ผักกาดน้ำ

ผักกาดน้ำ

ผักกาดน้ำ หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “หญ้าเอ็นยืด” เป็นไม้ล้มลุกที่พบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย สามารถนำทั้งต้นมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เป็นต้นที่อยู่ในตำรับยาไทย หรือนำมาปรุงกับยาชนิดอื่น ส่วนของต้นและเมล็ดมีรสหวาน เป็นยาเย็นที่ส่งผลต่อตับและม้าม พบวิตามินบี1 วิตามินซีและวิตามินเค อยู่ภายในต้นผักกาดน้ำ ส่วนของใบนำมาใช้ทานในรูปแบบของผักสดจิ้มกับน้ำพริก อีกทั้งยังเป็นส่วนที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมายอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักกาดน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plantago major L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Common plantain” “Greater plantain” “Waybread”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “หมอน้อย” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “หญ้าเอ็นอืด” คนไทยเรียกว่า “ผักกาดน้ำ ผักกาดน้ำไทย ผักกาดน้ำใหญ่” คนจีนเรียกว่า “เชียจ่อยเช่า ตะปุกชี้ ยั้วเช่า ฮำผั่วเช่า เซียแต้เฉ้า” จีนกลางเรียกว่า “ต้าเชอเฉียนเฉ่า” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “หญ้าเอ็นยืด หญ้าเอ็นหยืด”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE)

ลักษณะของผักกาดน้ำ

ผักกาดน้ำ เป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่มีเนื้ออ่อนอายุหลายปี มักจะขึ้นตามทุ่งหญ้า พื้นที่โล่งแจ้งที่มีความชุ่มชื้น
ลำต้น : โคนต้นติดอยู่กับดิน มีรากสั้น มีการแตกแขนงเป็นฝอยมาก
ใบ : ใบจะแทงขึ้นมาจากใต้ดินคล้ายกับใบผักกาด เป็นใบเรียงสลับกัน โคนลำต้นมีกาบใบห่อหุ้มอยู่ แผ่นใบมีลักษณะหนาเป็นรูปไข่กลับและมีขนาดกว้าง โคนใบสอบ ขอบใบเป็นคลื่น มีเส้นใบตามยาวประมาณ 5 – 7 เส้น ลักษณะของใบจะคล้ายกับช้อนสังกะสีขนาดใหญ่ และใบจะแตกออกรอบบริเวณต้น เมื่อนำก้านใบมาหักแล้วค่อย ๆ ดึงออกจะเห็นเส้นเอ็นยืดออกมา
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ โดยช่อดอกจะชูขึ้นมาจากกลางกอ มีดอกย่อยขนาดเล็ก และแห้ง เป็นสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาล ไม่มีก้านดอก
ผล : พบได้ในดอก เป็นผลแห้ง ลักษณะค่อนข้างกลม มีรูปร่างไม่แน่นอน ผลมีขนาดเล็กสีเขียวอมสีน้ำตาลหรือเป็นสีน้ำตาลจนถึงสีดำ เมื่อสุกแล้วจะแตกออก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 8 – 15 เมล็ด หรืออาจมีมากถึง 15 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็ก

สรรพคุณของผักกาดน้ำ

  • สรรพคุณจากผักกาดน้ำ เป็นยารักษากระดูกหัก รักษากระดูกแตก ช่วยกำจัดพิษออกจากร่างกาย เป็นยาระบายอ่อน ๆ รักษาอาการไอและหลอดลมอักเสบจากการติดเชื้อ รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร รักษาโรคลำไส้อักเสบ รักษาโรคผิวหนังอักเสบ เป็นสมุนไพรเพื่อการเลิกบุหรี่
    – แก้บิด ด้วยการนำมาต้มร่วมกับผักพลูคาว
  • สรรพคุณจากราก
    – แก้กระษัย แก้ไอ ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ปวดหลัง แก้ปวดเอว แก้อาการช้ำใน ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากต้นและใบ
    – แก้ความดันโลหิตสูง ด้วยการนำต้นและใบมารวมกับพลูคาวอย่างละ 35 กรัม แล้วต้มกับน้ำกิน
  • สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยทำให้ตาสว่าง เป็นยาแก้ร้อน ช่วยขับเสมหะ แก้อาการไอ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
    – เป็นยาขับปัสสาวะ ด้วยการนำเมล็ด 500 กรัมมาต้มกับน้ำ 3 ลิตร โดยต้มจนเหลือน้ำ 1 ลิตรแล้วนำมาแบ่งกิน 3 ครั้ง
  • สรรพคุณจากต้น ช่วยรักษาตาแดงเฉียบพลัน แก้ตาเป็นต้อ ช่วยแก้ไอหวัด แก้หลอดลมอักเสบ ช่วยขับน้ำชื้น แก้ท้องเสีย แก้ลำไส้อักเสบ ช่วยแก้ไตอักเสบ แก้บวมน้ำ แก้ขาบวมน้ำ
    – รักษาอาการอักเสบของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ ช่วยแก้อาการปวดตึงบริเวณคอ หลัง เอว แขนและขา แก้ฟกช้ำบวมจากการหกล้มกระทบกระแทก แก้ข้อเท้าแพลง ด้วยการนำต้นมาทุบให้น้ำออกแล้วนำไปพอกบริเวณที่มีอาการ
    – ช่วยทำให้เอ็นยืดและสมานกระดูกที่แตกและหัก ด้วยการนำน้ำมันมะพร้าวเทใส่กระทะพอประมาณ แล้วเอาหญ้าเอ็นยืดประมาณ 4 – 5 ต้น มาโขลกให้พอแหลก เอามาทอดเคี่ยวกับน้ำมัน แล้วทาบริเวณที่เส้นเอ็นตึง
  • สรรพคุณจากทั้งต้น แก้ขอบตาเป็นเม็ดบวม ช่วยแก้ท้องร่วง ช่วยแก้ปัสสาวะแดง แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้ปัสสาวะขุ่น ช่วยแก้กามโรค แก้หนองใน รักษาแผลที่หายยาก ช่วยดับพิษฝี เป็นยาพอกรักษาอาการนิ้วซ้น แก้เคล็ดขัดยอก แก้เส้นเอ็นพลิก ช่วยรักษาอาการปวดเมื่อย ใช้พอกบริเวณที่เอ็นยึด เป็นยาประคบเพื่อคลายเส้น
    – แก้อาการร้อนใน แก้เจ็บคอ มีฤทธิ์เป็นยาเย็น ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำตาลกรวด ใช้กินเป็นยา
    – เป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว ละลายก้อนนิ่วในไต แก้นิ่วในถุงน้ำดี ขับล้างทางเดินปัสสาวะ แก้ช้ำรั่ว หรือทางเดินปัสสาวะ แก้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย โดยตำรายาไทยนำทั้งต้นประมาณ 1 กำมือมาต้มกับน้ำกิน หรือนำมาปั่นให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำซาวข้าวประมาณ 1 ขวดแม่โขง นำมาดื่มให้หมดภายใน 1 วัน และให้ดื่มติดต่อกัน 2 – 3 วัน
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาขับประจำเดือนของสตรี เป็นยาห้ามเลือดภายนอก รักษาบาดแผลจากการที่ทำให้เลือดหยุดไหลและช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ ช่วยลดอาการอักเสบ ช่วยลดอาการบวม รักษาอาการไหม้จากการถูกแสงแดดและถูกลม แก้ปวดหลังปวดเอว เป็นยารักษาอาการปวดเข่า ใช้พอกต่อเส้นเอ็น
    – แก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการนำใบมาต้มกินเป็นยา
    – บำรุงกำหนัด เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ด้วยการนำไปตากแดดให้แห้งแล้วทำเป็นชาชงดื่ม หรือกินเป็นผักสด
    – รักษาแผลสด แก้แผลเรื้อรัง แก้ผิวหนังอักเสบ แก้อาการคัน ลดอาการแพ้ ต้านการอักเสบจากการแพ้พืช แก้พิษจากการถูกผึ้งต่อยหรือแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการนำใบมาตำใช้เป็นยาพอกบริเวณที่มีอาการ
    – เป็นยารักษาโรคผิวหนังได้หลายชนิด เช่น อาการอักเสบของผิวหนังของทารกที่เรียกว่า “ผ้าอ้อมกัด” ด้วยการนำใบแห้งมาแช่ในน้ำมันแล้วนำไปตากแดด แล้วนำน้ำมันที่ได้มาใช้ทาบริเวณที่มีอาการ
    – แก้โรคเชื้อราที่เท้า ด้วยการนำใบสดมาบดใส่และห่อผ้าพอกทิ้งไว้

ประโยชน์ของต้นผักกาดน้ำ

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร แถบภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางนำใบอ่อนใช้กินเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก
2. เป็นส่วนประกอบของยา ผักกาดน้ำนำมาใช้ในการรักษาโรคกันมานานนับพันปี เพราะเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง เป็นสมุนไพรที่หมอนวดมักนำมาปลูกไว้หน้าบ้านเพื่อเป็นการตัดไม้ข่มนาม ใครที่เข้ามานวดที่นี่แล้วเอ็นต้องยืดสมดังชื่อ
3. เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ มีการนำมาใช้ทำเป็นครีมหรือโลชันบำรุงผิวเพื่อช่วยลบรอยเหี่ยวย่น

คุณค่าทางโภชนาการของใบผักกาดน้ำ

คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 61 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
น้ำ  81.4%
โปรตีน 2.5 กรัม
ไขมัน 0.3 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 14.6 กรัม
วิตามินเอ 4,200 หน่วยสากล
วิตามินบี2 0.28 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 0.8 มิลลิกรัม
วิตามินซี 8 มิลลิกรัม
แคลเซียม 184 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 52 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม

ผักกาดน้ำ เป็นผักที่อยู่ในตำรายาสมุนไพรมาเนิ่นนาน และมีจุดเด่นอยู่ที่ใบ เมื่อยืดใบจะมีเส้นเอ็นยืดออกมา และยังเป็นยาที่ดีต่อเอ็นในร่างกายอีกด้วย ส่วนของใบอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์มากมาย ผักกาดน้ำมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาแผล รักษาโรคผิวหนัง แก้นิ่ว แก้โรคที่เกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ แก้เส้นเอ็นยึดหรือพลิก ช่วยคลายเส้นเอ็น รักษาอาการอักเสบของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ สมานกระดูกที่แตกหักและอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่น่าแปลกใจที่ผักกาดน้ำเป็นยาสมุนไพรของคนในอดีตมาจนปัจจุบัน

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ผักกาดน้ํา”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 464-465.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ผักกาดน้ำ Common Plantain”. หน้า 167.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ผักกาดน้ำใหญ่”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 336.
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่องผักกาดน้ำ”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [23 เม.ย. 2014].
หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1. (เกรียงไกรและคณะ).
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักกาดน้ํา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [23 เม.ย. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “หมอน้อย”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชสมุนไพร เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [23 เม.ย. 2014].
ไตรย (THRAI) ฐานข้อมูลตำรายาสมุนไพรไทย, หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารสนเทศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “เรื่องน่ารู้ของผักกาดน้ำ : ยาเอ็น ยากระดูก ยานิ่ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: thrai.sci.ku.ac.th. [23 เม.ย. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ผักกาดน้ํา, หมอน้อย, หญ้าเอ็นหยืด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [23 เม.ย. 2014].
จำรัส เซ็ลนิล. “หญ้าเอ็นยืด “ยาเอ็น-ยากระดูก-ยานิ่ว” ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [23 เม.ย. 2014].
ข่าวสดออนไลน์. “อจ.เภสัชมช.เผยประโยชน์หญ้าเอ็นยืด ”. (ภญ.รศ.ดร.พาณี ศิริสะอาด อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.khaosod.co.th. [23 เม.ย. 2014].
กรีนคลินิก. “ผักกาดน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.greenclinic.in.th. [23 เม.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
https://www.aquaportail.com/fiche-plante-3741-plantago-major.html