คัดเค้า สรรพคุณที่ยอดเยี่ยมต่อระบบเลือด เหมาะสำหรับสตรีมีประจำเดือน

0
1714
คัดเค้า สรรพคุณที่ยอดเยี่ยมต่อระบบเลือด เหมาะสำหรับสตรีมีประจำเดือน
คัดเค้า มีลักษณะเด่นอยู่ที่มีหนามแหลมคล้ายกับเขาควายข้อละหนึ่งคู่ มีดอกขนาดเล็กสีขาวและมีกลิ่นหอม
คัดเค้า สรรพคุณที่ยอดเยี่ยมต่อระบบเลือด เหมาะสำหรับสตรีมีประจำเดือน
คัดเค้า มีลักษณะเด่นอยู่ที่มีหนามแหลมคล้ายกับเขาควายข้อละหนึ่งคู่ มีดอกขนาดเล็กสีขาวและมีกลิ่นหอม

คัดเค้า

คัดเค้า (Siamese randia) มีลักษณะเด่นอยู่ที่มีหนามแหลมคล้ายกับเขาควายข้อละหนึ่งคู่ มีดอกขนาดเล็กสีขาวและมีกลิ่นหอม เหมาะสำหรับปลูกประดับหรือกันสัตว์เข้ามาในบริเวณบ้าน สามารถนำมารับประทานได้และเป็นยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณจากทุกสัดส่วนของต้นแม้กระทั่งหนามที่แหลมคม

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของคัดเค้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oxyceros horridus Lour.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Siamese randia”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “คัดเค้า คัดค้าว” ภาคเหนือเรียกว่า “เค็ดเค้า” ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “คัดเค้า คันเค่า” ภาคใต้และภาคตะวันตกเฉียงใต้เรียกว่า “เขี้ยวกระจับ” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “จีเก๊า จีเค้า โยทะกา หนามลิดเค้” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “จีเค๊า พญาเท้าเอว” จังหวัดชัยภูมิเรียกว่า “คัดเค้าหนาม” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “คัดเค้าเครือ” มีชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “จี้เค้า หนามเล็บแมว”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เข็ม (RUBIACEAE)
ชื่อพ้อง : Randia siamensis (Miq.) Craib

ลักษณะของต้นคัดเค้า

คัดเค้า เป็นพรรณไม้เถาเนื้อเหนียวแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อยที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะพบในป่าเบญจพรรณตามภาคต่าง ๆ ตามสวน ตามที่รกร้างว่างเปล่า หรือมักปลูกกันไว้ตามบ้านหรือตามวัดเพื่อใช้ทำเป็นยา
เปลือกลำต้น : ผิวเรียบและเป็นสีน้ำตาล
ลำต้น : ลำต้นคดและยาว มักจะขึ้นพาดพันเลื้อยไปตามต้นไม้และกิ่งไม้ หากไม่มีที่เลื้อยพันก็จะเป็นไม้กึ่งเลื้อยกึ่งยืนต้นคล้ายกับนมแมว ตามลำต้นมีข้อ ซึ่งจะมีใบงอกออกเป็นคู่ ๆ และจะมีหนามแหลมโค้งงองุ้มออกจากโคนใบมีลักษณะคล้ายกับเขาควายข้อละหนึ่งคู่
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นรูปวงรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ท้องใบเรียบลื่นและมีสีอ่อนกว่า เนื้อใบเหนียว หนาและแข็ง มีหูใบขนาดเล็กเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่ระหว่างก้านใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเป็นช่อใหญ่ ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีขาวและมีกลิ่นหอม ลักษณะคล้ายดอกเข็ม มีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะบิด กลีบเลี้ยงเป็นสีขาวอมสีเขียว ดอกจะบานพร้อมกันทั้งช่อ เมื่อดอกเริ่มบานจะเป็นสีขาวนวลแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวลในวันต่อมา ดอกจะส่งกลิ่นหอมแรงมากในช่วงเย็นถึงช่วงกลางคืน มักจะออกดอกในช่วงปลายฤดูฝนจนถึงช่วงฤดูหนาว
ผล : ออกผลเป็นพวงหรือออกเป็นกลุ่ม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือกลมวงรี ผิวเรียบและเป็นมัน ผลมีขนาดเท่าเมล็ดพุทรากลม ๆ ปลายผลแหลม ผลเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กอัดแน่นกันเป็นจำนวนมาก เมล็ดมีขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟ

สรรพคุณของคัดเค้า

  • สรรพคุณจากคัดเค้า แก้อาการไอ
  • สรรพคุณจากผล บำรุงโลหิต บำรุงผิวพรรณ
    – เป็นยาฟอกโลหิต ด้วยการนำมาต้มแล้วรับประทาน
    – เป็นยาขับระดูหรือขับโลหิตประจำเดือนเสียของสตรี ด้วยการใช้ผลประมาณ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
  • สรรพคุณจากเถา แก้โลหิต
  • สรรพคุณจากทั้งต้น แก้โลหิต แก้เสมหะ
    – รักษาฝีทั้งภายนอกและภายใน ด้วยการนำทั้งห้าส่วนมาต้มเป็นยารับประทาน
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาขับโลหิต เป็นยารักษาไข้เพื่อโลหิต เป็นยารักษาโรครัตตะปิดตะโรค ช่วยขับลม เป็นยาขับระดูหรือขับโลหิตประจำเดือนเสียของสตรี
    – เป็นยาแก้ไข้ รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน แก้อาการท้องเสีย ด้วยการนำรากมาฝนกับน้ำแล้วดื่ม
    – รักษาฝีและรักษาแผลทั่วไป โดยเฉพาะแผลสุนัขกัด ด้วยการนำรากมาฝนกับน้ำซาวข้าว
  • สรรพคุณจากใบ แก้โลหิตซ่าน
    – – เป็นยาแก้ไข้ ด้วยการนำใบมาแช่กับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากดอก แก้โลหิตในกองกำเดา
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น ช่วยปิดธาตุ แก้เลือดออกตามทวารทั้งเก้า ช่วยรีดมดลูก
  • สรรพคุณจากหนาม แก้พิษไข้กาฬ เป็นยาลดไข้ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย แก้พิษฝีต่าง ๆ แก้ฝีประคำร้อย
  • สรรพคุณจากยอด
    – รักษาฝี ด้วยการนำยอดมาขยี้หรือตำแล้วพอก

ประโยชน์ของคัดเค้า

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนสามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารหรือใช้รับประทานแกล้มกับลาบ ผลอ่อนหรือผลแก่นำมาลวกให้สุกใช้รับประทานเป็นผักเหนาะหรือผักสดร่วมกับน้ำพริกได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นไม้เลื้อยตามซุ้มหรือตามรั้วเพื่อทำเป็นรั้วป้องกัน ปลูกเป็นไม้ประดับในบ้าน
3. ใช้ในอุตสาหกรรม มีสารจำพวกไตรเทอร์ปีนซาโปนินที่มีฤทธิ์เป็นยาเบื่อปลา

คัดเค้า เป็นไม้พุ่มที่สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาทำเป็นยาได้ โดยส่วนรากมีรสฝาดเย็น ใบมีรสเฝื่อนเมา ผลมีรสเฝื่อนปร่า ทั้งต้นมีรสฝาดเฝื่อน ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้นที่มีเอกลักษณ์ในส่วนของหนามแหลมคมและยังนำมาทำเป็นยาได้ด้วย มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงโลหิต รักษาฝีและแก้ไข้ ส่วนมากจะช่วยในเรื่องระบบเลือดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “คัดเค้า”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 177.
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “คัดเค้า (Khut Khao)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 77.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “”คัดเค้าเครือ””. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 99.
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “คัดเค้า (คัดเค้าเครือ)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [16 ก.พ. 2014].
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “คัดเค้า”. (นพพล เกตุประสาท, ไพร มัทธวรัตน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [16 ก.พ. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 319 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “คัดเค้า ความหอมอย่างไทย จากป่าไทย”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [16 ก.พ. 2014].
สมุนไพรไทย, มหาวิทยาลัยนเรศวร. “สมุนไพรไทยคัดเค้าเครือ”. (วชิราภรณ์ ทัพผา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/46313433/Thaiherb/. [16 ก.พ. 2014].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “คัดเค้า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [16 ก.พ. 2014].
ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “คัดเค้า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [16 ก.พ. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “คัดเค้าเครือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [16 ก.พ. 2014].
OK Nation Blog. “คัดเค้า ไม้หอม ยาไทยใกล้ตัว”. (ชบาตานี). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.oknation.net. [16 ก.พ. 2014].