หนุมานประสานกาย
ชื่อสามัญ Edible-stemed Vine[6] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Schefflera leucantha R.Vig. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Schefflera kwangsiensis Merr. ex H.L.Li, Schefflera tamdaoensis Grushv. & Skvortsova, Schefflera tenuis H.L.Li) อยู่วงศ์เล็บครุฑ (ARALIACEAE)[1],[3] มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น กุชิดฮะลั้ง (จีน), ว่านอ้อยช้าง (จังหวัดเลย), ชิดฮะลั้ง (จีน) [1]
ลักษณะของหนุมานประสานกาย
- ต้น เป็นพรรณไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 1-4 เมตร ผิวลำต้นค่อนข้างที่จะเรียบเกลี้ยง ขยายพันธุ์โดยการปักชำ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง โตได้ดีในดินทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง เป็นไม้กลางแจ้ง[1],[2],[7]
- ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกใบเรียงสลับกัน มีใบย่อยอยู่ประมาณ 7-8 ใบ ใบย่อยเป็นรูปใบหอก รูปยาวรี รูปวงรี ที่โคนใบจะมีหูใบติดที่ก้านใบ ส่วนที่ปลายใบจะเรียวแหลม ขอบใบเป็นคลื่นนิดหน่อย ใบกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีขนาดยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ผิวใบมีลักษณะเรียบเป็นมัน ก้านใบย่อยมีขนาดยาวประมาณ 8-25 มิลลิเมตร[1],[2]
- ดอก ออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีขนาดยาวประมาณ 3-5 นิ้ว ดอกย่อยเป็นดอกสีเขียว สีนวล ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร[1],[2]
- ผล เป็นรูปไข่ อวบน้ำ ผลกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร มีขนาดยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ผลอ่อนมีลักษณะเป็นสีเขียว ผลสุกแล้วเป็นสีแดงสด[1]
ประโยชน์หนุมานประสานกาย
- หมอชาวบ้านคิดค้นยาสำเร็จเป็นรายแรก มีสรรพคุณที่เป็นยาบรรเทาโรคหวัด ไม่มีผลข้างเคียง ผ่านการพิสูจน์ตำรับยาจาก อย. แล้ว ประกอบด้วยใบหนุมานประสานกาย และสมุนไพรชนิดหลายชนิด อย่างเช่น หญ้าเกร็ดหอม ชะเอมเทศ ลูกมะแว้ง จากการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างปรากฏว่าช่วยบรรเทาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ ไม่ว่าจะเป็นหวัด เห็นผลภายในเวลา 2-3 วัน[5]
- มีประสิทธิภาพป้องกันยุงได้หลายชนิด ด้วยการเตรียมน้ำมันทากันยุง นำใบมาล้างให้สะอาดด้วยน้ำ ผึ่งให้แห้ง แล้วหั่นให้เล็กเท่า ๆ กัน แล้วก็เทน้ำมันมะพร้าวที่มีน้ำหนักเท่าตัวยาใส่ลงกระทะ นำไปตั้งไฟให้ร้อนจัด นำที่เตรียมไว้ทอดด้วยไฟร้อนเป็นเวลาประมาณ 5 นาที กรองน้ำมันด้วยผ้าขาวบาง ทิ้งให้เย็น แล้วใช้น้ำมันเป็นยาทากันยุง สารสกัดที่ได้จากใบช่วยป้องกันยุงที่กัดตอนกลางวันได้ประมาณ 2 ชั่วโมง และยุงที่กัดตอนกลางคืนได้ 7 ชั่วโมง (หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 6 ธันวาคม 2554 หน้า 22)
- ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นสมุนไพร ปลูกประดับอาคาร ปลูกในกระถาง ถ้าเจ็บคอ ครั่นเนื้อครั่นตัว ให้เด็ดใบมาสักหนึ่งช่อเคี้ยวให้ละเอียด กลืนแต่น้ำ แล้วคายกากทิ้งสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ดี ถ้าใช้รักษาหอบหืดอาจต้องใช้เวลาทานติดต่อกันเป็นเวลานานนิดหน่อยถึงจะหาย[6]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
- การทดสอบความเป็นพิษที่ออกฤทธิ์กับหัวใจ ปรากฏว่าเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจและเป็นพิษกับหัวใจ ถ้าใช้ขนาดสูงอาจจะทำให้มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ[4]
- พบสารเคมี L-rhamnose, D-Xylose, Butulinic acid, D-glucose, Oleic acid [3]
- สารที่สกัดด้วยเอทานอลจากใบ จะมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบุผิวให้เร็วขึ้น เพิ่มการหดตัวของบาดแผลได้ [6]
- สารสกัดที่ได้จากใบมีสารซาโปนิน จะมีฤทธิ์ขยายหลอดลมแต่กดหัวใจ สารในกลุ่มซาโปนิน (Saponins) สามารถขยายหลอดลมได้ จะลดการหลั่งสารเมซโคลิน (Methcholine), สารฮีสตามีน (Histamine) [2],[6]
สรรพคุณหนุมานประสานกาย
1. สามารถช่วยแก้ช้ำในได้ โดยนำใบประมาณ 1-3 ช่อ มาตำละเอียด เอามาต้มกับน้ำครึ่งแก้ว กรองด้วยผ้าขาวบาง ใช้น้ำยาทานทุกเช้าเย็น (ใบ)[6],[7],[8]
2. ในคู่มือยาสมุนไพร และโรคประเทศเขตร้อนและวิธีบำบัดรักษา ระบุเอาไว้ว่าใช้ใบรักษาโรคหลอดลมอักเสบระยะเรื้อรัง โรคแพ้อากาศ โรคหืด อาการแพ้อื่น ๆ นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้ทำการวิจัย ปรากฏว่ามีคุณสมบัติรักษาโรคเกี่ยวปอดต่างได้ดังนี้ อย่างเช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ไอกรน เนื้อร้ายในปอด เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ปอดชื้น วัณโรค ต่อมน้ำเหลืองในปอดอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบชนิดมีหนอง เป็นแผลในปอด โรคไข้ปอดบวม (ใบ)[9]
3. ใช้ยางใส่แผลสด สามารถช่วยทำให้แผลแห้งเร็วได้ (ยาง)[1]
4. สามารถช่วยแก้อาการตกเลือดเพราะการคลอดบุตรของสตรีระหว่างการคลอดหรือหลังการคลอดบุตรหรือเพราะตกเลือดเนื่องจากใกล้หมดประจำเดือนได้ สามารถนำใบสดประมาณ 10-15 ช่อ มาตำละเอียดผสมเหล้าโรง 4-6 ช้อน แล้วคั้นน้ำทาน (ใบ)[8]
5. สามารถใช้เป็นยาแก้พิษได้ โดยนำใบมาต้มเอาน้ำหรือคั้นเอาน้ำผสมเหล้าทาน (ใบ)[1]
6. สามารถช่วยขับเสมหะได้ โดยนำใบสดประมาณ 9 ใบ มาต้มเอาน้ำทาน (ใบ)[3]
7. ใบ สามารถช่วยบรรเทาหวัดแก้เจ็บคอ ลดอาการไอ แก้คออักเสบ แก้ร้อนในได้ โดยนำใบสดมาเคี้ยวแล้วกลืนช้า ๆ (ใบ)[5],[6],[8]
8. สามารถช่วยรักษาวัณโรคได้ โดยนำใบ 10 ช่อ รากพุดตานสด 10 กรัม มาต้มกับน้ำใช้ทาน (ใบ)[8]
9. สามารถช่วยรักษาโรคปอดอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบได้ โดยนำใบสดเล็ก 9 ใบ มาต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว ทานก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น 7 สัปดาห์ (ใบ)[3],[6]
10. ทั้งต้นมีรสหอมเผ็ดปร่าและขมฝาดนิดหน่อย จะมีสรรพคุณที่สามารถช่วยทำให้เลือดลมเดินสะดวกได้ (ทั้งต้น)[6]
11. สามารถใช้แก้เส้นเลือดฝอยในสมองแตกทำให้อัมพาต และสามารถช่วยกระจายเลือดลมที่จับเป็นก้อนหรือคั่งภายในได้ (ใบ)[6]
12. สามารถช่วยแก้อาการอักเสบบวมได้ (ใบ)[6]
13. สามารถนำใบสดมาตำให้ละเอียด ใช้กากมาทาหรือพอกเป็นยาสมานแผล ช่วยห้ามเลือดได้ (ใบ)[1],[2]
14. สามารถนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหารกับลำไส้ (ทั้งต้น)[6]
15. สามารถช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือดได้ โดยนำใบสด 12 ใบย่อย มาคั้นเอาน้ำ 2 ถ้วยตะไล ทานครั้งละ 1 ถ้วยตะไล ติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 5-7 วัน (ใบ)[1],[2],[3]
16. สามารถช่วยรักษาแผลในปากเนื่องจากร้อนในได้ โดยนำใบสด 1-2 ใบ มาเคี้ยวให้ละเอียด แล้วกลืน ทานเช้าและเย็น (ใบ)[7],[8]
17. สามารถใช้ใบเป็นยาแก้ไอได้ โดยนำใบสดประมาณ 9 ใบ มาต้มเอาน้ำทาน หรือนำใบสดมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำ มาผสมเหล้าใช้ทานเป็นยา (ใบ)[1],[2]
18. สามารถช่วยรักษาวัณโรคปอดได้ โดยนำใบสดที่มีขนาดเล็ก 9 ใบ มาต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว ทานก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น ติดต่อกันเป็นเวลานาน 60 วัน แล้ว x-ray ดูปอดจะดีขึ้น ให้ทานต่ออีกระยะหนึ่ง (ใบ)[3]
19. ใบ มีรสหอมเผ็ดปร่าและขมฝาดนิดหน่อย จะมีสรรพคุณที่สามารถช่วยรักษาโรคหอบหืด เป็นภูมิแพ้ แพ้อากาศได้ โดยนำใบสดที่มีขนาดเล็ก 9 ใบ มาต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว ทานก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น 7 สัปดาห์ (ใบ)[1],[2],[3],[6]
ข้อควรระวังในการใช้
- ห้ามทานสมุนไพรนี้ขณะที่กำลังเหนื่อยหรือขณะที่หัวใจเต้นเร็ว เนื่องจากจะยิ่งทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น[6]
- ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้กับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ผู้ที่มีไข้สูง สตรีที่ตั้งครรภ์ห้ามใช้[6]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หนุมานประสานกาย”. หน้า 818-819.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หนุมานประสานกาย”. หน้า 185.
3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หนุมานประสานกาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [15 ก.ค. 2014].
4. สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. “หนุมาน ประสานกาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: aidsstithai.org/herbs/. [15 ก.ค. 2014].
5. ผู้จัดการออนไลน์. “ยกหนุมานประสานกายแจ๋ว! นำร่องสินค้าสมุนไพรไทยสู้หวัด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [15 ก.ค. 2014].
6. ไทยโพสต์. “หนุมานประสานกาย แก้ไอ เจ็บคอ หอบหืด สมานแผล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net. [15 ก.ค. 2014].
7. เทศบาลเมืองทุ่งสง. “หนุมานประสานกาย” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tungsong.com. [15 ก.ค. 2014].
8. สารศิลปยาไทย ฉบับที่ ๗, สมาคมผู้ประกอบโรคศิลปแผนไทย (เชียงใหม่). “หนุมาน ประสานกาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:http://www.oocities.org/thaimedicinecm/. [15 ก.ค. 2014].
9. หนังสือคู่มือยาสมุนไพร และโรคประเทศเขตร้อนและวิธีบำบัดรักษา. (พ.ต.อ.ชลอ อุทกภาชน์). “หนุมานประสานกาย”.
อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flickr.com/
2. https://powo.science.kew.org/
3. https://medthai.com