โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid Cancer)
โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ เกิดขึ้นบริเวณต่อมไทรอยด์ สามารถเกิดได้ทุกเซลล์ของต่อมไทรอยด์ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่เซลล์ของเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์

มะเร็งต่อมไทรอยด์

มะเร็งต่อมไทรอยด์ ( Thyroid Cancer ) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณต่อมไทรอยด์ ซึ่งต่อมไทรอยด์จะมีลักษณะเป็นท่อขนาดใหญ่ อยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอ ใกล้ๆ กับลูกกระเดือก แบ่งออกเป็นสองกลีบซ้ายขวา โดยต่อมไทรอยด์จะมีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนโดยเฉพาะเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ และควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนที่มีความสำคัญที่ได้ก็คือ ไทรอยด์ฮอร์โมนนั่นเอง

โดยการเกิดมะเร็งไทรอยด์สามารถเกิดได้ทุกเซลล์ของต่อมไทรอยด์ ซึ่งต่อมไทรอยด์ก็มีเซลล์หลายชนิดด้วยกัน เช่น เซลล์ต่อมน้ำเหลือง เซลล์เนื้อเยื่อไทรอยด์ เซลล์สร้างฮอร์โมนและเซลล์ของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้วโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มักจะเกิดขึ้นที่เซลล์ของเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์เองมากกว่า

สาเหตุของมะเร็งต่อมไทรอยด์

ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้เกิด มะเร็งต่อมไทรอยด์ แต่คาดว่าน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน จึงก่อให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา

ฮอร์โมนเพศเกิดความผิดปกติ ซึ่งก็ส่งผลให้เซลล์กลายพันธุ์เป็นมะเร็ง โดยส่วนมากจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จากการสำรวจพบว่าคนเอเชียจะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มากกว่าคนเชื้อชาติอื่นๆ

พันธุกรรมบางชนิดเกิดความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรมชนิดที่ถ่ายทอดได้หรือชนิดที่ไม่สามารถถ่ายทอดได้
มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งหรือโรคต่างๆเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์มาก่อน โดยเฉพาะ พ่อ แม่
ได้รับรังสีบางชนิดมากเกินไป เช่น รังสีจากการรั่วไหลของโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ทำให้รังสีเหล่านี้เข้าไปทำลายเซลล์เนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

โดยจากสถิติพบว่ามะเร็งต่อมไทรอยด์ติดอันดับต้นๆ ใน 10 อันดับแรกของโรคมะเร็งที่พบในผู้หญิงไทยเลยทีเดียวและพบได้ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยสูงอายุอีกด้วย แต่จะพบในผู้หญิง มากกว่าผู้ชายถึง 3-4 เท่า จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้หญิงต้องระมัดระวังการป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มากที่สุดโดยสำหรับชนิดของมะเร็งต่อมไทรอยด์ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลักๆ คือ ชนิดจับกินแร่รังสีไอโอดีน และชนิดรุนแรงสูงไม่จับกินแร่รังสีไอโอดีน

อาการของมะเร็งต่อมไทรอยด์

มะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นโรคร้ายที่ไม่มีอาการเฉพาะของโรค แต่จะมีอาการที่สามารถสังเกตได้ โดยจะคล้ายกับอาการของโรคคอพอกหรือโรคต่อมไทรอยด์อักเสบ ซึ่งอาการที่มักจะพบบ่อยที่สุด ได้แก่ คลำเจอก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์โต โดยอาจมีอาการเจ็บร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ หากเป็นระยะที่มะเร็งได้ลุกลามไปมากแล้ว จะพบว่าเสียงแหบ เนื่องจากมะเร็งได้ลุกลามเข้าสู่เส้นประสาทสายเสียงนั่นเอง ในบางคนอาจมีอาการกลืนติดขัดได้ เนื่องจากก้อนเนื้อมีขนาดโตจนไปเบียดกับหลอดอาหาร ทำให้กลืนอาหารได้ลำบาก คลำเจอต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโตผิดปกติ โดยอาจพบข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้

ระยะมะเร็งต่อมไทรอยด์

การวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์แพทย์จะทำการสอบถามประวัติอาการของผู้ป่วย พร้อมกับตรวจร่างกาย ตรวจด้วยการคลำหาต่อมไทรอยด์ และทำการดูดเอาเซลล์จากก้อนเนื้อของต่อมไทรอยด์ออกมาตรวจทางเซลล์วิทยาเพื่อความแน่นอนในการตรวจสอบมากขึ้น และยังสามารถตรวจหาระยะของอาการป่วยได้อีกด้วย โดยระยะโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม เนื่องจากแต่ละกลุ่มจะมีระยะอาการของโรคที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 : ผู้ป่วยมะเร็งที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี โดยระยะของมะเร็งจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะที่โรคมะเร็งยังไม่มีการแพร่กระจาย
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มะเร็งได้แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว และอาจแพร่เข้าสู่ปอด สมองและกระดูกอีกด้วย

กลุ่มที่ 2 : ผู้ป่วยมะเร็งที่มีอายุมากกว่า 45 ปี โดยจะแบ่งระยะของมะเร็งได้เป็น 4 ระยะคือ

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก ไม่เกิน 2 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นจาก 2 เซนติเมตรและยังไม่เกิน 4 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 3 เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งมีขนาดที่ใหญ่กว่า 4 เซนติเมตรและเริ่มลุกลามเข้าสู่เนื้อเยื่อใกล้เคียง โดยเฉพาะต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้กับต่อมไทรอยด์
  • ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งมีความรุนแรงมากที่สุด โดยระยะนี้มะเร็งได้ลุกลามเข้าสู่เนื้อเยื่อและอวัยวะข้างเคียง ซึ่งก็ได้มีการลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ ที่ไกลออกไปผ่านการแพร่เข้าสู่กระแสเลือดนั่นเอง

กลุ่มที่ 3 : กลุ่มคนที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดรุนแรงสูงแบบไม่จับกินแร่รังสีไอโอดีน โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่มีระยะของโรค ซึ่งความรุนแรงจะอยู่ในระยะที่ 4 ทันที และมีโอกาสรักษาให้หายขาดต่ำมาก

การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์

สำหรับวิธีการรักษาเมื่อป่วยด้วยมะเร็งต่อมไทรอยด์แพทย์จะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเพื่อดูระยะการลุกลามและชนิดของมะเร็งก่อน จากนั้นจึงประเมินวิธีที่จะนำมาใช้เพื่อการรักษาในลำดับต่อไป โดยอาจใช้วิธีการฉายรังสีรักษาหรือการรับแร่รังสีไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดไม่จับกินแร่รังสี แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้วิธีการรักษา 3 วิธีด้วยกัน คือ การใช้รังสีรักษา การผ่าตัดและการใช้เคมีบำบัด เป็นต้น

นอกจากนี้สำหรับผู้ที่รักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ทั้งสองกลีบพร้อมกับรับรังสีไอโอดีนในการรักษาไปด้วย ผู้ป่วยจะต้องกินยาไทรอยด์ฮอร์โมนอย่างต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต ถึงแม้ว่าจะหายจากอาการป่วยแล้วก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อชดเชยไทรอยด์ฮอร์โมนที่ได้สูญเสียไปจากการรักษานั่นเอง อีกทั้งการกินยาไทรอยด์ฮอร์โมนก็จะช่วยป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ซ้ำอีกด้วย

สำหรับโอกาสในการรักษาให้หายขาดจากโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ กรณีที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปีและป่วยด้วยมะเร็งชนิดเซลล์จับกินแร่รังสีไอโอดีน จะมีโอกาสรักษาหายได้สูงมากถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์

ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งชนิดเซลล์มะเร็งไม่จับกินแร่รังสีไอโอดีน จะมีอัตราการอยู่รอดต่ำมาก เนื่องจากเป็นชนิดของมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง โดยพบว่าหากผู้ป่วยไม่สามารถทำการรักษาด้วยการผ่าตัดได้หรือไม่ตอบสนองต่อการทำเคมีบำบัดและรังสีรักษา ก็จะมีอัตราการรอดอยู่ที่ประมาณ 3-6 เดือนเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดและมีการตอบสนองต่อการทำเคมีบำบัดและรักษารักษา ก็จะมีอัตราการอยู่รอดที่ 1-2 ปี

โดยมะเร็งต่อมไทรอยด์ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองหรือวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองทันทีที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะเมื่อมีอาการเสียงแหบ กลืนลำบากพร้อมกับคลำเจอก้อนเนื้อบริเวณลำคอ และที่สำคัญพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ เท่านี้ก็จะช่วยป้องกันการป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ในระดับหนึ่ง

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

WHO (October 2010). Cancer. World Health Organization. Retrieved 5 January 2011.

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์. รู้ก่อนเข้าใจการตรวจรักษามะเร็ง.กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2557.

Cancer risk. British Journal of Cancer. 2010.