กระสัง
กระสัง ขึ้นชื่อเรื่องการต้านมะเร็งพอสมควร เป็นพรรณไม้ล้มลุกชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย เป็นวัชพืชที่น่ารำคาญในแปลงผัก หรือตามสนามหญ้าทั่วไป แต่มีสรรพคุณทางยาที่ยอดเยี่ยมแบบไม่คาดคิด จึงเป็นที่นิยมในตรินิแดด กียานา ประเทศบราซิล มาเลเซีย โบลิเวีย และหมอยาพื้นบ้านในประเทศไทย เป็นผักที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและมีวิตามินสูงอีกชนิดหนึ่ง
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระสัง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Peperomia pellucida (L.) Kunth
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Peperomia” “Shiny leave”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ผักกระสัง” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักฮากกล้วย” ภาคใต้เรียกว่า “ชากรูด” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ผักราชวงศ์” จังหวัดเพชรบุรีเรียกว่า “ผักกูด” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “ผักสังเขา” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ตาฉี่โพ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์พริกไทย (PIPERACEAE)
ลักษณะของกระสัง
กระสัง เป็นพรรณไม้ล้มลุก และเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง มักจะพบขึ้นทั่วไปในเขตร้อนทั่วโลก ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค มักจะขึ้นในแปลงผัก ตามสวน และตามสนามหญ้าทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นเปราะหักง่าย ลำต้นและใบเป็นสีเขียวและอวบน้ำ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน โดยจะออกจากลำต้นในลักษณะตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าตื้น ขอบใบเรียบ มีต่อมโปร่งแสง แผ่นใบหนาเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบด้านบนเป็นมัน ด้านล่างขุ่นและมีสีอ่อนกว่า
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกและที่ปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีครีม ช่อดอกจะออกบริเวณข้อตรงข้ามกับใบ เรียงโค้งขึ้น ประกอบไปด้วยดอกเล็กที่ไม่มีก้าน มีดอกย่อยจำนวนมากเวียนรอบแกน ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ ไม่มีทั้งกลีบดอกและกลีบเลี้ยง
ผล : เป็นผลสดที่มีลักษณะกลม
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำทรงกลมและมีขนาดเล็ก
สรรพคุณของกระสัง
- สรรพคุณจากกระสัง ในบราซิลจะใช้เพื่อลดคอเลสเตอรอล ในกียานา (Guyana) ใช้เป็นยาขับปัสสาวะและลดไข่ขาวในปัสสาวะ แถบแอมะซอนใช้เป็นยาขับปัสสาวะและหล่อลื่นและแก้หัวใจเต้นผิดปกติ หมอยาพื้นบ้านใช้เป็นยาแก้ปวดข้อ รักษาอาการปวดท้อง รักษาฝี รักษาสิว รักษาหัด รักษาอีสุกอีใส แก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ปวดศีรษะ แก้ระบบประสาทแปรปรวน แก้อาการมีแก๊สในกระเพาะ แก้ปวดข้อรูมาติก ต้านอนุมูลอิสระสูง ต้านมะเร็ง เสริมสร้างและซ่อมแซมกระดูกส่วนที่สึกหรอ
– รักษาโรคเกาต์ แก้อาการปวดข้อ แก้ข้ออักเสบ โดยประเทศฟิลิปปินส์นำต้นที่ยาวสัก 20 เซนติเมตร มาต้มกับน้ำ 2 แก้ว ให้เหลือประมาณ 1 แก้ว ใช้ทานครั้งละครึ่งแก้ว เช้าและเย็น - สรรพคุณจากใบ เป็นยารักษาโรคลักปิดลักเปิด หรือโรคเลือดออกตามไรฟัน ยาชงจากใบใช้เป็นยาแก้ชัก
– ในตรินิแดด (Trinidad) ใช้เป็นยาเย็นสำหรับเด็ก
– ในมาเลเซียใช้ทานช่วยรักษาโรคตาและต้อ (glaucoma)
– แก้ปวดศีรษะ แก้ไข้ แก้อักเสบ ด้วยการนำใบมาตำให้แหลกเป็นยา
– แก้มะเร็งเต้านม ด้วยการนำใบมาตำขยำใช้แปะทาเม็ดที่เป็นใต้ราวนม
– แก้ปวดท้อง ด้วยการนำใบมาคั้นเอาน้ำใช้เป็นยา
– ช่วยรักษาแผลฝีหนอง ด้วยการนำใบใช้ตำพอกฝีและแผล หรือคั้นเอาน้ำทาแผลฝี - สรรพคุณจากต้นและใบ
– เป็นยารักษาเริม ด้วยการนำต้นมาผสมกับขมิ้นและข้าวสารฮูยงงูกุมารตอกูยิ ตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกทิ้งไว้ 1 คืน - สรรพคุณจากทั้งต้น แก้พิษฝี แก้ผื่นคัน
– ต้านการอักเสบและต้านแบคทีเรียได้หลายชนิด แก้ฝีหรือตุ่มหนองและโรคผิวหนัง ช่วยกำจัดเนื้อตาย ทำให้ฝีแตกได้โดยง่าย โดยชาวฟิลิปปินส์นำทั้งต้นสดมาบดประคบ
– ช่วยห้ามเลือด โดยในโบลิเวียนำทั้งต้นใช้บดผสมกับน้ำใช้กินเป็นยา - สรรพคุณจากราก
– รักษาไข้ ด้วยการนำส่วนเหนือดินโปะแผล ใช้ส่วนของรากต้มกินเป็นยา
ประโยชน์ของกระสัง
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ต้นและใบใช้ทานเป็นผักสด ด้วยการนำมาผัด ลวก หรือนึ่ง ใช้ทำยำผักกระสังได้
2. ช่วยรักษาสิวและบำรุงผม น้ำคั้นจากใบใช้ทารักษาสิว ทำให้สิวยุบเร็วขึ้น ในสมัยก่อนยังใช้น้ำต้มจากผักชนิดนี้มาล้างหน้าเพื่อเป็นการบำรุงผิวและทำให้ผิวหน้าสดใส ใช้เป็นยาสระผม โดยนำใบมาขยำกับน้ำแล้วชโลมศีรษะให้ศีรษะเย็นเพื่อช่วยป้องกันผมร่วงและทำให้ผมนุ่มได้
คุณค่าทางโภชนาการของผักกระสัง
คุณค่าทางโภชนาการของผักกระสัง ต่อ 100 กรัม
สารอาหาร | ปริมาณสารที่ได้รับ |
วิตามิน | 18 มิลลิกรัม |
เบต้าแคโรทีน | 285 ไมโครกรัม |
กระสัง เป็นผักที่มีวิตามินซีสูงและอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ นิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ในหลายประเทศ ทั้ง ๆ ที่เป็นวัชพืชตามแปลงผักทั่วไป สามารถนำมาใช้รักษาสิวได้ด้วย เหมาะสำหรับสาว ๆ เป็นอย่างมาก กระสังมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของต้นและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้มะเร็งเต้านม ช่วยรักษาสิว ลดคอเลสเตอรอล แก้ข้ออักเสบและแก้ระบบประสาทแปรปรวนได้
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [16 ส.ค. 2015].
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ผักกระสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.agri.kps.ku.ac.th. [16 ส.ค. 2015].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Peperomia pellucida (L.) Humb., Bonpl. & Kunth”. อ้างอิงใน : หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน หน้า 188. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [16 ส.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กระสัง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [16 ส.ค. 2015].
วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานีน้อมรับพระราชดำริ, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : rspg.svc.ac.th. [16 ส.ค. 2015].
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. “เรื่องน่ารู้…ของผักกะสัง”. อ้างอิงใน : หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารสนเทศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dra.go.th. [16 ส.ค. 2015].
ผู้จัดการออนไลน์. “สมุนไพรไม้เป็นยา : กระสัง อีกหนึ่งสมุนไพรต้านมะเร็ง ซ่อมแซมกระดูก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th. [16 ส.ค. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูป
https://lupuswiki.com/
http://www.premiumseedshop.com/