การเห็นภาพหลอนในอาการผู้ป่วยสมองเสื่อม
ภาพหลอน เป็นอาการทางประสาทที่ทำให้เห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น รับรู้รสชาติ หรือเกิดความรู้สึก ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

ภาพหลอน

นิยามของการเห็น ภาพหลอน ( Visual hallucination ) คือ การรับรู้ถึงวัตถุหรือเหตุการณ์ของผู้ป่วยทั้งๆ ที่ไม่ได้มีวัตถุหรือเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น การเห็นบุคคลในขณะที่คนรอบข้างไม่ได้เห็นบุคคลนั้นด้วย การเห็นว่ามีสิ่งมีชีวิตที่แปลกปะหลาดอยู่ใกล้ๆ การเห็นสิ่งของมีรูปร่างผิดแปลกไปหรือเคลื่อนไหวได้ เป็นต้น ผู้ป่วยที่เห็นภาพหลอนเกิดจากความผิดปกติของการรับรู้ ซึ่งควรได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ การเห็นภาพหลอนไม่ใช่อาการป่วยที่รุนแรงและไม่ใช่สาเหตุเบื้องต้นของการป่วยทางจิตแต่อย่างใด

การเห็นภาพหลอนมีสาเหตุมาจากความผิดปกติหลายๆ อย่างรวมกันซึ่งมีการศึกษาและสรุปโดย Asaad และ Shapiro ออกมาได้เป็น 3 หัวข้อหลักๆ คือ ความผิดปกติที่มาจากโครงสร้างของสมองถูกรบกวน, ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง และการมีสภาพไม่รู้สึกตัว ( Unconscious ) ในขณะที่ยังอยู่ในสภาพรู้สึกตัว ( Consciousness ) ซึ่งความผิดปกติทั้ง 3 สิ่งนี้มักจะเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน

ถ้ากลไกการเห็นภาพหลอนนั้นเป็นผลมาจากความผิดปกติของสมอง ก็มักจะเป็นภาวะที่สมองมีพยาธิสภาพบริเวณสมองกลีบหน้า สมองกลีบขมับ ก้านสมองตลอดจนส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับระบบการมองเห็นทั้งหมด ที่น่าสนใจคือไม่ใช่แค่คนที่มองเห็นได้เท่านั้นถึงจะเห็นภาพหลอน ในผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็นหรือที่เราเรียกว่าคนตาบอด ก็เป็นอีกกลุ่มที่สามารถเห็นภาพหลอนได้เช่นเดียวกัน กรณีนี้จะพบได้มากกับคนที่ไม่ได้บกพร่องทางการมองเห็นมาตั้งแต่เกิด เดิมทีมีการมองเห็นเป็นปกติแล้วมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นจึงกลายเป็นผู้บกพร่องทางการมองเห็นในภายหลัง เมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม สมองส่วนลิมบิค ( Limbic System ) ซึ่งเป็นกลุ่มของส่วนสมองตามแนวโค้งระหว่างทาลามัสกับซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ การเรียนรู้ และพฤติกรรมจะค่อยๆ ปล่อยความทรงจำเก่าๆ ออกมา ผู้ป่วยจึงมองเห็นภาพสดใสภายในความมืดมิดที่มีอยู่เดิม แน่นอนว่าอาการนี้ไม่ได้เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ทั้งยังมีข้อดีที่หลายครั้งช่วยให้ผู้ป่วยได้มีความสุขกับการได้เห็นบางสิ่งบางอย่างจากที่มองไม่เห็นมานานอีกด้วย

อาการอื่นๆ ที่มักเกิดขึ้นพร้อมกับการเห็นภาพหลอน

ความผิดปกติทางจิต ผู้ป่วยที่เป็นจิตเภท ( Schizophrenia ) ส่วนใหญ่พบว่าจะมีอาการเห็นภาพหลอนร่วมด้วย โดยมีรายงานว่าพบได้มากถึง 16-72% ในผู้ป่วยที่เป็นจิตเภท มีการศึกษาเพิ่มเติมว่าอาการภาพหลอนในผู้ป่วยที่เป็นจิตเภทมักจะมีความรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นจิตเภทเพราะมีปัจจัยทางจิตร่วมด้วย โดยการเห็นภาพหลอนของผู้ป่วยจิตเภทจะเกี่ยวข้องกับบุคคลในครอบครัว วัตถุที่เป็นความเชื่อทางศาสนาและสัตว์ การแสดงอาการของการเห็นภาพหลอนจะขึ้นอยู่กับสภาพเงื่อนไขของผู้ป่วยด้วย อย่างเช่น อยู่ในอาการกลัวมากๆ หรือปลาบปลื้มใจ การเห็นภาพหลอนของผู้ป่วยที่เป็นจิตเภทจัดเป็นภาพหลอนประเภทที่มีขนาดและสีสันปกติ

อาการเพ้อคลั่ง ( Delirium )

เป็นกลุ่มอาการโดยรวมของการถูกรบกวนการมีสติรู้ตัว หรือความบกพร่องในการตั้งใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งกลุ่มอาการนี้มีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย ได้แก่ การถูกรบกวนระบบเผาผลาญของผู้ป่วย ( metabolic disturbance ), การติดเชื้อ, ผลข้างเคียงจากการใช้ยา และความผิดปกติภายในสมอง ในกรณีผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรังที่ไม่ได้รับแอลกอฮอลล์ หรือผู้ที่ติดยาเสพย์ติด เช่น โคเคน แอมเฟตามีน มีรายงานว่าผู้ป่วยกลุ่มที่เกิดอาการเพ้อคลั่งส่วนหนึ่งจะเห็นภาพหลอนเป็นแมลงที่กำลังเคลื่อนที่เข้ามาหา ( พบมากในผู้ป่วยที่ติดโคเคน )

โรคสมองเสื่อม (Dementia) ผู้ป่วยที่มีอาการสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และ สมองเสื่อมชนิด DLB (Dementia with Lewy bodies) พบว่ามีรายงานการเห็นภาพหลอนอยู่ที่ประมาณ 20% ของผู้ป่วยที่มีอาการสมองเสื่อมทั้งหมด ตัวอย่างของการเห็นภาพหลอน ได้แก่ เห็นวัตถุเคลื่อนที่ทั้งๆ ที่วัตถุนั้นหยุดนิ่ง การเห็นเหตุการณ์ที่มีผู้คนหรือวัตถุหลายๆ ชิ้นทั้งที่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้มีอยู่หรือเกิดขึ้นจริง เห็นสิ่งเร้นลับในจินตนาการ เป็นต้น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันเองก็พบว่ามีอาการเห็นภาพหลอนมากกว่า 50% เลยทีเดียว

กลุ่มอาการ Charles Bonnet Syndrome ( CBS )

เป็นกลุ่มอาการที่มักพบร่วมกับการเห็นภาพหลอนที่เกิดจากความบกพร่องทางการมองเห็น เช่น จอประสาทตาเสื่อม ต้อกระจก ต้อหิน ความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง และเนื้องอกในสมอง ในผู้ที่มีอาการ Charles Bonnet Syndrome หรือ CBS นี้ เกือบทั้งหมดจะไม่เกี่ยวข้องกับอาการจิตเภทแต่อย่างใด ผู้ป่วยที่เป็นโรค CBS มักจะไม่ยอมเข้าพบแพทย์หรือแจ้งอาการเห็นภาพหลอนเนื่องจากกลัวจะเป็นการเข้าใจผิดว่าตนมีเข้าข่ายของคนโรคจิต การเห็นภาพหลอนในผู้ที่มีอาการ CBS มักจะเกี่ยวข้องกับผู้คน, ใบหน้า, สัตว์ และเครื่องใช้ประจำวัน ในส่วนการรักษาการเห็นภาพหลอนสำหรับผู้ป่วย CBS ที่ดีที่สุดคือการรักษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการบกพร่องทางการมองเห็น

อาการชัก ( Seizure )

สาเหตุของผู้ป่วยที่แสดงอาการชักคือ การทำงานของสมองส่วน Cerebral Hemisphere ที่ผิดปกติ โดยอาการชักมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความถี่ในการเกิด ผู้ป่วยที่มีอาการชักจำนวนไม่น้อยพบว่ามีอาการเห็นภาพหลอนร่วมด้วย ลักษณะของภาพหลอนจะมีขนาดเล็ก เป็นจุดสีสดใสและสว่างจ้า ถ้าเป็นวัตถุก็จะมีการบิดเบือนหรือมีการเปลี่ยนขนาดของวัตถุอย่างฉับพลันทันใด อาจเห็นภาพวัตถุเคลื่อนไหวได้โดยจะเคลื่อนไหวจากด้านริมเข้ามาสู่ด้านตรงกลางของคลองจักษุ อาการชักจะแยกกับอาการปวดหัวแบบไมเกรน ( Migraines ) และแพทย์จะต้องทำการวินิจฉัยแยกแยะให้ได้เสียก่อนว่าเป็นรูปแบบใดจึงจะทำการรักษาอาการเห็นภาพหลอนต่อไปได้

การปวดหัวแบบไมเกรน ( Migraines )

เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการทำงานของสมองในลักษณะที่ผิดแผกไปจากเดิม เน้นเจาะจงไปที่บริเวณก้านสมองหรือหลอดเลือดในสมอง ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวแบบไมเกรนจะปวดบริเวณขมับอาจจะด้านเดียวหรือสองด้านก็ได้ ซึ่งจะแตกต่างจากการปวดหัว คลื่นไส้ ในผู้ป่วยที่มีอาการชัก ( Seizure ) เคยมีการทดสอบสร้างภาพโดยกิจด้วยเรโซแนนท์แม่เหล็ก หรือ fMRI ในผู้ป่วยช่วงที่แสดงอาการไมเกรน พบว่ามีพฤติกรรมกดการทำงานของสมองส่วน Cortex ซึ่งมีผลข้างเคียงไปสู่การเห็นภาพหลอนได้เช่นกัน ลักษณะของภาพหลอนนี้จะเป็นแบบ เส้นยวบยาบ ไร้สีสัน และมีเส้นกรอบซิกแซก

การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ( Sleep Disturbances )

การเห็นภาพหลอนในลักษณะนี้จะเกิดในช่วงที่หลับไม่สนิทหรือเคลิ้มหลับเคลิ้มตื่น มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับเป็นมาเวลานาน หรือมีความผิดปกติทางด้านจิตใจอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ยังพบการเห็นภาพหลอนแบบเดียวกันในกลุ่มคนที่เป็นโรคไม่สามารถควบคุมการนอนหลับของตัวเองได้ ( narcolepsy )

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ( Drug Effects )

ยาบางชนิดจะมีการระบุไว้บนฉลากหรือคู่มือการใช้ ถึงผลข้างเคียงเกี่ยวกับอาการเห็นภาพหลอนได้ เช่น Mescaline, Psilocybin และ Lysergic acid diethylamide โดยยาเหล่านี้จะทำงานโดยการเสริมหน้าที่ของตัวรับ Serotonin 5-HT ในร่างกาย จึงทำให้เกิดอาการหลอนได้ง่ายกว่าปกติ นั่นหมายความว่ายาเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นยาควบคุม ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น และผู้ที่จะมีอาการเห็นภาพหลอนจากกรณีนี้ก็เป็นผู้ที่ใช้ยาเกินขนาดนั่นเอง

เนื้องอก ( Tumor )

มีรายงานการเห็นภาพหลอนในผู้ป่วยที่พบก้อนเนื้องอกกดทับประสาทส่วนของการมองเห็น การกดทับนี้ทำให้เกิดความผิดเพี้ยนในขั้นตอนของการส่งข้อมูลจึงเกิดเป็นภาพหลอนขึ้น ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกกดทับสมองกลุ่มนี้อาจจะเกี่ยวพันกับอาการชัก ( Seizure ) ร่วมด้วย

การวินิจฉัยโรคการเห็นภาพหลอนในอาการผู้ป่วยสมองเสื่อม

เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิดการมองเห็นภาพหลอนมีได้หลากหลายสาเหตุอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้นก่อนที่จะดำเนินการรักษาอาการเห็นภาพหลอนต่างๆ ทีมแพทย์จะต้องวินิจฉัยหารูปแบบของอาการหลอนที่แท้จริงให้ได้เสียก่อน เพราะต้นเหตุที่แตกต่างกันย่อมจะมีแนวทางในการรักษาที่ต่างไป เริ่มที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด สังเกตอาการและชนิดของภาพหลอนที่ผู้ป่วยเห็น เนื่องด้วยลักษณะของภาพหลอนเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่ทำให้เรารู้ได้ว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ไหนกันแน่ และทำการเชื่อมโยงสัญญาณหรือการแสดงอาการของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นจิตเภท, การบกพร่องในการสนใจ, ความผิดปกติทางการมองเห็น, อาการสมองเสื่อมแบบต่างๆ, อาการชัก ( Seizure ) หรือการปวดหัวแบบไมเกรน ก็จะทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยสาเหตุได้ใกล้เคียงกับสาเหตุของการเกิดภาพหลอนมากยิ่งขึ้น

เครื่องมือที่นำมาวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ การบันทึกคลื่นไฟฟ้าในสมอง ( Electroencephalography หรือ EEG ) เป็นการวัดกิจกรรมการทำงานของสมองโดยการบันทึกคลื่นไฟฟ้าและแสดงออกมาในรูปแบบกราฟ ซึ่งการทำ EEG นี้มีประโยชน์มาก เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ให้ข้อมูลได้แบบละเอียดถี่ถ้วน ไม่เพียงแต่จะตรวจพบอาการชัก ( Seizure ) ยังสามารถตรวจอาการเพ้อคลั่ง ( Delirium ) แบบต่างๆ ได้ นอกจากนั้นแพทย์อาจจะทำการตรวจสแกนสมองแบบ MRI ร่วมด้วยเพื่อประกอบการวินิจฉัยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แนวทางการรักษาอาการเห็นภาพหลอน

แนวทางการรักษาอาการเห็นภาพหลอนขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยหาสาเหตุ ถ้าวินิจฉัยถูกต้องหรือใกล้เคียงก็จะสามารถทำการรักษาได้ตรงจุดมากขึ้น แต่ถ้าวินิจฉัยผิดไม่เพียงแต่อาการเห็นภาพหลอนจะไม่ทุเลาลงแล้ว อาจจะส่งผลให้อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ตัวยา Benzodiazepines ที่เป็นยาตัวเลือกอันดับหนึ่งซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมากในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อคลั่งจากการติดสุรา แต่กลับจะส่งผลเสียอย่างมากถ้านำมาใช้ในผู้ป่วยมีอาการเพ้อคลั่งจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่สุรา นอกจากนี้ยังมียากลุ่มอื่นๆ ที่แพทย์ใช้ในการรักษาอาการเห็นภาพหลอน เช่น ยาต้านชัก ( Anti-seizure ) หรือยาที่ต่อต้านการทำงานของสารโดปามีนที่หลั่งจากสมอง เป็นต้น การเลือกยาเพื่อรักษาขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ซึ่งมาจากการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นนั่นเอง
นอกเหนือจากการรักษาด้วยยาแล้วการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดการมองเห็นภาพหลอน เช่น การเลิกสุราอย่างถูกวิธี ไม่หักดิบ, การผ่าตัดหรือฉายรังสีเพื่อรักษาอาการเนื้องอกในสมอง การเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาอาการต้อกระจก หรือต้อหิน สำหรับการได้รับคำปรึกษาที่ดีในการใช้ชีวิตประจำวันจากจิตแพทย์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษาอีกทางหนึ่งเช่นกัน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

วรพรรณ เสนาณรงค์. รู้ทันสมองเสื่อม / รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์: กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (22), 225 หน้า: (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 207) 1.สมอง. 2.สมอง–การป้องกันโรค. 3.โรคสมองเสื่อม. 4.โรคอัลไซเมอร์. 616.83 ว4ร7 ISBN 978-616-18-1556-1.

Luk KC, Kehm V, Lee VM, et al. (2012). Pathological alpha-synuclein transmission 
initiates Parkinson-like neurodegeneration in nontransgenic mice. Science. 338 : 949-953.