ขมิ้นอ้อย แก้ประจำเดือน รักษาซีสต์ในรังไข่ แถมช่วยให้ผิวสวย สาว ๆ ห้ามพลาด

0
1467
ขมิ้นอ้อย
ขมิ้นอ้อย แก้ประจำเดือน รักษาซีสต์ในรังไข่ ช่วยให้ผิวสวย เป็นพืชในวงศ์ขิง มีรสเผ็ดขม เป็นเครื่องเทศเพื่อประกอบในอาหาร

ขมิ้นอ้อย

ขมิ้นอ้อย

ขมิ้นอ้อย หรือเรียกอีกอย่างว่า “ว่านเหลือง” เป็นพืชในวงศ์ขิงที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ซึ่งมีรสเผ็ดขม เป็นยาสุขุมที่ดีต่อระบบภายในร่างกาย ในตำรายาไทยจะใช้เหง้าขมิ้นอ้อยเป็นยาแก้ไข้ นอกจากนั้นยังมีน้ำมันหอมระเหยที่ใช้เป็นยานวดประคบได้ และยังนำมาใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อประกอบในอาหาร ที่สำคัญเหง้ายังเป็นส่วนสำคัญในการบำรุงผิวพรรณให้สวยงามอีกด้วย เพราะฉะนั้นสาว ๆ อย่าพลาดเด็ดขาด

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของขมิ้นอ้อย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Zedoary” “Luya – Luyahan”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ว่านเหลือง” ภาคเหนือเรียกว่า “ขมิ้นขึ้น” ชาวละว้าเรียกว่า “สากเบือ” เขมรเรียกว่า “ละเมียด” จีนกลางเรียกว่า “ว่านขมิ้นอ้อย ขมิ้นเจดีย์ หมิ้นหัวขึ้น สากกะเบือ เผิงเอ๋อซู๋”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

ลักษณะของขมิ้นอ้อย

ขมิ้นอ้อย เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปีที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน
เหง้า : เหง้าจะโผล่ขึ้นมาเหนือดินเล็กน้อย เหมือนเจดีย์ทรงกลมหลายชั้น เป็นรูปกลมวงรี ที่ผิวด้านนอกเป็นสีขาวอมเหลือง เนื้อในเป็นสีเหลืองอ่อน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกันรอบลำต้น เป็นรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแคบ ผิวใบนูน ท้องใบมีขนนิ่มเล็กน้อย ก้านใบเป็นกาบหุ้มกับลำต้น กลางก้านเป็นร่องลึกตลอดความยาว หน้าแล้งกาบใบจะแห้งลงหัวแล้วเหง้าจะโผล่ขึ้นมาแทน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ ก้านดอกยาวและพุ่งมาจากเหง้าใต้ดิน ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก เป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน กลีบดอกลักษณะกลมเป็นรูปไข่สีเขียว ตรงปลายช่อดอกเป็นสีชมพูหรือสีแดงอ่อน ส่วนดอกสีเหลืองจะบานจากล่างขึ้นบน
ผล : เป็นรูปไข่ มีกลิ่นฉุนน้อยกว่าผลของขมิ้นชัน

สรรพคุณของขมิ้นอ้อย

  • สรรพคุณจากเหง้า ออกฤทธิ์ต่อตับและม้าม ช่วยกระจายโลหิต รักษาอาการเลือดคั่ง แก้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก แก้เส้นเลือดในท้องอุดตัน ช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ แก้พิษโลหิต ชำระโลหิต ช่วยลดความดันโลหิต เป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยแก้อาการหืดหอบหายใจไม่เป็นปกติ เป็นยาแก้ไข้ ช่วยแก้ไข้ทั้งปวง ช่วยแก้อาเจียน ช่วยแก้เสมหะ เป็นยาแก้ลม กระตุ้นกระเพาะและลำไส้ให้เกิดการบีบตัว ช่วยในการขับลม ช่วยแก้อาการจุกเสียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยในการย่อยอาหาร แก้อาการปวดท้อง แก้อาการปวดลำไส้ ช่วยสมานลำไส้ เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยแก้หนองใน ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติของสตรี ช่วยแก้ระดูขาวของสตรี เป็นยาขับน้ำคาวปลาหลังการคลอดบุตรของสตรี ช่วยรักษาซีสต์ในรังไข่ของสตรี ช่วยแก้อาการตับและม้ามโต เป็นยาสมานแผล เป็นยาภายนอก ช่วยรักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ ฆ่าเชื้อรา ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แก้กลากเกลื้อน แก้ผิวหนังอักเสบ ช่วยแก้อาการครั่นเนื้อครั่นตัว แก้อาการปวดเมื่อย แก้เจ็บตามร่างกาย เป็นยารักษาโรคมะเร็ง รักษาโรคมะเร็งปากมดลูก รักษามะเร็งในรังไข่ แก้มะเร็งตับ รักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง รักษามะเร็งปอด แก้เนื้องอกธรรมดาของกล้ามเนื้อมดลูก รักษาอาการนอนไม่หลับ
    – เป็นยาหยอดตา แก้อาการตาแดง แก้ตามัว แก้ตาแฉะ แก้ตาพิการ ด้วยการนำเหง้าสดมาตำผสมกับการบูรเล็กน้อย แล้วนำมาดองกับน้ำฝนกลางหาว รินเอาแต่น้ำมาใช้
    – รักษาอาการหวัด ด้วยการนำหัวขมิ้นอ้อย อบเชยเทศ พริกหาง มาต้มแล้วเติมน้ำผึ้งใช้ทาน
    – รักษาอาการท้องร่วง ด้วยการนำเหง้าสด 2 แว่น มาบดผสมกับน้ำปูนใส ใช้ดื่มเป็นยา
    – แก้โรคกระเพาะ ด้วยการนำเหง้ามาหั่นเป็นแว่น แล้วต้มกับน้ำดื่ม
    – ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการนำเหง้า พริกไทยล่อน เปลือกยางแดง มาผสมทำเป็นยาผง แล้วนำไปละลายในน้ำยางใส ปั้นเป็นยาลูกกลอนใช้กินเช้าเย็น
    – ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี ด้วยการนำเหง้า 12 กรัม ขมิ้นชัน 10 กรัม คำฝอย 6 กรัม ฝางเสน 8 กรัม เม็ดลูกท้อ 8 กรัม หง่วงโอ้ว 8 กรัม โกฐเชียง 10 กรัม มาต้มกับน้ำหรือดองกับเหง้าทาน
    – แก้หัดหลบใน ด้วยการนำเหง้า 5 แว่น ต้นต่อไส้ 1 กำมือ มาต้มรวมกับน้ำปูนใส แล้วใช้ดื่มเป็นยาก่อนอาหารเช้าเย็น ครั้งละ 1 ถ้วยชา
    – ช่วยทำให้แผลหายเร็ว บรรเทาอาการฟกช้ำบวม ด้วยการนำเหง้ามาหุงกับน้ำมันมะพร้าว แล้วใส่แผล
    – เป็นยารักษาฝี แก้ฝีหนองบวม ด้วยการนำเหง้า ต้นและเมล็ดของเหงือกปลาหมอ อย่างละเท่ากันมาตำรวมกันจนละเอียด ใช้พอกเช้าเย็น
    – ช่วยแก้ฝีในมดลูกของสตรี ด้วยการนำเหง้า 3 ท่อน บอระเพ็ด 3 ท่อน ลูกขี้กาแดง 1 ลูกมาผ่าเป็น 4 ซีก แล้วใช้ 3 ซีก ต้มรวมกับสุราใช้กินเป็นยา
    – ช่วยแก้เสี้ยน แก้ถูกหนามตำ ด้วยการนำเหง้า 5 แว่น ดอกชบา 5 ดอก ข้าวเหนียวสุก 1 กำมือ มาตำแล้วใช้พอก
    – รักษาอาการปวด แก้ปวดบวม แก้บวม แก้ฟกช้ำ แก้ช้ำใน แก้อักเสบ แก้อาการเคล็ดขัดยอก แก้ข้อเคล็ดอักเสบ บรรเทาอาการปวด ด้วยการนำเหง้าสดมาตำละเอียดแล้วพอก
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยแก้ฟกช้ำบวม
    – แก้ท้องมาน โดยขับออกทางปัสสาวะ ด้วยการนำใบมาคั้น
  • สรรพคุณจากน้ำมันหอมระเหย ฆ่าเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝีหนองที่แผล เชื้อที่ทำให้เจ็บคอ เชื้อที่ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ

ประโยชน์ของขมิ้นอ้อย

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เหง้าเป็นเครื่องเทศเพื่อใช้ทำอาหารได้ นำมาใช้ในการแต่งสีเหลืองให้กับอาหาร ทำแป้งโชติซึ่งเป็นแป้งที่เหมาะสำหรับทารก ชาวอินโดนีเซียนำยอดอ่อนมาทานเป็นผัก
2. ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า ใช้ในการย้อมสีผ้าให้เป็นสีเหลือง
3. เป็นสารให้ความหอม ชาวอินเดียนำเหง้าทำเป็นเครื่องหอม ใช้เคี้ยวเพื่อดับกลิ่นปาก
4. บำรุงผิว ช่วยบำรุงผิวพรรณให้สวยงาม เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางสมุนไพรที่นำมาใช้มาการขัดหน้า ขัดผิว ช่วยแก้สิว แก้ฝ้า ลบเลือนจุดด่างดำ แก้โรคผดผื่นคันได้

ขมิ้นอ้อย สรรพคุณมากประโยชน์ที่นำมาใช้ได้หลากหลาย แถมยังนำมาใช้ประกอบอาหารได้ด้วย ถือเป็นพืชที่เหมาะกับสตรีเป็นอย่างมาก เรียกว่ากินหรือทาแค่ขมิ้นอ้อย ก็ช่วยอวัยวะเฉพาะผู้หญิงได้เกือบครบ แถมยังช่วยเพิ่มความสวยให้ผิวอีกด้วย ขมิ้นอ้อยมีสรรพคุณทางยาได้จากส่วนของเหง้า มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยลดความดันโลหิต เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ไข้ ขับลม รักษาโรคมะเร็ง แก้อาการนอนไม่หลับและอื่น ๆ อีกมากมายจนนับไม่ถ้วน

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ขมิ้นอ้อย”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 90-91.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “ขมิ้นอ้อย Zedoary”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 95.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ขมิ้นอ้อย”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 118.
ว่านและสมุนไพรไทย, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. “ขมิ้นอ้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.skc.rmuti.ac.th/WAN/. [09 ก.พ. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Zedoary”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสรและคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [09 ก.พ. 2014].
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “ขมิ้นชันและขมิ้นอ้อย”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [09 ก.พ. 2014].
สำนักงานเกษตรอำเภอหนองหิน, ตำบลหนองหิน อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย. “ขมิ้นอ้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: nonghin.loei.doae.go.th. [09 ก.พ. 2014].
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์สงบระงับของสมุนไพรไทยขมิ้นอ้อย”. (พัฒนชัย เสถียรโชควิศาล,สัจจา ศุภพันธ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [09 ก.พ. 2014].
ไทยรัฐออนไลน์. “ขมิ้นอ้อยกับสรรพคุณน่ารู้”. (นายเกษตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [09 ก.พ. 2014].
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ขมิ้นอ้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org. [09 ก.พ. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com