ต้นพลับพลึงแดง สรรพคุณช่วยขับเลือดประจำเดือน

0
1433
ต้นพลับพลึงแดง สรรพคุณช่วยขับเลือดประจำเดือน เป็นไม้ล้มลุก ก้านใบห่อหุ้มลำต้น ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ ดอกเป็นสีขาวแกมสีชมพู มีกลิ่นหอมช่วงพลบค่ำ ผลสดสีเขียวกลม
พลับพลึงแดง
เป็นไม้ล้มลุก ก้านใบห่อหุ้มลำต้น ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ ดอกเป็นสีขาวแกมสีชมพู มีกลิ่นหอมช่วงพลบค่ำ ผลสดสีเขียวกลม

พลับพลึงแดง

พลับพลึงแดง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ชื่อสามัญ Red crinum, Giant lily, Spider lily, Red Bog Lily ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Crinum × amabile Donn ex Ker Gawl. หรือ Crinum × amabile Donn (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Crinum × augustum Roxb.) อยู่วงศ์พลับพลึง (AMARYLLIDACEAE)[1],[2],[3],[4],[5] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น พลับพลึงดอกแดง (จังหวัดกรุงเทพมหานคร, ภาคกลาง), พลับพลึงดอกแดงสลับขาว, ลิลัว (ภาคเหนือ), พลับพลึง, พลับพลึงใหญ่ดอกสีชมพู [2],[4],[5],[6]

ลักษณะของต้นพลับพลึงแดง

  • ต้น เป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุหลายปี ต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นจะมีหัวอยู่ใต้ดิน ส่วนที่อยู่เหนือดินคือ กาบใบสีขาวหุ้มซ้อนเป็นชั้น ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อไปปลูกหรือการเพาะเมล็ด เติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือที่มีความชื้นค่อนข้างสูง อย่างเช่น ริมคลอง หนอง บึง ทนต่อสภาพแวดล้อมได้โดยไม่ต้องการดูแลเอาใจใส่เยอะ ถ้าหากต้องการให้มีดอกเยอะให้ปลูกในพื้นที่กลางแจ้ง แต่ถ้าหากต้องการให้ใบสวยให้ปลูกในที่มีแสงแดดแบบรำไร (หัวมีสาร Alkaloid Narcissine)[1],[2],[5]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงซ้อนสลับเป็นวง ใบเป็นรูปใบหอก ที่โคนใบจะเป็นกาบทำหน้าที่เป็นก้านใบห่อหุ้มลำต้น ส่วนที่ปลายใบจะแหลม ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 7-15 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 1 เมตร ใบมีลักษณะเป็นสีเขียว ผิวใบอ่อนนุ่ม เหนียว อวบน้ำ หนา [1],[2]
  • ดอก ออกเป็นช่อที่มีขนาดใหญ่ ก้านดอกจะแทงขึ้นจากกลุ่มของใบตอนปลาย หนึ่งช่อมีดอกย่อยอยู่เป็นกระจุกประมาณ 12-40 ดอกกลีบดอกเป็นสีขาวแกมสีชมพู กลีบด้านบนดอกจะเป็นสีม่วง สีชมพู กลีบด้านล่างเป็นสีแดงเลือดหมู สีแดงเข้ม กลีบดอกแคบเรียวยาว ถ้าดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะงองุ้มเข้าหาก้านดอก มีเกสรยาวยื่นออกจากกลางดอก มีกลิ่นหอม กลิ่นจะหอมมากช่วงพลบค่ำ ออกดอกได้ปีละครั้ง ดอกออกช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม บ้างก็ว่าดอกออกได้ทั้งปี และออกเยอะช่วงฤดูฝน[1],[2],[5]
  • ผล เป็นผลสด มีสีเขียว ผลค่อนข้างกลม มีเมล็ดกลม[1],[4]

พิษของพลับพลึงดอกแดง

  • มีฤทธิ์ระคายเคืองกับระบบทางเดินอาหาร (เข้าใจว่าเป็นส่วนหัว) หัวมีพิษในกลุ่มอัลคาลอยด์ที่ชื่อว่า “Lycorine” อาการเป็นพิษ คือ มีน้ำลายเยอะ อาเจียน ตัวสั่น เหงื่อออก ท้องเดินแบบไม่รุนแรง ถ้ามีอาการมากอาจเกิด Paralysis และ Collapse[6]

วิธีการรักษาพิษ

1. ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อทำให้พิษเจือจาง[6]
2. ทำให้อาเจียนออก[6]
3. นำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างออก เพื่อเอาชิ้นส่วนพลับพลึงออก[6]
4. ทานยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำกับเกลือแร่ภายในร่างกายเยอะเกินไป[6]
5. ควรให้น้ำเกลือจนกว่าจะอาการดีขึ้น[6]

สรรพคุณ และประโยชน์พลับพลึงแดง

1. สารสกัดที่ได้จากใบจะมีฤทธิ์ที่ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียได้ (ใบ)[1]
2. รากสามารถใช้เป็นยารักษาพิษยางน่องได้ (ราก)[2]
3. ใบสดมาลนไฟเพื่อทำให้อ่อนตัวลง นำมาใช้ประคบหรือพันรักษาแก้อาการบวม อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม แพลง ช่วยถอนพิษได้ดี (ใบ)[1],[2],[3],[4]
4. สามารถช่วยขับเลือดประจำเดือนของผู้หญิงได้ (เมล็ด)[2]
5. สามารถใช้หัวเป็นยารักษาโรคที่เกี่ยวกับปัสสาวะได้ (หัว)[2]
6. ใช้ใบพลับพลึงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น นำไปตำเพื่อปิดตรงบริเวณที่ปวด เพื่อใช้รักษาอาการปวดศีรษะ (ใบ)[2]
7. เมล็ดสามารถใช้เป็นยาบำรุงร่างกายได้ (เมล็ด)[2],[3],[4]
8. สารสกัดที่ได้จากใบมีฤทธิ์ที่ช่วยต้านการเติบโตของเนื้องอก (ใบ)[1]
9. หัวกับใบมีสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ที่ชื่อว่า Lycorine เป็นสารที่มีฤทธิ์ที่ช่วยต้านไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัด กับโรคโปลิโอ สารชนิดนี้เป็นพิษสูง และต้องมีการทดลองกันต่อไป (ใบ, หัว)[1]
10. สามารถใช้อยู่ไฟหลังคลอดสำหรับผู้หญิงได้ (ใบ)[3],[4]
11. สามารถนำรากมาตำใช้พอกแผลได้ (ราก)[2]
12. สามารถช่วยขับปัสสาวะได้ (เมล็ด)[2],[3],[4]
13. สามารถใช้เป็นยาระบายได้ (หัว, เมล็ด)[2],[3],[4]
14. สามารถช่วยขับเสมหะได้ (หัว)[2],[3],[4]
15. สามารถใช้เป็นยาลดไข้ได้ โดยนำใบพลับพลึงอย่างเดียว หรือใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น (ใบ)[2]
16. หัวจะมีรสขม สามารถใช้เป็นยาบำรุงกำลังได้ (หัว)[2]
17. ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับเพื่อความสวยงาม

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “พลับพลึงดอกแดง”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 91.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย. “พลับพลึงดอกแดง (กรุงเทพฯ)”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 144.
3. โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์. “พลับพลึงแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th. [22 ม.ค. 2014].
4. หนังสือไม้ดอกหอม เล่ม 1. “พลับพลึงดอกแดง (กรุงเทพฯ)”. (ปิยะ เฉลิมกลิ่น). หน้า 147.
5. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “พลับพลึงใหญ่ดอกสีชมพู”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th . [22 ม.ค. 2014].
6. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “พลับพลึงดอกแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [22 ม.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:63772-1
2. https://www.plantasyhongos.es/herbarium/htm/Crinum_spp.htm
3. https://medthai.com/