ข้อเข่าเสื่อม โรคใกล้ตัว อันตรายที่ควรป้องกัน

0
1764
โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาทางด้านสุขภาพที่สามารถพบได้ในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากการใช้งานเข่าสะสมมาเป็นเวลานาน แต่โรคนี้ไม่ได้เกิดเพียงกับผู้สูงอายุเท่านั้น แม้แต่ในกลุ่มผู้อายุน้อยเอง สามารถเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น น้ำหนักตัวที่มากเกินเกณฑ์ การใช้ข้อเข่าผิดธรรมชาติหรือรุนแรง อุบัติเหตุ การไม่ถนอมการใช้งาน จนทำให้ข้อเข่าเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติที่ควรเป็น ในบทความนี้จะพาเพื่อนๆ มารู้จักกับโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น เพื่อรับการป้องกัน การดูแลและการรักษาอย่างถูกวิธี


ข้อเข่าเสื่อม 

อาการข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นอาการของโรคข้ออักเสบของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่า สาเหตุเกิดจากการใช้งานข้อเข่าอย่างหนักเป็นเวลานาน จนเกิดความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ เมื่อกระดูกอ่อนที่ควรห่อหุ้มเข่าบางลงหรือไม่มี กระดูกจึงเกิดการชนกันอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการปวดหรือบาดเจ็บ อีกทั้งเข่ายังเป็นส่วนที่มีการใช้งานหนัก รองรับน้ำหนักของร่างกายโดยตรง ทำให้กระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่าเสื่อมเกิดการสึกหรอจากการเสียดสีเป็นเวลานาน ฉีกขาด และเสื่อมสภาพลง รวมถึงปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น การออกกำลังกาย หรือการกระทำอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อข้อเข่า เช่น การนั่งยอง เมื่อกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าเสื่อมมีอาการสึกหรอมากขึ้น จึงทำให้เกิดอาการปวดเข่าและการอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเวลาขยับเข่า อีกทั้งยังทำให้มีอาการติดแข็ง งอเข่า-เหยียดได้ไม่สุด ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน


ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม 

โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการสะสมของการใช้ข้อเข่าเป็นระยะเวลานาน จนทำให้กระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่าเสื่อมสภาพและมีอาการรุนแรงมากขึ้นตามเวลา ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อโรคข้อเข่าเสื่อม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. การเสื่อมแบบปฐมภูมิ คือการเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นการเสื่อมของกระดูกอ่อนตามวัย ส่วนใหญ่พบในคนที่มีอายุเฉลี่ย 40-50 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงมากกว่าเพญชาย 2-3 เท่า เนื่องจากฮอร์โมนภายในเพศหญิงเกี่ยวกับการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ หรือปัจจัยอื่นร่วม เช่น น้ำหนักที่เกินมาตรฐาน การเคลื่อนไหวท่าทางที่ส่งผลกระทบแรงกดต่อข้อเข่า เช่น การนั่งยอง การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ หรือความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อที่เกิดจากกรรมพันธุ์
  2. การเสื่อมแบบทุติยภูมิ คือการเสื่อมโทรมของสภาพผิวข้อเข่าที่ทราบสาเหตุ เป็นการเสื่อมจากผลกระทบอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุ อาการบาดเจ็บเรื้อรัง กีฬา การทำงาน โรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเกาต์ โรคต่อมไร้ท่อ ข้ออักเสบ กระดูกหัวเข่าแตก หรือมีอาการติดเชื้อ

ระดับความรุนแรงโรคข้อเข่าเสื่อม

1. ระยะแรก

  • ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดบริเวณเข่า เจ็บข้อเข่าหากเคลื่อนไหวในท่าทางที่ส่งผลกระทบต่อข้อเข่า เช่น การนั่งยอง การขัดสมาธิ การพับเพียบ การเดินหรือวิ่งเป็นระยะเวลานาน การเดินขึ้น-ลงบันได
  • ขยับข้อเข่าไม่สะดวกหลังจากตื่นนอน หรืองอเข่าได้ไม่สุด
  • อาการปวดอยู่เพียงไม่นานและสามารถหายได้เมื่ออยู่ในท่าทางที่ไม่ส่งผลกระทบต่อข้อเข่า

2. ระยะปานกลาง

  • มีเสียงดังกรอบแกรบในบริเวณข้อเข่าเสื่อมเมื่อทำการเคลื่อนไหว รู้สึกถึงการเสียดสีของกระดูก
  • งอเข่าไม่สะดวก ทำให้ลุก-นั่งได้ลำบาก
  • เมื่อใช้มือกดลงแรงแล้วมีอาการเจ็บ หรือบริเวณข้อเข่าเสื่อมมีอาการบวม
  • เมื่อสัมผัสจะรู้สึกว่าบริเวณเข่าอุ่น 
  • ต้องใช้ยาแก้ปวดในการดำเนินชีวิตประจำวัน

3. ระยะรุนแรง

  • มีอาการปวดรุนแรงมากขึ้นแม้จะไม่ได้ทำการเคลื่อนไหวที่ส่งผลกระทบต่อเข่าหรือมีอาการปวดอยู่ตลอดเวลา
  • หากสัมผัสบริเวณข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการบวม หรือมีกระดูกบางส่วนงอผิดปกติ
  • เหยียดหรืองอเข่าได้ไม่สุด
  • มีการตรวจพบน้ำในช่องข้อ ข้อเข่าบิดเบี้ยวผิดรูป
  • ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก 

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

ผู้เสี่ยงข้อเข่าเสื่อม

  • ผู้สูงอายุ มีโอกาสเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป โดยผู้หญิงมีโอกาสเกิดมากกว่าผู้ชายเนื่องจากฮอร์โมนทางเพศ มวลกระดูก และกล้ามเนื้อ
  • ผู้อายุน้อย เช่น ผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรืออุบัติเหตุ ผู้มีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ส่งผลต่อเข่าที่รับน้ำหนักมากขึ้น ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อไขข้อ

การตรวจอาการข้อเข่าเสื่อม

แพทย์ต้องทำการประเมินเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยขั้นต้น เพื่อวิเคราะห์และวินิจฉัยโรค โดยมีแนวทางการรักษาดังนี้

  • ทำการตรวจพื้นฐานและทำแบบประเมิน เพื่อประเมินเบื้องต้น
  • ตรวจโดยการเอกซเรย์ช่องว่างระหว่างกระดูกบริเวณข้อเข่าเสื่อม หาจุดที่มีแนวโน้มว่าเกิดการเสียดสีของปุ่มกระดูกหรือหาบริเวณที่มีกระดูกงอก หรือการทำ MRI เพิ่มเพื่อความชัดเจนของภาพ ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณข้อเข่า
  • การเจาะเลือด เพื่อหาโรคที่เกี่ยวข้อง
  • แพทย์รับผลและประเมินความรุนแรงของอาการข้อเข่าเสื่อมเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม

วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมเบื้องต้น

วิธีรักษาข้อเข่าเสื่อม

1. การรักษาที่ไม่ใช้ยา

การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต เพื่อลดหรือบรรเทาอาการและความเสี่ยงที่จะปวดข้อเข่าเสื่อม เช่น การลดน้ำหนัก การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กายบริหาร การใช้งานเข่าอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการนั่งคุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ การยกของหนัก การเดินขึ้น-ลงบันได

2. การกายภาพบำบัด

การฟื้นฟูบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าเพื่อลดหรือบรรเทาอาการปวดบริเวณข้อเข่าเสื่อม การใช้ความร้อน การทำอัลตราซาวด์ การใช้เลเซอร์ การใช้เฝือก

3. การใช้ยา

แบบยารับประทานหรือแบบฉีดตามที่ผู้ป่วยสะดวก เพื่อบรรเทาอาการปวดและอาการข้อเข่าเสื่อม ช่วยลดการอักเสบและอาการปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาที่ไม่ใช้สารสเตียรอยด์ ยาพยุงหรือลดความเสื่อม หากเป็นยาที่มีสารสเตียรอยด์ แม้จะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ แต่ไม่ควรฉีดเป็นประจำ โดยยาแต่ละตัวเป็นยาที่ต้องได้รับการดูแลและสั่งจ่ายภายใต้คำปรึกษาของแพทย์


วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัด

1. ผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง

การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมรูปแบบใหม่จะใช้กล้องวิดิโอขนาดเล็กสอดเข้าไปในบริเวณข้อเข่า เพื่อให้เห็นส่วนต่างๆ ภายในข้อเข่าได้อย่างชัดเจน ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาหมอนรองข้อเข่าขาด เอ็นข้อเข่าขาด กระดูกอ่อนแตก ข้อเข่าล็อค ซึ่งมีการผ่าตัดหลายวิธี

  • การผ่าตัดเพื่อให้ผิวข้อเข่าเข้ามาชิดกัน
  • การาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อม
  • การตัดเปลี่ยนแนวกระดูก

2. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะช่วยลดอาการปวดของข้อเข่า ทำให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกมากขึ้นด้วยข้อเข่าเทียมที่มาทดแทน ในปัจจุบันสามารถทำได้ 2 วิธีคือ 

  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อมทั้งหมด
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อมบางส่วน 

การป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม

  • หลีกเลี่ยงการกระทำท่าทางที่ส่งผลกระทบต่อข้อเข่าเสื่อม เช่น การนั่งพับเพียบ คุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งยอง หรือการเล่นกีฬาที่ส่งผลให้ข้อเข่าทำงานหนัก
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  • การควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากน้ำหนักตัวจะส่งผลต่อแรงที่กระทำต่อข้อเข่า เซลล์ไขมันส่งผลกระทบต่อเซลล์กระดูก
  • ไม่ใช้หมอนรองใต้เข่าเวลานอน ขัดขวางการไหลเวียนของเลือด
  • จัดการสภาพแวดล้อมไม่ให้มีสิ่งกีดขวางทางเดิน หากต้องเดินขึ้น-ลงบันไดให้จับราวบันได ใช้วัสดุกันลื่น

ข้อสรุป

โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นอาการของโรคข้ออักเสบที่ไม่ได้พบบ่อย ส่วนใหญ่พบในเพียงกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้นแต่ปัจจุบันในกลุ่มผู้อายุน้อยเองก็มีการพบผู้ป่วยที่มีอาการนี้มากขึ้น เนื่องจากการใช้งานข้อเข่าที่มากเกินไป การยกของหนัก น้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น การออกกำลังกายผิดสุขลักษณะ การรับประทานอาหารไม่ตรงตามโภชนาการ อุบัติเหตุ และสาเหตุอื่นๆ ประกอบ

เนื่องจากข้อเข่าเป็นอวัยวะที่รับน้ำหนักจากร่างกายทั้งหมด จึงเป็นส่วนสำคัญที่ควรให้ความใส่ใจและดูแล เมื่อเกิดอาการผิดปกติ เช่น ปวดบริเวณเข่า หรือเจ็บขณะเคลื่อนไหว มีเสียงดังกรอบแกรบ งอเข่าไม่สะดวก ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วิเคราะห์และทำการรักษาเบื้องต้น เพื่อไม่ให้อาการบาดเจ็บรุนแรงมากกว่านี้ โดยสามารถสอบถามเพิ่มเติมหรือเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์โรงพยาบาลสมิติเวช ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-118-7893 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือผ่านทางไลน์โรงพยาบาล @samitivejchinatown