ชายผ้าสีดา เฟิร์นประดับยอดนิยมของคนเมือง มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้และแก้บวมได้
ชายผ้าสีดา หรือกระเช้าสีดา เป็นเฟิร์นที่เกาะอาศัยอยู่บนพรรณไม้ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

ชายผ้าสีดา

ชายผ้าสีดา (Holttum’s Staghorn – fern) เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งที่มีลักษณะโดดเด่นและมักจะพบได้ทั่วไป คนเมืองและชาวกรุงเทพมหานครนิยมนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับซึ่งมักจะปลูกเลี้ยงติดไว้บนต้นไม้ทำให้ดูสวยงามมาก จึงเป็นต้นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายจนกระทั่งมีโอกาสเสี่ยงสูญพันธุ์จากป่าธรรมชาติสูง นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้อย่างน่าทึ่ง ชายผ้าสีดาเป็นยาพื้นบ้านล้านนาและยังเป็นยารักษาของชาวเขาเผ่าแม้วอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของชายผ้าสีดา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Platycerium holttumii Joncheere & Hennipman
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Holttum’s Staghorn – fern”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคอีสานเรียกว่า “กระเช้าสีดา” จังหวัดน่านเรียกว่า “กระเช้าสีดา ข้าวห่อพญาอินทร์” จังหวัดเลยเรียกว่า “สไบสีดา” ชื่อทางการค้าในจังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “ชายผ้าสีดา หูช้าง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เฟิร์น (POLYPODIACEAE)

ลักษณะของชายผ้าสีดา

ชายผ้าสีดา เป็นเฟิร์นที่เกาะอาศัยอยู่บนพรรณไม้อื่นที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ลาว พม่าและเวียดนาม มักจะอาศัยอยู่ตามคาคบไม้ขนาดใหญ่จากพื้นดินในป่าดิบแล้ง
ลำต้น : ลำต้นเป็นแท่งเหง้าแบบแท่งดินสอซึ่งฝังตัวอยู่ในระบบรากและใบกาบห่อหุ้ม โผล่ออกมาแต่ตายอด บริเวณยอดเหง้าปกคลุมแน่นไปด้วยเกล็ดยาว ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายสอบแหลม ขอบเกล็ดหยักเป็นซี่ฟัน ทั้งลำต้นเป็นสีเขียวปนสีน้ำเงิน มีขนนวลขาวปกคลุมอยู่ทั่วไป
ยอดเหง้า : เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด หากถูกทำลายอาจทำให้ต้นตายได้
ใบ : ใบมีลักษณะแข็งหนาเป็นมันคล้ายหนัง ใบมีสองชนิด โดยใบกาบจะเจริญเป็นแผ่นหนา มีลักษณะชูตั้งขึ้น ปลายบนหยักลึกเป็นแฉกหลายชั้น ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก ปลายแฉกโค้งมนหรือแหลม ใบกาบช่วงบนเจริญแผ่กางขึ้นเป็นตะกร้า ขอบด้านบนแฉกหยักลึกเป็นแฉกหลายครั้ง ปลายมน ใบกาบช่วงล่างจะเจริญซ้อนทับใบกาบเก่าและโอบรัดสิ่งที่ยึดเกาะ ขอบใบเรียบหรืออาจหยักเว้าในบางต้น แผ่นใบเรียบ มีขนสั้นเป็นรูปดาวปกคลุมแน่น เส้นใบเป็นร่างแหสีเขียวเข้มเจือสีน้ำเงิน สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ขอบใบกาบรอบตายอดจะมีลักษณะเป็นจีบพับย่น ปิดคลุมยอดตาเหง้า ในระหว่างชั้นใบกาบจะมีระบบรากเจริญแทรกเข้ามาอยู่ในระหว่างนั้น
ใบแท้หรือใบชายผ้า : มีลักษณะห้อยโค้งลงมา โคนก้านสั้น โคนใบเป็นแผ่นกว้าง แตกเป็นแฉก 2 ส่วน แฉกแรกจะอยู่ใกล้กับโคนใบ มีขนาดเล็กกว่าอีกชิ้นและอยู่ในระดับสูงกว่า ส่วนอีกชิ้นจะอยู่ในระดับต่ำลงมา แต่ละส่วนจะแผ่กว้างออก ตรงกลางเว้า ขอบเรียบหรือเป็นแฉกในบางครั้ง ใต้ส่วนเว้าเป็นส่วนที่สร้างสปอร์ ริมขอบเว้าแตกเป็นแฉกผอมเรียวประมาณ 3 – 4 ชั้น ปล่อยห้อยชายใบลงมา แผ่นใบหนาเกลี้ยง มีขนสั้นปกคลุมแน่นปกติ ใบชายผ้าจะเริ่มผลิออกมาทีละข้างจนกระทั่งโตเต็มที่ มักจะติดต้นประมาณ 1 ปีและจะแก่หลุดไป
อับสปอร์ : มีแถบสร้างสปอร์อยู่บริเวณเดียวตรงรอยเว้าที่โคน โดยใบชายผ้าแต่ละใบจะมีแผ่นสปอร์เกิดขึ้น 2 ตำแหน่ง คือ ที่ใต้ส่วนแฉกชิ้นบนและส่วนแฉกชิ้นล่าง เกิดบริเวณรอยเว้าของแต่ละชิ้น เมื่อสปอร์แก่จะทยอยปลิวออกไปเรื่อย ๆ ปกติสปอร์ซึ่งเกิดที่ใต้ใบชายผ้าที่งอกออกช่วงฤดูนั้นจะแก่และพร้อมปลิวออกไปขยายพันธุ์ในต้นฤดูฝนของปีถัดไป

สรรพคุณของชายผ้าสีดา

  • สรรพคุณจากใบ
    – เป็นยาแก้ไข้สูง ตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำใบมาผสมกับใบแห้งกล้วยตีบและใบเปล้าใหญ่ จากนั้นนำมาต้มกับน้ำแล้วอาบ
    – เป็นยาแก้บวม ตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำใบมาผสมกับรากส้มชื่นและใบกล้วยง้วน จากนั้นนำมาต้มกับน้ำแล้วอาบ
  • สรรพคุณจากใบในส่วนของชายผ้า
    – รักษาอาการไม่สบายและอ่อนเพลียของสตรีขณะอยู่ไฟหลังคลอด ชาวเขาเผ่าแม้วนำใบเฉพาะส่วนของชายผ้ามาต้มกับน้ำแล้วดื่ม

ประโยชน์ของชายผ้าสีดา

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชายผ้านำมาลวกให้สุกแล้วจิ้มทานร่วมกับน้ำพริกได้
2. ใช้ในยาสมุนไพร ใบชายผ้าสีดานำมาใช้เป็นยาแทนใบห่อข้าวสีดาได้
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายเนื่องจากปลูกเลี้ยงและดูแลง่าย เลี้ยงติดไว้บนต้นไม้ทำให้ดูเหมือนป่าธรรมชาติ

ชายผ้าสีดา มักจะโด่งดังในเรื่องของการนำมาปลูกประดับไว้บนต้นไม้เพื่อให้สวนดูสวยงามเหมือนอยู่ในป่าธรรมชาติ แต่ทว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงเพราะมีการนำมาขายเป็นจำนวนมาก ถือเป็นพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะโดดเด่น มักจะนำชายผ้ามาลวกแล้วทานเป็นผักได้ ชายผ้าสีดาเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนโดยเฉพาะส่วนของใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาแก้ไข้ แก้บวม รักษาอาการอ่อนเพลียของสตรีขณะอยู่ไฟหลังคลอดได้ ถือเป็นไม้ที่คู่ควรแก่การอนุรักษ์ชนิดหนึ่ง

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ชายผ้าสีดา”. หน้า 169.
เฟิร์นสยาม. “Platycerium holttumii”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.fernsiam.com. [27 ส.ค. 2014].