มีขนสั้นหนาแน่น ดอกย่อยเป็นสีขาวขนาดเล็ก มีกลีบดอก 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปแถบแกมรูปขอบขนาน โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายดอกแหลม แยกออกเป็นแฉก 5 – 6 แฉก กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วยสีเขียวมี 5 กลีบ ปลายตัด ก้านชูดอกสั้น มักจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน
ผล : ผลเป็นแบบผลผนังชั้นในแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ โคนผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่เกินครึ่งผล ปลายผลมีสีเข้มครอบเหมือนหมวกและมียอดเกสรเพศเมียติดคงทนและจะหลุดร่วงไปเมื่อผลแก่จัด ผิวผลเรียบและเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด โดยเมล็ดมีลักษณะกลม
สรรพคุณของน้ำใจใคร่
- สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาแก้ไข้
– เป็นยาชูกำลังหรือบำรุงกำลัง ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
– ทำให้แผลแห้ง ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มแล้วรมหรือทาแก้อาการ - สรรพคุณจากเนื้อไม้ รักษาบาดแผล
– เป็นยาคุมธาตุ ถอนพิษยาเมาเบื่อ เป็นยาแก้กามโรค เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย ด้วยการนำเนื้อไม้มาต้มกับน้ำแล้วดื่ม - สรรพคุณจากใบ
– เป็นยาเบื่อ เป็นยาขับพยาธิ ด้วยการนำใบมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำมาดื่ม
– แก้อาการปวดศีรษะ ไข้หวัดคัดจมูก ด้วยการนำใบมาตำให้ละเอียดแล้วเอากากสุมศีรษะ - สรรพคุณจากราก
– เป็นยาแก้ไข้ แก้เด็กตัวร้อน เป็นยาขับพยาธิ เป็นยาแก้กามโรค ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม - สรรพคุณจากเนื้อผล เป็นยารักษาโรคตาแดง
- สรรพคุณจากเมล็ด
– เป็นยาทาท้องเด็ก แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยทำให้ขับผายลม ด้วยการนำเมล็ดมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำสับปะรด ทำการรมควันให้อุ่นแล้วใช้เป็นยาทา - สรรพคุณจากลำต้น
– เป็นยาแก้โรคไตพิการ ด้วยการนำลำต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
ประโยชน์ของน้ำใจใคร่
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นำยอดอ่อนและใบอ่อนมาเป็นผักแกงส้ม แกงเลียง ใช้เป็นผักแนมหรือจิ้มกับน้ำพริก ผลสุกก็ใช้รับประทานได้
2. เป็นตัววัดปริมาณน้ำฝน ชาวบ้านใช้ผลในการดูปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี หากผลน้ำใจใคร่มีกลีบเลี้ยงหุ้มมากจนเกือบมิดผลก็เป็นตัวบ่งบอกว่าปีนั้นจะมีฝนจะตกมากและอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้ากลีบเลี้ยงหุ้มผลสั้นหรือมีน้อยและผลโผล่ออกมามากบ่งบอกว่าปีนั้นฝนจะตกน้อย
น้ำใจใคร่ เป็นต้นที่มีชื่อเรียกหลากหลายมากตามแต่ท้องถิ่นในจังหวัด ค่อนข้างเป็นที่นิยมในเรื่องชูกำลังและสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาเป็นยาได้ เปลือกต้นมีรสฝาดร้อน เนื้อไม้มีรสฝาดเฝื่อน รากมีรสสุขุม ใบมีรสฝาดเมา เมล็ดมีรสฝาดร้อน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาบำรุงกำลัง เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาแก้กามโรคและแก้โรคไตพิการ
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “น้ำใจใคร่ (Nam Chai Khrai)”. หน้า 156.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “น้ำใจใคร่”. หน้า 126.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “น้ำใจใคร่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [01 ธ.ค. 2014].
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “น้ำใจใคร่”. อ้างอิงใน : หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. (ราชบัณฑิตยสถาน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [01 ธ.ค. 2014].
เดอะแดนดอทคอม. “น้ำใจใคร่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.the-than.com. [01 ธ.ค. 2014].
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กะทกรก”. หน้า 49-50.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by thammavong viengsamone, Dinesh Valke), photobucket.com (by jayah9), www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/