พันงูเขียว
ต้นพันงูเขียวพบได้ในแถบเขตร้อน โดยมักขึ้นตามบริเวณเนินเขา ตามทุ่งหญ้าและทุ่งนา ตามริมถนน หรือในพื้นที่ที่เปิดโล่งกว้าง จะพบเจอที่ระดับความสูงวัดจากระดับน้ำทะเลจนถึง 600 เมตร[1],[2] ชื่อสามัญ Brazilian Tea, Bastard Vervain, Jamaica False Veravin, Arron’s Rod[1] ชื่อวิทยาศาสตร์ Stachytarpheta jamaicensis (L.) Vahl ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ ไม่ระบุ จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ผกากรอง (VERBENACEAE)[1]
ชื่ออื่น ๆ เล้งเปียง (ภาษาจีนแต้จิ๋ว), ยี่หลงเปียน ยวี่หลงเปียน เจี่ยหม่าเปียน (ภาษาจีนกลาง), หญ้าหนวดเสือ (ในภาคเหนือ), สี่บาท สารพัดพิษ (ในภาคกลาง), หญ้าหางงู (ในภาคใต้), เจ๊กจับกบ (จังหวัดตราด), ลังถึ่งดุ๊ก (ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), เดือยงู พระอินทร์โปรย (จังหวัดชุมพร), ฉลกบาท, หญ้าพันงูเขียว เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของต้นพันงูเขียว
- ต้น
– เป็นพันธุ์ไม้ประเภทล้มลุกอยู่ในจำพวกหญ้า
– ต้นมีความสูง: ประมาณ 50 เซนติเมตร
– ลักษณะของลำต้น: ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง
– โดยลำต้นจะแตกกิ่งก้านสาขาแผ่กว้างออกไปทางด้านข้าง
– ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด - ใบ
– ใบมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงตรงข้ามกัน
– ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปไข่ ที่ปลายใบแหลม ตรงโคนใบเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบหยักเป็นรอยคล้ายฟันเลื่อย
– ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 4-6 เซนติเมตร[1],[2] - ดอก
– ดอกเป็นช่อ โดยช่อดอกจะออกที่บริเวณปลายกิ่ง
– ดอกมีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ โดยกลีบดอกเหล่านี้จะมีสีเป็นสีม่วงน้ำเงิน กลีบดอกมีรูปร่างเป็นรูปกลมงอเล็กน้อย และมีกาบใบ 1 ใบ ที่มีรูปร่างเป็นรูปสามเหลี่ยม ที่ตรงขอบมีรอยฟันเลื่อยอยู่ 4-5 หยัก
– โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูปหลอด
– ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 2 อัน
– ดอกจะมีรังไข่อยู่ 2 ห้อง
– โดยดอกของต้นพันงูเขียมจะออกในช่วงฤดูร้อน (ช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม)[1],[2] - ผล
– ผลจะมีกลีบเลี้ยงห่อหุ้มเอาไว้อยู่ โดยผลมักจะพบได้ในบริเวณที่ใกล้กับช่อดอก
– ถ้าผลแห้งแล้ว ผลก็จะแตกออกมา และภายในผลจะมีเมล็ดอยู่[1],[2]
สรรพคุณของต้นพันงูเขียว
1. ทั้งต้นนำมาใช้รักษาอาการปวดเมื่อยตามข้อเนื่องจากลมชื้นคั่งค้างภายในร่างกาย (ทั้งต้น)[2]
2. ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ทั้งต้น)[3],[4]
3. ทั้งต้นนำมาใช้เป็นยาสำหรับรักษาโรคตาแดง (ทั้งต้น)[1]
4. ทั้งต้นจะออกฤทธิ์ต่อปอดและลำไส้ใหญ่ โดยจะนำมาใช้ทำเป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ และช่วยขับเหงื่อให้ออก (ทั้งต้น)[2]
5. ทั้งต้นนำมาใช้เป็นยาสำหรับช่วยรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน และอีกทั้งยังนำมาใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย (ทั้งต้น)[1]
6. ตำรับยาแก้ตาบวม ตาอักเสบ ตาแดง ระบุว่าให้ใช้ทั้งต้นในปริมาณ 35 กรัม, ต้นเจียไก้หลานในปริมาณ 35 กรัม และต้นอิไต้เถิงในปริมาณ 25 กรัม นำมาตำรวมกัน จากนั้นก็นำไปผสมกับพิมเสนเล็กน้อย ใช้สำหรับพอกบริเวณตาข้างที่มีอาการ (ทั้งต้น)[2]
7. ตำรับยาสำหรับแก้อาการบวม ฟกช้ำ ระบุว่าให้ใช้ทั้งต้น, ต้นโกฐดอกขาว และต้นสือเชียนเถา ในปริมาณอย่างละเท่า ๆ กัน นำมาตำผสมกับน้ำเหล้าเล็กน้อย ใช้เป็นยาสำหรับนำไปพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[2]
8. ทั้งต้นนำมาใช้ช่วยรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และรักษาทางเดินปัสสาวะติดเชื้อได้ (ทั้งต้น)[1],[2]
9. ทั้งต้นนำมาใช้ทำเป็นยาสำหรับรักษาโรคปวดข้อตามจุดต่าง ๆ ได้ (ทั้งต้น)[1]
10. ใบนำมาตำใช้สำหรับพอกแก้อาการเคล็ด (ใบ)[4]
11. ใบนำมาใช้ทำเป็นยาทาสำหรับรักษาฝีหนอง (ใบ)[1]
12. ใบนำมาทำเป็นยาสำหรับทาถูนวด โดยจะมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ (ใบ)[1]
13. ใบนำมารักษาอาการเจ็บคอ อาการคออักเสบ โดยการนำใบสด ๆ มาตำให้ละเอียดจากนั้นผสมกับน้ำตาล ใช้สำหรับทำเป็นยาอม (ใบ)[1],[2]
14. เปลือกต้นนำมาใช้ทำเป็นยารักษาอาการท้องเสียและโรคบิด (เปลือกต้น)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้ใช้ใบในการนำมาเป็นยาแก้โรคบิด (ใบ)[4]
15. ทั้งต้นจะนำมาใช้ทำเป็นยาขับพยาธิ (ทั้งต้น)[1] ส่วนใบจะนำมาใช้ทำเป็นยาขับพยาธิในเด็ก (ใบ)[4]
16. ทั้งต้นนำไปต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาสำหรับแก้โรคหนองใน (ทั้งต้น)[3] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้ใช้รากเป็นยาสำหรับแก้โรคหนองใน (ราก)[4]
17. รากมีสรรพคุณทำให้แท้งได้จึงไม่ควรให้สตรีที่มีครรภ์รับประทาน (ราก)[4]
18. ต้นสดนำมาตำใช้พอกบริเวณที่เป็นแผลอักเสบ ฝีและหนอง แผลเปื่อย และพิษอักเสบที่ทำให้ปวดบวม (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
ขนาดและวิธีใช้
1. ยาแห้งให้ใช้ในปริมาณครั้งละ 15-35 กรัม
2. ยาสดให้ใช้ในปริมาณครั้งละ 35-70 กรัม
3. โดยทั้งตัวยาแห้ง และสด นำมาต้มกับน้ำใช้ดื่ม หรือนำมาร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาก็ได้ตามความต้องการ แต่ถ้าหากนำมาใช้ภายนอก ให้เปลี่ยนจากการต้มเป็นการนำมาตำจากนั้นนำมาพอกบริเวณที่มีอาการ[2]
ประโยชน์ของต้นพันงูเขียว
- ในประเทศบราซิลจะนำใบมาใช้แทนใบชา และจะส่งขายทางยุโรป โดยจะมีชื่อทางการค้าว่า “Brazillian tea“[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
1. จากการศึกษาคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระไฮดรอกซิล และการหาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดที่ได้จากทั้งต้น ที่ทำการสกัดด้วย น้ำ, เอทานอล 50%, เอทานอล 75% ผลจากการวิจัยในครั้งนี้พบได้ว่าสารสกัดจากใบที่สกัดด้วยเอทานอล 75 % นั้นจะออกฤทธิ์ คิดเปอร์เซ็นต์การยับยั้งอนุมูลอิสระไฮดรอกซิล ได้สูงสุดทั้งชนิดแบบสดและชนิดแบบแห้ง เท่ากับ 6.45 และ 54.00 ตามลำดับ และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับวิตามินอีที่ความเข้มข้นที่ 5 ppm พบว่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งอนุมูลอิสระไฮดรอกซิลของสารสกัดจากใบแห้ง มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งที่มากกว่าวิตามินอีอยู่ 1.16 เท่า แต่พบว่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งอนุมูลอิสระไฮดรอกซิลของสารสกัดจากใบสดนั้น มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งที่น้อยกว่าวิตามินอีอยู่ 7.21 เท่า แต่เมื่อทำการนำสารสกัดหยาบมาศึกษาองค์ประกอบทางเคมีอย่างถี่ถ้วนก็พบว่าภายในสารนั้นมีกรดแกลลิกและควอซิตินเป็นองค์ประกอบอยู่ (การศึกษาสมบัติการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากต้น โดย : ชัชฎาพร องอาจ และปวีณา ดารา)
2. ในราก จากการวิจัยนั้นจะพบสารจำพวก Phrnol, Chlorogenic acid เป็นต้น[2]
3. สารที่สกัดมาจากการต้มด้วยน้ำ จะออกฤทธิ์กระตุ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นต่อหัวใจของกระต่าย แต่ถ้านำมาฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อที่ขาหลังของหนูขาวที่นำมาทดลอง ผลพบว่าสามารถขยายเส้นเลือดของหนูทดลองได้ แต่ถ้านำมาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำของสุนัขที่ถูกวางยาสลบ จะมีผลพบว่าสารสกัดนี้จะไม่มีผลต่อความดันโลหิต[1],[2]
4. สารที่สกัดมาจากการต้มด้วยน้ำ จะมีฤทธิ์เข้าไปกระตุ้นลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่นำมาทดลอง แต่ในส่วนของผลการทดลองกับสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์นั้นจะมีฤทธิ์การกระตุ้นที่อ่อนกว่า แต่ทั้งสองชนิดนั้นจะไม่มีฤทธิ์ต่อหูรูดในช่วงระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็กของสัตว์ทดลองอย่างกระต่ายและอวัยวะมดลูกของหนูขาว[1],[2]
5. น้ำที่สกัดได้มาจากต้น จะมีฤทธิ์คล้ายกับสารโดปามีน (dopamine) และมีความเป็นพิษต่อหนูที่ถีบจักร[1] โดยทั้งสารที่สกัดได้มาจากน้ำและแอลกอฮอล์นั้น หากนำมาฉีดเข้าช่องท้องของหนูทดลองที่ถีบจักรในปริมาณ ตัวละ 0.1 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม ผลพบว่าภายในเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากที่ทำการฉีดสารตัวนี้เข้าไปแล้ว หนูจะตายลงในทันที[1],[2]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “พัน งู เขียว”. หน้า 557-558.
2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “พันงูเขียว”. หน้า 384.
3. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “หญ้าพันงูเขียว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com. [09 พ.ย. 2014].
4. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง. “พัน งู เขียว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [09 พ.ย. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flawildflowers.org/
2.https://www.richardlyonsnursery.com/