ชา
ชา (Tea) เป็นเครื่องดื่มสมุนไพรที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายมากแค่ไหน ต้นชาเป็นไม้ยืนต้นที่เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากเทือกเขาทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ ซึ่งตัวชาก็จะนำมาสกัดเป็น ชาเขียว ชาดำ ที่เราทานกันเป็นประจำ ใบชาถือได้ว่าเป็นยาชั้นยอด คนรักสุขภาพส่วนมากไม่เคยมองข้ามเครื่องดื่มชนิดนี้ เพียงแต่ว่ามีการนำมาแปรรูปหลากหลายจนต้องดูรายละเอียดให้ดี หากคุณได้ดื่มชาดี สุขภาพย่อมดีแน่นอน
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของชา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Camellia sinensis (L.) Kuntze
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Tea” “Thea”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ชา” ภาคเหนือเรียกว่า “เมี่ยง เมี่ยงป่า” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “นอมื่อ” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “แต๊” จีนกลางเรียกว่า “ฉา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ชา (THEACEAE)
ลักษณะของต้นชา
ชา เป็นไม้ยืนต้นที่เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากเทือกเขาด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ชาที่ผลิตทางการค้าส่วนใหญ่มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่
1. กลุ่มชาพันธุ์จีน (Chinese Tea) เป็นพรรณไม้ขนาดย่อมจนถึงขนาดกลาง เป็นพันธุ์เดิมของประเทศจีน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นฟันเลื่อย หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน เส้นใบเป็นตาข่าย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อหรือเป็นกระจุกตามง่ามใบ ดอกมีขนาดใหญ่สีสวย เป็นสีขาวนวล มีกลิ่นหอม ช่อหนึ่งมี 1 – 4 ดอก กลีบดอก 5 กลีบ กลีบเลี้ยง 2 กลีบ มีเกสรเพศผู้อยู่กลางดอกจำนวนมาก
ผล : เป็นแบบแคปซูล เมื่อแก่จะแตกออก หนึ่งผลมี 1 – 3 เมล็ด เป็นรูปสามเหลี่ยมแบน หรือค่อนข้างกลม ผิวเรียบเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำหรือสีน้ำตาลอมแดง
2. กลุ่มชาพันธุ์อัสสัม (Assam tea) เป็นไม้พุ่มขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ พบได้ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ และน่าน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยประมาณ 9 หยัก แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อนถึงเข้ม ก้านใบและท้องใบมีขนอ่อนปกคลุม
ดอก : เจริญจากตาบริเวณง่ามใบบนกิ่ง มักจะออกติดกันเป็นกลุ่ม ช่อละ 2 – 4 ดอกต่อตา ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 – 6 กลีบ เป็นรูปทรงโค้งมนยาว กลีบดอก 5 – 6 กลีบ โคนกลีบติดกับฐานดอกแคบ ปลายกลีบบานออก วงเกสรเพศผู้มีอับละอองเกสรสีเหลืองติดอยู่ ปลายก้านชูอับละอองเกสรเป็นสีขาว เกสรเพศเมียเป็นก้านกลม ภายในรังไข่แบ่งเป็น 1 – 3 ช่อง
ผล : เป็นแบบแคปซูล เมื่อแก่เต็มที่เปลือกจะแตกออก ภายในมีเมล็ดลักษณะกลม ผิวเรียบแข็ง เป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง
สรรพคุณของชา
- สรรพคุณจากเครื่องดื่มชา ช่วยทำให้คุณรู้สึกสดชื่น ช่วยกระจายความร้อนส่วนเกินในร่างกาย ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยกระตุ้นระบบประสาทและร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยหมุนเวียนโลหิต รักษาโรคไมเกรน เพื่อช่วยเพิ่มฤทธิ์ในการรักษาและทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นานยิ่งขึ้น ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความชราและมีส่วนช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยสลายไขมัน ลดระดับคอเลสเตอรอล ควบคุมการเกิดโรคอ้วน มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ต้านจุลชีพ ลดการอักเสบ สมานแผล ช่วยป้องกันโรคที่ก่อการอักเสบเรื้อรัง ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ดีต่อระบบหัวใจและการไหลเวียนของโลหิต ช่วยขยายหลอดเลือด ป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ช่วยรักษาอาการเจ็บหน้าอก รักษากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยอาหารจำพวกวิตามินกลุ่มต่าง ๆ ช่วยป้องกันภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ช่วยป้องกันฟันผุและเสริมมวลกระดูก
- สรรพคุณจากใบ ช่วยกระตุ้นทำให้กระชุ่มกระชวย ไม่ง่วงนอน ทำให้ตาสว่าง กระตุ้นให้หายเหนื่อย ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้หน้ามืดตามัว ช่วยทำให้คอชุ่ม แก้อาการกระหายน้ำได้ดีมาก ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นยาฝาดสมาน ลดอาการท้องร่วง เป็นยาแก้บิด รักษาอาการปวดท้อง ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยขับปัสสาวะ เป็นยาแก้พิษ ชะล้างแผล สมานแผล แก้บวม รักษากลากเกลื้อน ช่วยรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
- สรรพคุณจากราก ช่วยกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้น แก้โรคหัวใจบวมน้ำ แก้ท้องเสีย ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยแก้ตับอักเสบ ช่วยต้านเชื้อ แก้ปากเป็นแผล เป็นยาภายนอก แก้แผลไฟไหม้ แก้น้ำร้อนลวก แก้แผลเปื่อย แก้โรคผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน
- สรรพคุณจากกิ่งและใบ เป็นยาแก้หืด รักษาอาการเป็นพิษของยาอันตรายที่เป็นอัลคาลอยด์ เป็นน้ำยาสมานของกรดแทนนิน ใส่แผลไหม้พอง
- สรรพคุณจากกิ่ง เป็นยาสมานแผล
- สรรพคุณจากเมล็ดและน้ำมัน เป็นยาภายนอก แก้แผลไฟไหม้ แก้น้ำร้อนลวก แก้แผลเปื่อย แก้โรคผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน
- สรรพคุณจากกากใบ เป็นยาพอกแผล แก้แผลที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก
ประโยชน์ของชา
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนมีรสฝาด นำมายำกินได้ ใบอ่อนนำมาปรุงแต่งอาหาร นำมาอบกลิ่นเป็นใบชาส่งขายได้
2. เป็นยาสระผม กากเมล็ดนำมาใช้สระผม น้ำมันที่ติดกากช่วยทำให้เส้นผมชุ่มชื้น เป็นมัน
3. เป็นสารให้ความหอม กากชาช่วยดูดกลิ่น
4. เป็นพืชเศรษฐกิจ คนเมืองนำใบอ่อนหมักเป็นเมี่ยงขาย ยอดอ่อนเก็บเป็นผลผลิตขาย ส่งขายต่างประเทศ
ชา เป็นพืชที่คนทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี ขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องดื่มสุขภาพที่คนมีอายุชอบทานกันเป็นประจำ ทว่าในปัจจุบันมีการนำชามาแปรรูปได้หลากหลาย จนบางทีการแปรรูปนั้นได้มีการผสมหลายอย่าง อาจทำให้บางผลิตภัณฑ์นั้นไม่ได้มีประโยชน์อย่างแท้จริง การดื่มชาที่ดีคือ การชงจากใบชาด้วยน้ำร้อน จึงจะดีต่อสุขภาพมากที่สุด ชามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาสมานแผล แก้โรคหัวใจ ดีต่อระบบหัวใจและการไหลเวียนของโลหิตในร่างกาย
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ชา”. หน้า 262-264.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ชา”. หน้า 200.
หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ชา” หน้า 81-82.
Mae Fah Luang University. “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับชา ตอนที่ 1: สายพันธุ์ชา”. เข้าถึงได้จาก: www.mfu.ac.th. [11 ส.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Tea plant”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [11 ส.ค. 2014].
ผู้จัดการออนไลน์. “รู้ลึกรู้จริงเรื่องชา กูรูระดับโลกบินมาแนะวิธีชงดื่มสไตล์อังกฤษแท้ ๆ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [11 ส.ค. 2014].
ศูนย์วิทยบริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. “เคล็ด(ไม่)ลับ เลือกดื่มชาเพื่อสุขภาพ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: elib.fda.moph.go.th. [11 ส.ค. 2014].
ข่าวสด คอมลัมน์ : เก็บเรื่องมาเล่า. (ชนา ชลาสัย).
ผู้จัดการออนไลน์. (เอมอร คชเสนี). “ดื่มชาทั้งที ต้องให้มีประโยชน์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [12 ส.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/