กล้ามเนื้อหัวใจตาย เสี้ยวนาทีแห่งชีวิต
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หมายถึง โรคหัวใจที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบและแข็งตัว

กล้ามเนื้อหัวใจตาย

หัวใจ  เป็นอวัยวะสำคัญอันดับต้นๆ ที่คนเราต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะไม่ว่าร่างกายของคุณจะแข็งแรงขนาดไหนจะรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่เคยมีโรคประจำตัวเลยก็ตาม แต่หากคุณไม่ เคยดูแล หัวใจ เลย หัวใจ ก็ทนไม่ไหว และถ้ากล้ามเนื้อหัวใจตายอาจพรากชีวิตของคุณโดยไม่รู้ตัว แม้แต่ระดับนักกีฬามืออาชีพ ยังล้มลงขาดใจตายคาสนามมาหลายรายแล้วโรคร้ายที่เข้ามาพรากชีวิตคนที่เรารักอย่างคาดไม่ถึงชนิดนี้ เราเรียกมันว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมาทำความรู้จักกับเจ้ามฤตยูตัวร้ายกันดีกว่า

โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือ Acute Myocardial Infarction ( Acute MI ) หมายถึง โรคหัวใจที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่คอยส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจนั้นตีบและแข็งตัว ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลงหรือชะงักขาดช่วงไปเมื่อหัวใจต้องการออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น

เวลาที่เราออกแรงมากๆ โกรธใครสักคนอย่างรุนแรง หรือเครียดจากเรื่องต่างๆ จนทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว นั่นเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจบางอย่างอาจยังไม่ถึงขั้นทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายทันที อาการแบบนี้เรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ หรือ แองจินา

ถ้ามีกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน เลือดจะไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยเจ็บหน้าอกรุนแรงขึ้น อาจถึงขั้นช็อก หรือมีอาการหัวใจวายร่วมด้วย เราเรียกโรคนี้ว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย

โรคกล้ามเนื้อหัวใจวายนี้เกิดกับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะกับผู้มีอันจะกินทั้งหลาย กินดีอยู่ดี วันๆ ทำงานนั่งโต๊ะอย่างเดียว ไม่ค่อยได้ลุกเดินไปไหน หรือไม่ก็คอยชี้นิ้วสั่งคนอื่นให้ทำแทน โรคนี้จึงมักเกิดกับคนรวย หรือคนเมือง มากกว่าคนที่มีฐานะยากจน คนต่างจังหวัด ผู้ใช้แรงงาน หรือชาวบ้านที่มักทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ต้องได้รับการวินิจฉัย และให้การรักษาทันท่วงที เพราะทุกนาทีที่ผ่านไปหมายถึง โอกาสรอดของผู้ป่วย

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกล้าเนื้อหัวใจตาย

กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือเป็นการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจทำให้เลือดไปเลี้ยวหัวใจไม่พอนั้น เกิดจากผนังหลอดเลือดแข็ง มีไขมันเกาะ และความเสื่อมของร่างกายตามวัยนอกจากนี้ ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งเร็วขึ้น มักมีสาเหตุจาการมีไขมันในเลือดสูง ความอ้วน สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย กรรมพันธุ์ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน หากตรวจร่างกายแล้วพบโรคเหล่านี้ ต้องรีบรักษาทันที อย่าปล่อยไว้เป็นอันขาด

ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหลายคน เสียชีวิตระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล บางคนไปถึงโรงพยาบาลแล้ว แพทย์ก็ยังช่วยชีวิตเอาไว้ไม่ทัน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่คือผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาลช้า หรือไปถึงโรงพยาบาลแล้ว แต่โรงพยาบาลแห่งนั้นไม่มีแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจจึงต้องทำการส่งตัวคนไข้ไปรักษาอีกโรงพยาบาลหนึ่งแม้ทีมแพทย์และพยาบาลของโรคพยาบาลที่รอรับผู้ป่วยจะเตรียมพร้อมรับสถานการณ์เอาไว้แล้ว แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ เพราะระยะเวลาส่งตัวที่นานกว่า 1 ชั่วโมงอาจทำให้ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นไปแล้วก็เป็นได้

“อาการเตือนล่วงหน้าคือเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน”

รายที่เป็นแค่ โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ จะมีอาการจุกแน่นหน้าอก และร้าวไปถึงไหล่ซ้ายด้านในของแขนซ้ายอาจลุกลามไปที่คอ ขากรรไกร หลัง แขนขา หรือจุกแน่น ใต้ลิ้นปี่ อาการคล้ายอาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ
ในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย จะมีอาการเหมือนโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ แต่รุนแรงมากกว่า อ่อนเพลีย ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หอบเหนื่อย มีภาวะหัวใจวาย หรือช็อก เป็นลม หมดสติ จนถึงขั้นเสียชีวิตทันทีทันใด เมื่อรู้สึกตัวว่ามีอาการเหล่านี้ ต้องรีบบอกคนใกล้ชิดคนในครอบครัว หรือญาติพี่น้อง ให้รับรู้ในทันที เพื่อให้พาไปโรงพยาบาลเป็นการด่วน ห้ามไปโรงพยาบาลคนเดียว เพราะทุกนาทีหมายถึงความเป็นความตาย คุณอาจมีอาการกำเริบขึ้นมากลางทางได้

อย่ารอให้กล้ามเนื้อหัวใจตายจนสายเกินแก้

หากคุณเป็นผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน แล้วมักจะละเลยเรื่องสุขภาพ คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะยังแข็งแรงดีอยู่ ยังเดินเหินไปไหนมาไหนได้รับประทานอาหารได้ตามปกติ จึงไม่ต้องไปพบแพทย์ก็ได้แต่นั่นหมายถึงคุณกำลังละเลยเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตไป 

เพื่อหลีกเลี่ยง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันคุณจึงควรหันมาใส่ใจสุขภาพให้มากขึ้น เพราะโรคนี้สามารถป้องกันได้ อย่ารอให้สายจนเกินไป

1. งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ซึ่งอัตราการเกิดโรคหัวใจ พบในคนสูบบุหรี่มากกว่าคนที่ไม่สูบ 3-4 เท่า

2. พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง

3. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำให้หลอดเลือดขยายใหญ่ขึ้น และทำให้การติดต่อระหว่างหลอดเลือดดีขึ้น ป้องกันโรคหัวใจได้

4. อย่าให้ อ้วน ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเพราะอาหารประเภทไขมันประกอบด้วยโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ อันเป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบตัน

5. ผ่อนคลายความเครียด ด้วยวิธีต่างๆ อย่าวิตกกังวลหรือทำให้เกิดความเครียดบ่อยๆ ป้องกันโรคหัวใจได้เป็นอย่างดี

6. เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ควรวัดความดันโลหิตทุกปีเพราะโรคความดันโลหิต อาจเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดแดงตีบและตันได้

7. ตรวจเช็คระดับไขมันในเลือดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คนปกติไม่ควรมีระดับไขมันในเลือดเกิน 200 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 ซีซี ถ้าผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ ต้องควบคุมอาหาร หรืออาจต้องใช้ยา

8. ถ้าเป็นผู้ป่วยเบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่

9. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมระดับความดันเอาไว้ให้ดี โดยการควบคุมอาหาร และการใช้ยา

เปิด ทางด่วน รอรักษา

เป้าหมายการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพของ “โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” คือ การทำให้เลือดกลับมาไหลผ่านหลอดเลือดที่อุดตันอย่างเร็วที่สุดเพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดฟื้นคืนกลับมาทำงานให้ได้มากที่สุด

ฉะนั้นคนไข้จึงควรได้รับยาละลายลิ่มเลือด หรือได้รับการสวนหัวใจด้วย ลูกโป่งขยายหลอดเลือด (บอลลูน) โดยเร็วที่สุด

หลายโรงพยาบาลตั้งเกณฑ์มาตรฐานในเรื่องระยะเวลาของการรักษาไว้ว่า เมื่อผู้ป่วยไปถึงห้องฉุกเฉิน จนถึงการได้รับยาละลายลิ่มเลือด Door to Drug Time ต้องใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาที และหากต้องสวนหัวใจด้วยลูกโป่งขยายหลอดเลือด Door to Balloon Time ต้องใช้เวลาน้อยกว่า 90 นาที บางโรงพยาบาลจึงจัดระบบ ทางด่วน Fast Track เอาไว้เพื่อรองรับผู้ป่วย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โดยเฉพาะนอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ร่วมกับ โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลชุมชนในต่างจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง โดยมีกลุ่มเครือข่ายคอยให้คำปรึกษาผ่านระบบสารสนเทศ เป็นต้น

เลือกวิธีการรักษาให้ถูกคน

การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ และสภาพร่างกายของผู้ป่วยได้แก่

1. การให้ออกซิเจน

2. การให้ยาแก้ปวด

3. การใช้ยาขยายหลอดเลือด

4. การใช้ยาป้องกันเลือดแข็งตัว หรือยาละลายลิ่มเลือด

5. การรักษาอย่างอื่น ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป

โดยทั่วไป ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจโดยเฉพาะ ผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อน อย่างภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยควรจะได้รับการตรวจสัญญาณชีพจรบ่อยๆ และควรรับการบันทึกคลื่นไฟฟ้าใจตลอดเวลา

กรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ให้อมยาไนโตรกลีเซอรีน หรือไนเตรตไว้ใต้ลิ้น แล้วรีบไปโรงพยาบาล เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นระหว่างทาง

ป้องกันไว้อย่าให้อาการกำเริบ

เมื่อผ่านการตรวจวินิจฉัยโดยทีมแพทย์เฉพาะทางแล้วทางที่ดี เราสามารถป้องกันอาการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายไม่ให้กำเริบได้ ดังนี้

1. หากมีอาการผิดปกติ ควรไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ด้วยการตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์ ตรวจเลือดตรวจปัสสาวะ และรับคำแนะนำการรักษาจากแพทย์

2. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง และอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ทุกเวลา ควรพบแพทย์เป็นประจำ และควรพกยาไนโตรกลีเซอรีนติดตัวไว้ใช้ยามเกิดอาการ

3. ผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย เมื่อกลับจากโรงพยาบาลแล้ว ควรพักฟื้นที่บ้าน อย่าทำงานหนัก และงดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 4-5 สัปดาห์

4. รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

5. งดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด

6. ถ้าอ้วน ต้องลดน้ำหนัก งดอาหารที่มีไขมันสัตว์สูง ใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันจากสัตว์

7. ออกกำลังกายที่เบาๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น

8. หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอาการโรคหัวใจกำเริบ เช่น สิ่งที่ทำให้ตื่นเต้นตกใจ อารมณ์โกรธ หรือกระทบกระเทือนหักโหมเกินไป ระวังอย่าให้ท้องผูก อย่ากินอาหารให้อิ่มมากเกินไป งดชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่ใส่คาเฟอีน หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์ รับประทานไข่ครั้งละ 1 ฟอง วันเว้นวัน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

พวงทอง ไกรพิบูลย์. รู้ก่อน เข้าใจกว่า การตรวจรักษามะเร็ง. กรุงเทพฯ ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2557. 240 หน้า 1.มะเร็ง I.ชื่อเรื่อง. 616.994 ISBN 978-616-08-1647-7

Ishikawa T et al. (March 2006). “Differences between men and women in terms of clinical features of ST-segment elevation acute myocardial infarction”. Circulation Journal 70 (3): 222–226. PMID 16501283.

Erhardt L, Herlitz J, Bossaert L, et al. (2002). “Task force on the management of chest pain” (PDF). Eur. Heart J. 23 (15): 1153–76.