ส้มลม ต้นรสเปรี้ยวใช้แทนมะขาม เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านของชาวอุบลราชธานี

0
1924
ส้มลม ต้นรสเปรี้ยวใช้แทนมะขาม เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านของชาวอุบลราชธานี
ส้มลม หรือเครือส้มลม ต้นและใบอ่อนมีรสเปรี้ยวสามารถนำมาปรุงในอาหารได้ ดอกขนาดเล็กสีชมพู ผลเป็นฝักคู่
ส้มลม ต้นรสเปรี้ยวใช้แทนมะขาม เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านของชาวอุบลราชธานี
ส้มลม หรือเครือส้มลม ต้นและใบอ่อนมีรสเปรี้ยวสามารถนำมาปรุงในอาหารได้ ดอกขนาดเล็กสีชมพู ผลเป็นฝักคู่

ส้มลม

ส้มลม (Aganonerion polymorphum Spire) หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “เครือส้มลม” เป็นพืชที่พบในภูมิภาคอินโดจีนเท่านั้น มักจะพบทั่วไปตามป่า เป็นต้นที่มีรสเปรี้ยวจึงนิยมนำมารับประทานและเป็นต้นที่สามารถนำส่วนต่าง ๆ มาปรุงในอาหารได้หลายส่วน สามารถนำใบและยอดอ่อนมารับประทานในรูปแบบของผักสดจิ้มกับน้ำพริกได้ นอกจากนั้นทั้งต้นยังเป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของส้มลม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aganonerion polymorphum Spire
ชื่อท้องถิ่น : ส้มลม จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “เครือส้มลม”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)

ลักษณะของส้มลม

ส้มลม เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นที่ไม่มีมือสำหรับใช้ยึดเกาะ มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยพบเฉพาะทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลาง มักจะพบกระจายทั่วไปในป่าเต็งรัง ป่าละเมาะและป่าดิบแล้ง
ลำต้นหรือเถา : ลำต้นหรือเถามีลักษณะกลมเรียบ มีขนาดเล็กสีเขียวและมีน้ำยางสีขาว ตามกิ่งอ่อนมีขนละเอียด ส่วนกิ่งแก่มีช่องอากาศกระจายอยู่
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปวงรีหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลมซึ่งแหลมเป็นติ่งหรือกลม โคนใบมนกลม ป้านหรือเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบางเรียบและเป็นมันวาว มีสีเขียวเข้มและมักจะมีปื้นหรือจุดสีแดงกระจาย หลังใบและท้องใบเรียบ ท้องใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่มตามซอกเส้นแขนงใบด้านท้องใบ เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 3 – 6 เส้น ใบอ่อนมีรสเปรี้ยว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงหรือช่อเชิงหลั่น โดยจะออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ดอกย่อยเป็นสีชมพูอ่อน สีชมพูเข้มหรือสีบานเย็น มีลักษณะทรงกลมและปลายแหลมประมาณ 20 – 30 ดอก มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบมีลักษณะบิดเวียนขวาเล็กน้อย รูปร่างค่อนข้างกลม กลีบดอกส่วนมากเป็นสีชมพูอมแดง ปากหลอดมีสีอ่อนและมีขนสีขาวสั้นนุ่มประปราย โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ เป็นสีขาวอมชมพูหรือสีเขียวแกมขาว ตรงปลายแยกกัน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ เป็นสีแดงหรือสีเขียวเข้มปนแดง โคนเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแหลมเป็นรูปไข่ ขอบกลีบมีขนครุยสั้น ๆ มีอับเรณูคล้ายหัวลูกศร มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ 2 ห้อง แยกจากกันและมีขน ฐานรองดอกมี 5 พู ใบประดับมีขนาดเล็กเป็นรูปไข่แคบ
ผล : ออกผลเป็นฝักคู่ โคนฝักติดกัน ฝักมีลักษณะกลม ปลายฝักแหลม ผิวฝักเกลี้ยง ฝักสดเป็นสีเขียว เมื่อแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแตกออกตามยาวเป็นตะเข็บเดียว
เมล็ด : ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาล ลักษณะเรียวยาว มีปุยหรือขนสีขาวติดอยู่ซึ่งสามารถลอยไปตามลมได้

สรรพคุณของส้มลม

  • สรรพคุณจากลำต้น
    – แก้ลมวิงเวียน ด้วยการนำลำต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากใบ
    – แก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืดตาลายและช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ด้วยการนำใบสดมาเคี้ยวกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากราก
    – ช่วยขับลม แก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา
    – แก้โรคกระเพาะ ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา
    – รักษาอาการปัสสาวะขัด ด้วยการนำรากมาผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น
    – แก้อาการตกขาวของสตรี ด้วยการนำรากมาใช้เข้ายา
    – รักษาโรคม้ามโต ด้วยการนำรากมาผสมกับรากต้างไก่ใหญ่แล้วนำมาต้มเพื่อดื่มแก้อาการ
    – แก้อาการปวดเมื่อย ด้วยการนำรากมาผสมกับกำจาย ต้นกะเจียน ต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้นเล็บแมว ต้นมะดูก ต้นเปล้าใหญ่หรือเปล้าร้อน ต้นมะเดื่ออุทุมพรและตับเต่าโคก จากนั้นนำมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – แก้อาการคัน ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำแล้วอาบ

ประโยชน์ของส้มลม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นำใบ ดอกและผลมารับประทานได้ ใบและยอดอ่อนมารับประทานในรูปแบบของผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือใช้แทนใบมะขามหรือใช้ทำต้มส้มอย่างต้มอึ่งและต้มยำปลา
2. ใช้ในการเกษตร เป็นอาหารสัตว์ของพวกโคกระบือ

ส้มลม มีรสเปรี้ยวและนำมาใช้ในการปรุงอาหารได้ เป็นยาสมุนไพรที่อยู่ในตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ส้มลมเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ลมวิงเวียน แก้โรคกระเพาะ รักษาโรคม้ามโตและแก้อาการตกขาวของผู้หญิง เป็นต้นที่ช่วยรักษาอาการได้หลากหลายชนิดหนึ่ง

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ส้มลม (Som Lom)”. หน้า 284.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ส้มลม”. หน้า 173.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ส้มลม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [19 ต.ค. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ส้มลม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bedo.or.th. [19 ต.ค. 2014].
นายวันดี ยิ้มกระจ่าง : ยาพื้นบ้านอีสาน.