รากสามสิบ
รากสามสิบ เป็นไม้เถาเนื้อแข็งเลื้อยพันต้นไม้อื่นด้วยหนาม มีเหง้าและรากอยู่ใต้ดิน มีส่วนของดอกออกรอบข้อเป็นฝอยขนาดเล็กคล้ายหางกระรอก ทำให้ดูโดดเด่น ดอกเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม มีรากรสเฝื่อนเย็น ผลมีรสเย็น อยู่ในตำรายาไทย ประเทศอินเดียและตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานี ผลอ่อนนิยมทำเป็นแกงลูกสามสิบ สามารถนำทั้งต้นมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมาก
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของรากสามสิบ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Asparagus racemosus Willd.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Shatavari”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “จ๋วงเครือ” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “สามร้อยราก” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ผักหนาม” จังหวัดหนองคายเรียกว่า “ผักชีช้าง” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “เตอสีเบาะ” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “พอควายเมะ” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ชีช้าง ผักชีช้าง จั่นดิน ม้าสามต๋อน สามสิบ ว่านรากสามสิบ ว่านสามสิบ ว่านสามร้อยราก สามร้อยผัว สาวร้อยผัว ศตาวรี”
ชื่อวงศ์ : วงศ์หน่อไม้ฝรั่ง (ASPARAGACEAE)
ชื่อพ้อง : Protasparagus racemosus (Willd.) Oberm.
ลักษณะของรากสามสิบ
รากสามสิบ เป็นไม้เถาเนื้อแข็งเลื้อยพันต้นไม้อื่นด้วยหนาม สามารถเลื้อยปีนป่ายต้นไม้อื่น มักจะพบขึ้นตามป่าในเขตร้อนชื้น ป่าเขตร้อนแห้งแล้ง ป่าผลัดใบ ป่าโปร่งหรือตามเขาหินปูน
ลำต้น : แตกแขนงเป็นเถาห่าง ๆ ลำต้นเป็นสีเขียวหรือสีขาวแกมเหลือง เถามีขนาดเล็กเรียว กลม เรียบ ลื่นและเป็นมัน เถาอ่อนเป็นเหลี่ยม ตามข้อเถามีหนามแหลม หนามมีลักษณะโค้งกลับ บริเวณข้อมีกิ่งแตกแขนงแบบรอบข้อ กิ่งนี้จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวลักษณะแบนเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม ทำหน้าที่แทนใบ
เหง้าและราก : มีเหง้าและรากอยู่ใต้ดิน ออกเป็นกระจุกคล้ายกระสวย ลักษณะของรากออกเป็นพวงคล้ายรากกระชาย มีลักษณะอวบน้ำ เป็นเส้นกลมยาว และมีขนาดโตกว่าเถามาก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวลักษณะแข็ง ออกรอบข้อเป็นฝอยเล็กคล้ายหางกระรอก หรือออกเรียงสลับเป็นกระจุก 3 – 4 ใบ ใบเป็นสีเขียวดก ลักษณะของใบเป็นรูปเข็มขนาดเล็ก ปลายใบแหลม เป็นรูปเคียว โคนใบแหลม แผ่นมักโค้ง สันเป็นสามเหลี่ยม มี 3 สัน มีหนามที่ซอกกระจุกใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบและข้อเถา ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม มีประมาณ 12 – 17 ดอก กลีบรวม 6 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายกลีบมน ขอบเรียบ กลีบดอกมีลักษณะบางและย่น โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปดอกเข็ม มักจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม หรือเป็น 3 พู ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีม่วงแดง ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2 – 6 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำ เปลือกหุ้มมีลักษณะแข็งแต่เปราะ มักจะออกผลในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม
สรรพคุณของรากสามสิบ
- สรรพคุณจากราก เป็นยาบำรุงกำลัง เป็นยาชูกำลัง เป็นยาแก้กระษัย เป็นยากระตุ้นประสาท ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นยาแก้พิษร้อนในกระหายน้ำ ช่วยขับเสมหะ แก้การติดเชื้อที่หลอดลม รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ แก้อาการอาหารไม่ย่อย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร รักษาโรคกระเพาะ แก้ขัดเบา ขับปัสสาวะ ช่วยหล่อลื่นและกระตุ้น ช่วยรักษาอาการประจำเดือนผิดปกติของสตรี เป็นยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศทั้งชายและหญิง แก้ตกขาว แก้มีบุตรยาก แก้หมดอารมณ์ทางเพศ ช่วยบำรุงครรภ์ บำรุงน้ำนม ป้องกันการแท้ง เป็นยาบำรุงตับและปอดให้เกิดกำลังเป็นปกติ แก้ตับและปอดพิการ ช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง แก้อาการปวดเมื่อย แก้ครั่นตัว ช่วยแก้อาการปวดข้อและคอ เป็นยาบำรุงเด็กทารกในครรภ์ บำรุงน้ำนม บำรุงร่างกายหลังการคลอดบุตรของสตรี แก้โรคผอมแห้ง แก้หอบหืด แก้ปิดตะ แก้โรคลม แก้ไข้กำเดา แก้โรคที่มีอาการเสียดแทงในลำไส้ใหญ่ ช่วยสร้างสมดุลให้แก่ระบบฮอร์โมนเพศหญิง แก้วัยทอง เพิ่มขนาดหน้าอกและสะโพก ช่วยแก้ปัญหาช่องคลอดอักเสบ ดับกลิ่นในช่องคลอด ช่วยกระชับช่องคลอด ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ช่วยกระชับสัดส่วน ลดไขมันส่วนเกิน บำรุงโลหิต บำรุงผิวพรรณ ลดสิว ลดฝ้า ทำให้ผิวขาวใส ช่วยชะลอความแก่ชรา ลดกลิ่นตัว กลิ่นปาก ช่วยเสริมสร้างและพัฒนาความจำและสติปัญญา
– แก้วิงเวียน ด้วยการนำรากผสมกับเหง้าขิงป่าและต้นจันทน์แดง ผสมกับเหล้าโรงใช้เป็นยา
– ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด รักษาโรคคอพอก แก้ไอ ช่วยขับลม ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องเสีย แก้บิด แก้ริดสีดวงทวาร แก้ตกเลือด ด้วยการนำรากต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
– แก้พิษจากแมงป่องกัดต่อย แก้อาการปวดฝี ทำให้เย็น ช่วยถอนพิษฝี แก้พิษปวดแสบปวดร้อน ด้วยการนำรากใช้ฝนทา - สรรพคุณจากทั้งต้น
– รักษาโรคคอพอก แก้ตกเลือด ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากผล เป็นยาแก้พิษไข้เซื่องซึม แก้พิษไข้กลับไข้ซ้ำ เป็นยาดับพิษไข้จากบิดเรื้อรัง
- สรรพคุณจากใบ เป็นยาระบาย ช่วยขับน้ำนม ช่วยทำให้เจริญอาหาร
ประโยชน์ของรากสามสิบ
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลอ่อนนำมาทานได้ โดยนำมาทำเป็นแกงลูกสามสิบ รากนำมาต้ม เชื่อม หรือนำมาแช่อิ่ม ใช้รับประทานเป็นอาหาร ทำเป็นน้ำรากสามสิบ ทางภาคอีสานนำยอดมาลวกทานเป็นผักเคียง ทางภาคใต้นำส่วนที่อยู่เหนือดินมาใส่ในแกงส้มและแกงเลียง แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมรากสามสิบ
2. เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด รากนำมาทุบหรือขูดกับน้ำ ทำเป็นน้ำสบู่สำหรับซักเสื้อผ้าได้
3. ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
ข้อควรระวังในการใช้รากสามสิบ
รากสามสิบจะมีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นจึงห้ามนำมาใช้ในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง
รากสามสิบ ถือเป็นสุดยอดของยาอีกชนิดหนึ่งที่นิยมอย่างมากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในอินเดีย เป็นยาพื้นบ้านในตำรามากมายจนนับไม่ถ้วน รากสามสิบมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงกำลัง กระตุ้นประสาท ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาโรคคอพอก เป็นยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศทั้งชายและหญิง บำรุงตับและปอด ดีอย่างมากต่อระบบอวัยวะของผู้หญิงทั้งมดลูกและน้ำนม
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สามสิบ (Sam Sip)”. หน้า 298.
หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “รากสามสิบ” หน้า 157.
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “รากสามสิบ”. หน้า 176/13.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “รากสามสิบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [09 ต.ค. 2014].
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “สามสิบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [09 ต.ค. 2014].
ว่านและสมุนไพรไทย, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. “ว่านสามสิบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.skc.rmuti.ac.th/WAN/. [09 ต.ค. 2014].
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ผักชีช้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org/wiki/ผักชีช้าง. [09 ต.ค. 2014].
รายงานการศึกษาพันธุ์ไม้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553, ส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (สุราษฎร์ธานี) กรมป่าไม้. “สามสิบ Asparagus racemosus willd. ASPARAGACEAE”.
หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “รากสามสิบ”., “ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของรากสามสิบในการยับยั้งการย่อย การดูดซึมคาร์โบไฮเดรต และเพิ่มการทำงานของอินซูลิน“. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [09 ต.ค. 2014].
หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 465, วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552. (ไพบูลย์ แพงเงิน). “สาวร้อยผัว…ผักพื้นบ้านและสมุนไพรที่น่าสนใจ”.
กระปุกดอทคอม. (เภสัชกรหญิง สุภาภรณ์ ปิติพร). “สาวร้อยผัว เคล็ดลับความงามสองพันปี”. เข้าถึงได้จาก : hilight.kapook.com. [09 ต.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1.https://www.saraswatiayurveda.com/blog/2019/9/8/shatavari
2.https://www.iafaforallergy.com/herbs-a-to-z/satavari-asparagus-racemosus/