โรคภูมิแพ้ ( Allergy ) เกิดจากอะไร

0
15155
โรคภูมิแพ้ ( Allergy )
โรคภูมิแพ้ คือ อาการที่เกิดจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันมักจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่นาทีหลังจากที่ร่างกายได้รับหรือสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ ( Allergy )
โรคภูมิแพ้ คือ อาการที่เกิดจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันมักจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่นาทีหลังจากที่ร่างกายได้รับหรือสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้เกิดจากอะไร

โรคภูมิแพ้เกิดจากสิ่งแวดล้อม สารก่อภูมิแพ้มักเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนเราเป็นภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสูดดม การรับประทาน หรือการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น การทำงานบ้านที่ต้องเจอกับฝุ่น การออกไปนอกบ้านที่ต้องเจอกับควันและมลพิษ การแพ้ขนแมวหรือขนสุนัข ล้วนแต่เป็นสาเหตุของการเกิดภูมิแพ้ได้ทั้งสิ้น ซึ่งสารก่อภูมิแพ้บางอย่างก็สังเกตได้ง่าย เช่น อาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเลที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่มีคนแพ้มากที่สุด คนที่แพ้อาจมีผื่นลมพิษขึ้นทันทีภายในครึ่งชั่วโมงเท่านั้น นอกจากสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นตัวกระตุ้นแล้ว ยังอาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยที่ทำให้อาการภูมิกำเริบหรือเป็นรุนแรงขึ้นได้ เช่น อากาศที่หนาวเย็นจนเกินไป อากาศที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน และความเครียด

โรคภูมิแพ้เกิดจากกรรมพันธุ์ หากในครอบครัวมีคนเป็นภูมิแพ้ 2 ใน 4 คน นั่นหมายความว่า อัตราเสี่ยงของรุ่นต่อไปก็จะมีเพิ่มขึ้น ยิ่งหากพ่อหรือแม่เป็น ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นไปด้วย โดยพบว่า หากพ่อหรือแม่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ด้วยเช่นกัน

กลไกของการเกิดโรคภูมิแพ้

กลไกการเกิดโรคภูมิแพ้เริ่มต้นจาก การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เมื่อสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย  เช่น การสูดดม การสัมผัสกับผิวหนัง หรือการรับประทาน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นด้วยการหลั่งสารก่อการอักเสบต่างๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันผลิตแอนติบอดี ( Antibody ) ที่เรียกว่า อิมมูโนโกลบูลิน อี ( IgE ) ขึ้นมาต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ เมื่อภายในร่างกายมีแอนติบอดีแล้ว ก็จะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นเพิ่มมากขึ้นและไวขึ้น ครั้งต่อไปที่ร่างกายได้รับหรือมีการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวอีกครั้ง ระบบภูมิคุ้มกันและแอนติบอดีก็จะตอบสนองทั้นที และกระตุ้นเซลล์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าแมสต์เซลล์ ( Mast cell ) ให้หลั่งสารชื่อว่าฮีสตามีน ( Histamine ) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของโรคภูมิแพ้ออกมา ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น ผิวหนัง จมูก คอ ปอด จนมีอาการไอหรือจามหนักๆ

สารที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้

จากการสำรวจผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในไทย พบว่าส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากแพ้ไรฝุ่นหรือฝุ่นในบ้านเป็นอันดับแรก รองลงมาคือแมลงสาบ ละอองเกสรพืช และขนสัตว์

ไรฝุ่น
ควรจัดห้องนอนให้โล่ง ไม่วางพรม ตุ๊กตา และผ้าม่านไว้ในห้องนอน หรือนำไปซักทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนสม่ำเสมอ เพราะเป็นแหล่งสะสมของไรฝุ่นได้ หมั่นซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มเป็นประจำ โดยใช้น้ำที่มีอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ซักเป็นเวลา 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
คลุมที่นอน ปลอกหมอน และหมอนข้าง ด้วยผ้าใยสังเคราะห์พิเศษที่สามารถป้องกันไม่ให้ตัวไรฝุ่นลอดผ่านได้
แมลงสาบ
กำจัดแหล่งอาหารของแมลงสาบ โดยเอาขยะทิ้งลงในถุงขยะหรือถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด ใช้ยาฆ่าแมลง
สัตว์เลี้ยง
ควรเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่มีขน
ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรเลี้ยงนอกบ้าน และอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงทุกสัปดาห์
ใช้เครื่องดูดฝุ่นและเครื่องกรองอากาศ
เกสรหญ้า
ควรตัดหญ้าและวัชพืชบริเวณรอบบ้านบ่อยๆ เพื่อลดจำนวนเกสร

อาการของโรคภูมิแพ้ คือ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก เยื่อบุตาขาวแดง คันตา น้ำตาไหล หอบ ไอ มีผื่นคันสีแดง

อาการโดยรวมของโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
โดยแบ่งตามอวัยวะที่เป็น ได้แก่ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง โรคภูมิแพ้ประเภทแพ้อาหาร และโรคภูมิแพ้ที่มีอาการผสมกันในหลายระบบของร่างกาย ซึ่งรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้   

1. ภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจหรือโรคแพ้อากาศ
ภูมิแพ้ชนิดนี้มีความเกี่ยวข้องกับจมูก เพราะจมูกเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบทางเดินหายใจ ที่ช่วยกรองฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอม และช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกายก่อนที่สิ่งต่างๆ จะผ่านลงไปสู่หลอดลม ซึ่งภายในจมูกจะมีโพรงจมูกและเยื่อบุโพรงจมูก ซึ่งเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เป็นระยะเวลายาวนานจะเกิดการอักเสบ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดนี้จึงมีการตอบสนองต่อกลิ่นหรืออากาศที่หายใจเข้าไปค่อนข้างสูงและไวกว่าคนปกติ โดยเฉพาะเกสรดอกไม้ ฝุ่น ไรฝุ่น ควันต่างๆ และขนสัตว์

2. ภูมิแพ้ในระบบผิวหนัง ลมพิษ ผิวหนังอักเสบ
ผื่นผิวหนังอักเสบเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีแนวโน้มถ่ายทอดทางพันธุกรรมมากที่สุด ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีผิวหนังที่ไวต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งสภาพอากาศร้อน เย็น แห้ง ชื้น รวมไปถึงเชื้อโรคและสารเคมีที่ระคายผิวหนัง มักมีอาการมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว เพราะความชื้นในอากาศต่ำ หรือแม้แต่ความเครียด วิตกกังวลมากเกินไปก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการกำเริบได้ นอกจากนี้ผู้ที่ครอบครัวไม่เคยมีประวัติการเป็นภูมิแพ้ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน เพราะอาจมีความผิดปกติซ่อนเร้นอยู่ในยีนส์ แต่ไม่แสดงอาการออกมา

3. ภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร
อาการแพ้ชนิดนี้เกิดจากปฏิกิริยาที่ไวต่ออาหารที่รับประทานเข้าไป ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ อาการแพ้อาหารที่พบได้บ่อยมักเป็นปฏิกิริยาการแพ้ชนิดที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน และยังมีปฏิกิริยาแพ้อีกประเภทหนึ่ง คือ ปฏิกิริยาของการแพ้ชนิดแฝงที่เกิดจากการแพ้โปรตีนบางชนิด ซึ่งมักจะไม่ก่อให้เกิดอาการ แต่ปัญหาจะเกิดเมื่อต้องรับประทานอาหารที่มีโปรตีนชนิดนั้นอยู่เรื่อยๆ เช่น อาหารกลุ่มนม ไข่ ถั่ว จนเกินขีดที่ภูมิคุ้มกันจะรับไหว ก็จะเกิดอาการขึ้นมาทันทีแบบไม่ทันตั้งตัวและอาจรุนแรงกว่า ภูมิแพ้ชนิดแฝงนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น หวัดเรื้อรัง หูน้ำหนวกเรื้อรัง ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ข้ออักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ หรือบางกรณีก็พบร่วมกับความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง หรือภาวะสมาธิสั้น ซึ่งโดยรวมแล้วเกิดจากภาวะความไม่สมดุลที่มีอยู่ในร่างกายนั่นเอง

4. ภูมิแพ้ที่เกิดจากหลายอย่างรวมกัน
เป็นโรคภูมิแพ้ที่มีอาการหลายชนิดหรือกระทบต่อหลายระบบในร่างกายตั้งแต่ 2 ระบบขึ้นไป บางคนอาจเป็นโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจร่วมกับโรคภูมิแพ้อาหาร เช่น มีอาการแพ้อากาศ คัดจมูก จามบ่อย มีน้ำมูก แต่ก็มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันมีแนวโน้มของผู้ที่เป็นภูมิแพ้ในหลายระบบเพิ่มมากขึ้น เพราะสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตของคนเมืองที่แย่ลงเรื่อยๆ ทำให้ตอนนี้คนหนึ่งคนสามารถเป็นภูมิแพ้ได้แทบจะทุกระบบแล้ว

https://www.youtube.com/watch?v=8fUNgSLa99M

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้

สิ่งสำคัญของคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ คือ ต้องดูแลตัวเองให้ดี เลี่ยงสิ่งที่แพ้ และใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ

ยารักษาโรคภูมิแพ้

  • ยาบรรเทาอาการคัดจมูก ใช้เบาเทาอาการในระยะเวลาสั้น
  • ยาต้านฮีสตามีน ช่วยลดและป้องกันอาการของโรคภูมิแพ้ได้
  • ยาสเตียรอยด์ สามารถลดอาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากการหลั่งสารฮีสตามีนได้
  • การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ซึ่งเป็นการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย

วิธีป้องกันโรคภูมิแพ้

  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ควรเปิดหน้าต่างให้อากาศในห้องถ่ายเท ทำความสะอาดพื้นห้องเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการกองทับของนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ และใช้เครื่องกำจัดไรฝุ่นและฝุ่นละอองภายในบ้าน
  • นอนหลับให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกาย
  • ดื่มน้ำให้มากเพื่อช่วยละลายเสมหะได้
  • ควรสวมแว่นตาเมื่อออกนอกบ้าน

บทความที่เกี่ยงข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ขอขอบคุณคลิปความรู้จาก : หมอปุ้ม พญ. สิรนาถ สุขภาพดี คุณมีได้

allergy and allergic diseases: with a view to the future 2010.