ลิ้นกวาง ดอกสีแดงสวยงาม ผลสีน้ำตาลใช้ย้อมสี มีสรรพคุณแก้บิด แก้ไข้ป่า แก้ไตพิการ
ลิ้นกวาง เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ยอดอ่อนเป็นสีแดงหรือสีเขียวอมขาวอ่อน กลีบดอกเป็นสีขาวอมแดงถึงสีแดงคล้ำ

ลิ้นกวาง

ลิ้นกวาง (Ancistrocladus tectorius) เป็นต้นที่มีชื่อเรียกอื่น ๆ ตามแต่ละจังหวัดมากมายจนน่าสับสน ดอกของต้นมีสีแดงเข้มและเป็นกลีบลักษณะคล้ายกับลิ้นกวาง ทำให้ดูโดดเด่นและแยกต้นลิ้นกวางได้ง่ายขึ้น มักจะนำใบอ่อนซึ่งมีรสฝาดมันมาทานเป็นผักสด ลิ้นกวางนั้นมักจะพบในป่าดิบที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่ สามารถนำต้นมาปรุงเป็นยาสมุนไพรเพื่อแก้อาการและรักษาได้ ในช่วงหลังต้นลิ้นกวางค่อนข้างโด่งดังและเป็นที่นิยมในการนำผลที่ให้สีน้ำตาลมาย้อมผ้า ย้อมอวนและแห เป็นต้นที่มีประโยชน์หลากหลายและยังให้ความสวยงามอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของลิ้นกวาง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ancistrocladus tectorius (Lour.) Merr.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ค้อนหมาขาว” จังหวัดลำปางเรียกว่า “ลิ้นควาย” จังหวัดนครพนมเรียกว่า “หางกวาง” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ค้อนหมาแดง” จังหวัดปราจีนบุรีและตราดเรียกว่า “หูกลวง” จังหวัดสุพรรณบุรีเรียกว่า “โคนมะเด็น” จังหวัดชลบุรีเรียกว่า “คันทรง ทองคันทรง” จังหวัดยะลาเรียกว่า “ค้อนตีหมา” จังหวัดนราธิวาสเรียกว่า “พันทรง” ภาคใต้มลายูเรียกว่า “ยูลง ลิดาซาปี” เขมรสระบุรีเรียกว่า “กระม้า” เขมรสุรินทร์เรียกว่า “ขุนม้า ขุนมา” กะเหรี่ยงลำปางเรียกว่า “ซินตะโกพลี” เขมรเรียกว่า “กะม้า ขุนนา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ลิ้นกวาง (ANCISTROCLADACEAE)

ลักษณะของลิ้นกวาง

ลิ้นกวาง เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ที่มักจะพบตามป่าดงดิบ ป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น
ลำต้น : ลำต้นขึ้นใหม่เป็นพุ่ม มักจะเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้อื่น กิ่งก้านเล็ก ๆ จะมีตะเป็นมือ มีลักษณะเป็นข้อแข็ง ๆ สำหรับเป็นที่ยึดเกาะพันไม้อื่น
เถา : เถาแก่เป็นสีน้ำตาล เถาจะแตกเป็นรอยตื้นตามยาว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงเวียนสลับกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ลักษณะใบเป็นรูปหอกกลับ รูปวงรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแหลมและค่อย ๆ สอบเข้าหาก้านใบ ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบแข็งกระด้าง มีเส้นใบเชื่อมกันก่อนถึงขอบใบ ยอดอ่อนเป็นสีแดงหรือสีเขียวอมขาวอ่อน ๆ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะที่ปลายยอด แต่ละดอกจะมีขนาดเล็ก ฐานดอกเป็นสีเขียว กลีบดอกเป็นสีขาวอมแดงถึงสีแดงคล้ำ โคนดอกเป็นท่อสั้น ๆ แยกออกเป็น 5 กลีบ มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม
ผล : ผลมีปีก 5 ปีก ซึ่งมีความยาวไม่เท่ากัน มีปีกเล็ก 2 ปีก และปีกใหญ่ 3 ปีก เมื่อแก่จะแห้งเป็นสีน้ำตาล ออกผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน

สรรพคุณของลิ้นกวาง

  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – แก้โรคกระษัยหรือโรคของความเสื่อมโทรมทางร่างกายโดยไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แก้ไตพิการและไข้ป่า ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มเพื่อดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากราก
    – รักษาโรคไข้จับสั่น รักษาโรคบิด ด้วยการนำรากมาต้มแล้วดื่ม
    – แก้ปวดเมื่อย ด้วยการนำรากมาผสมกับรากช้างน้าว จากนั้นนำมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากใบอ่อน
    – รักษาอาการบวมตามตัวและเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง ด้วยการนำใบอ่อนมาต้มแล้วอาบแก้อาการ
  • สรรพคุณจากเถาและใบ
    – ขับพยาธิ ด้วยการนำเถาและใบมาต้มเพื่อเคี่ยวให้น้ำข้น ทำการรับประทานก่อนอาหารครั้งละครึ่งแก้ว

ประโยชน์ของลิ้นกวาง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนหรือยอดอ่อนซึ่งมีรสฝาดมันนำมาทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกได้
2. ใช้ในอุตสาหกรรม ทำเครื่องจักสานและเครื่องใช้สอย ผลที่ให้สีน้ำตาลนำมาย้อมผ้า ย้อมอวนและแหได้

ลิ้นกวาง เป็นต้นที่มีดอกสีแดงเป็นกลีบคล้ายกับลิ้นกวางจึงเป็นที่มาของชื่อ เป็นไม้เลื้อยที่มีผลสีน้ำตาลซึ่งเป็นส่วนที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมสีได้ ในส่วนของการนำมาทานเป็นผักจะนำใบอ่อนและยอดอ่อนของต้นมาจิ้มกับน้ำพริก ลิ้นกวางมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้บิด แก้ไตพิการ แก้ปวดเมื่อย แก้ไข้จับสั่นและไข้ป่า เป็นต้นที่ดอกสวยและยังมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมรวมถึงเป็นยาได้อีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ค้อนหมาแดง, ค้อนตีหมา”. หน้า 180.
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ลิ้นกวาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [21 ม.ค. 2015].
การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี). “ค้อนตีหมา / ลิ้นกวาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : inven.dnp9.com/inven/. [21 ม.ค. 2015].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Ancistrocladus tectorius (Lour.) Merr.”. อ้างอิงใน : หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน หน้า 27. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [21 ม.ค. 2015].