โกฐน้ำเต้า
โกฐน้ำเต้า หรือเรียกอีกอย่างว่า “ตั่วอึ๊ง” เป็นต้นที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ส่วนของเหง้ามีรสขมและมีกลิ่นหอม เป็นยาเย็นที่ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะ ลำไส้ และตับ ดีต่อระบบเลือดเป็นอย่างมาก และยังจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีฉันทลามก” ตามตำรับยาจีนจะนำโกฐน้ำเต้ามาผสมกับอาหารทานเพื่อเป็นยาสมุนไพร ทว่าก็เป็นต้นที่มีพิษต่อร่างกายเช่นกัน เพราะมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างรุนแรง ห้ามใช้ในบางผู้ป่วย ห้ามใช้ในปริมาณที่มากเกินควรหรือเป็นระยะเวลานานจนเกินไป
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของโกฐน้ำเต้า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rheum palmatum L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Rhubarb”
ชื่อท้องถิ่น : คนจีนเรียกว่า “ตั้วอึ้ง” คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “ตั่วอึ๊ง” จีนกลางเรียกว่า “ต้าหวง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)
ลักษณะของโกฐน้ำเต้า
โกฐน้ำเต้า เป็นพรรณไม้พุ่มที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบยุโรป อินเดีย จีน ทิเบต รัสเซีย
ต้น : ต้นแตกกิ่งก้านสาขามากและมีใบเป็นพุ่ม
เปลือกลำต้น : เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเรียบมัน มีลายเล็กน้อยและไม่มีขนปกคลุม
เหง้า : เหง้าอยู่ใต้ดิน มีขนาดป้อมและใหญ่ เนื้อนิ่ม ลำต้นใต้ดินมีลักษณะเป็นโพรงกลวงและมียางสีเหลือง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปไข่ เป็นแฉกคล้ายนิ้วมือประมาณ 3 – 7 แฉก ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบเป็นหยักแบบฟันเลื่อยเล็กน้อย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งก้านเป็นข้อ ๆ กิ่งหนึ่งมีประมาณ 7 – 10 ช่อ ดอกย่อยแยกออกเป็น 6 แฉก กลีบดอกเรียงซ้อนกันเป็น 2 ชั้น ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 9 ก้าน
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่คล้ายสามเหลี่ยม บริเวณเหลี่ยมมีเยื่อบางหุ้มอยู่ ผลเป็นสีน้ำตาลเข้ม จะแก่ในช่วงเดือนสิงหาคม
สรรพคุณของโกฐน้ำเต้า
- สรรพคุณจากเหง้า ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะ ลำไส้และตับ เป็นยาดับพิษร้อน ขับพิษร้อน ระบายความร้อน ขับพิษในร่างกาย ใช้ในผู้ป่วยที่มีระบบโลหิตร้อน ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยกระจายเลือดคั่ง เป็นยาบำรุงธาตุให้เป็นปกติ ช่วยแก้ธาตุพิการ คายพิษในธาตุ แก้โรคตาแดงแสบร้อน แก้โรคในดวงตา ช่วยแก้โลหิตกำเดา ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด เป็นยาลดไข้และความร้อนในร่างกาย ช่วยแก้อาการตัวเหลือง ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยแก้อาการท้องเสีย ช่วยแก้อาการท้องผูก เป็นยาระบาย ช่วยขับของเสียตกค้างที่อยู่ภายในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้หยางในระบบม้ามไม่เพียงพอ ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร แก้ริดสีดวงงอก แก้เลือดอุดตันหรือเลือดคั่ง ทำให้ประจำเดือนของสตรีมาไม่ปกติ ช่วยแก้ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ช่วยแก้ตับอักเสบเฉียบพลัน เป็นยาภายนอก เป็นยารักษาแผลไฟไหม้ รักษาแผลน้ำร้อนลวก ช่วยแก้ผิวหนังอักเสบติดเชื้อ ช่วยแก้แผลฝีหนองบวมตามผิวหนัง ช่วยแก้อาการฟกช้ำ แก้ช้ำใน แก้มีเลือดคั่ง แก้ปวด แก้บวม ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ไข้เพื่อเสมหะ ขับลม ช่วยถ่ายโลหิตและน้ำเหลือง
– โกฐน้ำเต้าผัดเหล้า ช่วยขับพิษร้อนในเลือด เช่น ปอด หัวใจ
– โกฐน้ำเต้าถ่าน ช่วยระบายความร้อนในระบบโลหิต ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยห้ามเลือด
– โกฐน้ำเต้านึ่งเหล้า ช่วยระบายความร้อนและขับสารพิษในร่างกาย ช่วยลดฤทธิ์ยาถ่ายให้มีความรุนแรงน้อยลง
– โกฐน้ำเต้าผัดน้ำส้ม ช่วยขับของเสียที่ตกค้างอยู่ภายในกระเพาะอาหารและลำไส้
ประโยชน์ของโกฐน้ำเต้า
เป็นส่วนประกอบของอาหาร ในต่างประเทศนำส่วนของก้านใบมาทานเป็นผัก
ข้อควรระวังของโกฐน้ำเต้า
1. โกฐน้ำเต้ามีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างรุนแรง ควรต้มใส่ทีหลัง หรือนำมานึ่งกับเหล้า
2. ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเกร็งหรือมีอาการปวดเฉียบพลันในช่องท้อง ไตอักเสบ หรือมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ
3. ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินควร และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินกว่าที่กำหนด
4. หากใช้แล้วมีอาการเลือดออกทางทวารหนัก หรือใช้มากแล้วแต่ลำไส้ยังไม่เคลื่อนไหว อาจเกิดอันตรายได้
โกฐน้ำเต้า เป็นยาที่สำคัญของจีน และเป็นยาสมุนไพรชั้นยอดที่ดีต่อระบบเลือดและระบบขับถ่าย สามารถนำมาใช้ทานกับอาหารได้ โกฐน้ำเต้ามีสรรพคุณทางยาได้จากส่วนของเหง้าโดยตรง มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาดับพิษร้อน ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เป็นยาบำรุงธาตุ แก้โรคในดวงตา ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ช่วยแก้ตับอักเสบเฉียบพลัน เป็นยารักษาแผลไฟไหม้ แก้อาการฟกช้ำ และช่วยขับสารพิษในร่างกายได้
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “โกฐน้ำเต้า”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 108.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “โกฐน้ำเต้า”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 79-80.
สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. “ตั่วอึ๊ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tcm.dtam.moph.go.th. [05 ก.พ. 2014].
มูลนิธิสุขภาพไทย. “เปิดผลงานวิจัยสมุนไพรไทย ชวนคนไทยเลิกพึ่งพาราเซลตามอล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [05 ก.พ. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
https://www.farmyardnurseries.co.uk/shop/Rheum-palmatum-Rubrum-M14252